กก.สิทธิฯ ชง จม.เปิดผนึก สมช.-ศอ.บต. เหตุไฟใต้ยังโหมหนัก ทำ ปชช.สูญเสียทั้งกายใจ ทรัพย์สิน กระทบวิถีชีวิต แจงมีข้อร้องเรียนมาก ขอทุกฝ่ายหยุดรุนแรง ปลุก ปชช.-จนท.รัฐช่วยป้องกัน และประณามการละเมิดสิทธิ
วันนี้ (15 มี.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีจดหมายเปิดผนึกถึงสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เรื่องผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระบุว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวโดยทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ในสถานการณ์การก่อความรุนแรงและความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส และอ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี และ อ.สะบ้าย้อย ของ จ.สงขลา จนทำให้มีการสูญเสียในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ของประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างมหาศาล
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นว่า นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การก่อความรุนแรงและความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมา มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ตลอดจนทรัพย์สินได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก จากสถานการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้ก่อความรุนแรงและความไม่สงบได้กระทำไม่เฉพาะต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น แต่ยังได้กระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ด้วย ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้รับความสูญเสียทั้งชีวิตและร่างกาย และสูญเสียทรัพย์สิน อีกทั้งครอบครัวของผู้บริสุทธิ์ยังได้รับความเดือดร้อนและทรมาน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เกิดความหวาดระแวงและความเครียด ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา กสม.ได้รับคำร้องจำนวนมากจากประชาชนที่ต้องการเห็นความสงบเกิดขึ้นในพื้นที่ และได้เรียกร้องขอให้ทุกฝ่ายหยุดการกระทำที่รุนแรง อันเป็นการกระทบต่อความปลอดภัย การประกอบอาชีพ และความสงบสุขในพื้นที่ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์
ดังนั้น กสม.จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการใช้ความรุนแรงที่มีผลกระทบต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ดังกล่าวข้างต้น พร้อมกันนี้ กสม.ขอความร่วมมือประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โปรดช่วยสอดส่อง ดูแล และป้องกันมิให้เกิดสถานการณ์รุนแรง ตลอดจนร่วมกันประณามการกระทำที่รุนแรงในทุกรูปแบบ เพราะการกระทำดังกล่าวถือว่าไม่มีความชอบธรรม เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ละเมิดต่อสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอีกด้วย