ผ่าประเด็นร้อน
ก่อนจะว่ากันในเรื่องประเด็นร้อน ก็ต้องตั้งข้อสังเกตฝากไปถึง “จอมร้องเรียน” ทั้งหลายว่ากรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักโทษหลบหนีคดี มีสถานะไม่ต่างกับ “โจรห้าร้อย” แต่วันดีขึ้นกลับติดต่อสื่อสารกับ ส.ส.กับผู้บริหารพรรคการเมือง รวมไปถึงคนที่เป็นรัฐมนตรีซึ่งถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐได้หน้าตาเฉย มิหนำซ้ำตัวเขาเองก็ยังพูดว่าเป็นคนผลักดันคนนั้นคนนี้ได้รับตำแหน่งสำคัญ ไม่เว้นแม้แต่ตำรวจใหญ่ ทีอย่างนี้ทำไมไม่มีใครร้องเรียนให้ยุบพรรค ยุบรัฐบาลมั่ง เพราะการติดต่อกับโจรหรือการสมรู้ร่วมคิดกับโจรมันน่าจะมีความผิดไม่ใช่หรือ และเป็นเพราะมีเรื่องแบบนี้หรือเปล่าที่มีคนอยู่ “เหนือกฎหมาย” ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายไม่จบสิ้นเสียที
อย่างไรก็ดี เพื่อความต่อเนื่องก็ต้องมาพิจารณากันถึงเรื่องที่ ทักษิณ ชินวัตร ได้สไกป์เข้ามาในที่ประชุมพรรคเพื่อไทย ซึ่งแน่นอนว่าในนั้นก็ต้องมีพวกที่เป็นรัฐมนตรีรวมอยู่ด้วย เนื้อหาสาระสำคัญก็จะเป็นเรื่องการตำหนิ กระตุ้นให้บรรดา ส.ส.และรัฐมนตรีต่างเร่งทำหน้าที่เพื่อสร้างคะแนนนิยม รวมไปถึงการผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้ว่าจะจับใจความว่าเขาได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขลงมาอีกเป็นในแบบรายมาตราเพื่อความรวดเร็ว หรือการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่ต้องพ่วงตัวเองเข้าไปด้วย
ทั้งคำพูดและเนื้อหาสาระที่ออกมาไม่ต่างจากบทบาทนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งแน่นอนว่าหากใครไม่โง่ก็คงจะเห็นแบบนั้นมาตั้งนานแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกรับรู้กันอยู่แล้ว
แต่ที่น่าสนใจก็คือ คำพูดที่ตัดพ้อตำหนิกับลูกน้องบางคนที่บอกว่า “ตัวเองถูกโดดเดี่ยว เหมือนลอยคออยู่กลางมหาสมุทร” ไม่ได้รับความจริงใจจาก “บางคน” ในพรรค นั่นคือเอาเข้าจริงไม่อยากให้กลับมา เพราะเกรงว่าเมื่อกลับมาแล้วตัวเองจะไม่มีความสำคัญ ทำนอง “หวังดีประสงค์ร้าย” ประเภทปากอย่างใจอีกอย่าง
ขณะเดียวกัน ท่าทีล่าสุดของ ทักษิณ ชินวัตร ที่สะท้อนตัวตนออกมาให้เห็นอีกครั้งว่าในที่สุดแล้วเขาก็ทำทุกอย่าง เพื่อประโยชน์ตัวเอง เพียงแต่อ้างชาวบ้านมาตบตาบังหน้า เหมือนอย่างกรณีที่พยายามส่งสัญญาณผลักดันให้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเข้ามาอีกครั้ง ซึ่งเป้าหมายแท้จริงก็คือต้องการให้เขาพ้นผิดทั้งโทษอาญา และโทษทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเลวร้ายยิ่งกว่า “พวกอำมาตย์” ที่ตัวเองเคยกล่าวหาก่อนหน้านี้หลายพันเท่า
เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาสาระจากร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่เสนอโดยใครก็ตาม หรือแม้แต่ในชื่อปรองดองที่ยังคาอยู่ในสภาเพื่อรอจังหวะนำขึ้นมาใช้เสียงข้างมากลงมติจำนวน 4 ฉบับก็ล้วนแล้วมีความซ่อนเร้นมีเจตนาให้การลบล้างความผิดครอบคลุมมาถึงตัวเขาและบรรดาแกนนำคนเสื้อแดงอย่างชัดเจน จนทำให้เกิดเสียงต่อต้านจากสังคมที่ต้องการเห็นความถูกต้องเกิดขึ้นบ้างในบ้านเมืองนี้ ทำให้ต้องชะลอออกไปก่อน
คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะพยายามเปลี่ยนหน้าเป็นตัว “โต้โผ” รายใหม่กันอีกรอบ แต่นาทีนี้ชาวบ้านจำนวนมากเขารู้ทัน และต้องรับรู้ด้วยว่าไม่ใช่มีแต่คนเสื้อแดงที่หลับหูหลับตาเชื่อไปหมดทุกเรื่อง มันจึงเกิดเสียงโวยวายขึ้นมาอีก วง “ปาหี่” ของ รองประธานสภาผู้แทนฯ เจริญ จรรย์โกมล ก็ไปไม่รอด ขณะเดียวกันเมื่อหันมาทางรัฐบาลก็มองเห็นแล้วว่ายังไม่กล้าผลีผลามในตอนนี้ เพราะมีเรื่องเร่งด่วนกว่า และกินรวบง่ายกว่านั่นคือ ร่างพระราชบัญญัติเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทที่คาดว่าหลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติในวันที่ 19 มีนาคม ก็จะเข้าสู่สภาผ่านต่อทันที
เมื่อวกกลับมาที่คำพูดของ ทักษิณ ที่แม้ว่าหลายคนจะบอกว่านั่นเป็นการตัดพ้อตำหนิกลางที่ประชุมพรรคเพื่อไทยก็ตาม แต่อีกด้านหนึ่งมันก็เหมือนกับการเปิดโปงคนกันเองที่เคยไว้ใจให้ทำงานใหญ่ ซึ่งพูดไปทำไมมีก็เรื่องเดิมๆแบบเห็นแก่ตัวเอาเปรียบคนอื่นในเรื่องให้ผลักดันให้ลบล้างความผิดในรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็นการเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษฯรวมไปถึงร่างปรองดอง หรือแม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ อะไรก็ได้ที่ทำให้พ้นผิดและกลับมามีอำนาจผูกขาดทางการเมืองได้เต็มตัวอีกครั้งหรือที่เคยกล่าวว่า “จะกลับมาอย่างเท่” นั่นแหละ
ที่ผ่านมาหากพิจารณาย้อนกลับไปจะเห็นคนที่รับอาสา ทักษิณ ชินวัตร เพื่อแลกกับตำแหน่งแห่งที่และผลประโยชน์หลายอย่างตามมาจะมีสักกี่คน คนแรกที่ย้ำอยู่ตลอดเวลาเหมือนกันก็คือ ขวัญชัย สาราคำ (ไพรพนา) ความหมายก็ไม่น่าจะใช่ เพราะ “กระจอก” เกินไป อย่างมากก็เที่ยวปั่นราคาคุยโม้อยู่ตามบ้านนอกเท่านั้น ส่วนอีกคนนี่สิน่าสนใจกว่า คนนั้นก็คือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่พักหลังหากสังเกตอย่างละเอียดดูเหมือนว่า “หงอยๆ”ชอบกล และเมื่อมองภาพในอดีตที่เคยประกาศว่า “จะพาทักษิณกลับบ้าน” มันยังก้องอยู่ในหู ขณะเดียวกันความหมายที่มีการวิเคราะห์กันก็คือคนอย่าง “เหลิม” นี่แหละที่น่าจะเป็นอีกคนที่ไม่อยากให้ ทักษิณ กลับมา เพราะถ้ากลับมาวันไหนเขาก็หมดความหมายทันที
เพราะต้องเข้าใจว่าการที่คนอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สามารถเข้ามามีบทบาทในพรรคเพื่อไทยได้ มีสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งก็คือพวก “แถวหนึ่งแถวสอง” ถูกสั่งเว้นวรรคทางการเมือง ประกอบกับมีลูกโม้รับปากขึงขังจึงได้รับโอกาส แต่ถามว่าเมื่อทำไมไม่ได้อย่างที่โม้ทำให้ระยะหลังบทบาทจึงลดลงเรื่อยๆ อีกทั้งพวกบ้านเลขที่ 111 กลับมาแล้วจึงมีคู่แข่งที่น่าหวาดเสียวทุกวัน
ดังนั้น ถ้าให้วิเคราะห์ความหมายคำพูดของ ทักษิณ ชินวัตร ที่สไกป์เข้ามาในที่ประชุมพรรคเพื่อไทยระบายอารมณ์และด่ากราดบรรดาลูกน้องขี้ข้าทั้งหลาย ถ้าเน้นเฉพาะเรื่องที่บอกว่า “มีบางคนไม่อยากให้กลับเพราะกลัวว่าตัวเองไม่สำคัญ” แม้ไม่ได้บอกกันตรงๆ แต่รับรองว่าจำนวนนั้นต้องมีคนอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นั่งสะดุ้งโหยงอย่างแน่นอน!!