ASTVผู้จัดการ - เผยผลสำรวจ “3 จังหวัดชายแดนในสายตาคนไทย” นิด้าโพลระบุคนส่วนใหญ่เห็นว่าสถานการณ์อยู่ในระดับรุนแรงมากที่สุด ไม่กล้าลงไปเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย ชี้ “ยิ่งลักษณ์-ประยุทธ์” เหมาะสมที่สุดในการรับผิดชอบแก้ไขปัญหา
วันนี้ (6 มี.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “3 จังหวัดชายแดนในสายตาคนไทย” โดยเป็นการทำการสำรวจระหว่างวันที่ 21-28 กุมภาพันธ์ 2556 จากประชาชนทั่วประเทศ ยกเว้นประชาชนที่อาศัยอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี และยะลา) ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 1,253 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกภูมิภาค อาชีพ และระดับการศึกษา เกี่ยวกับความคิดเห็นที่มีต่อสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
จากการสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 45.41 ระบุว่าระดับความรุนแรงของปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้ มีความรุนแรงอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมาร้อยละ 35.99 มีความรุนแรงอยู่ในระดับมาก ร้อยละ 14.53 มีความรุนแรงอยู่ในระดับปานกลาง และร้อยละ 1.12 มีความรุนแรงอยู่ในระดับน้อย
เมื่อถามว่าหากประชาชนมีโอกาสไปเยือนที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะไปหรือไม่นั้น พบว่า ประชาชนร้อยละ 61.05 ระบุว่าไม่ไป เพราะมีความกังวลในเรื่องของความไม่ปลอดภัยและสถานการณ์ยังคงมีความรุนแรงอยู่ และร้อยละ 31.60 ระบุว่าไป เพราะยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามและน่าสนใจ มีญาติพี่น้อง และจะต้องไปทำงานหรือธุระที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
นอกจากนี้ ประชาชนร้อยละ 32.80 ระบุว่า นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ที่มีความเหมาะสมมากที่สุดในการดูแลรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รองลงมาร้อยละ 11.09 เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ร้อยละ 8.30 เป็นรองนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ร้อยละ 3.75 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.สุกําพล สุวรรณทัต แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนร้อยละ 20.43 เห็นว่าควรจะเป็นรัฐบาล ทหาร ตำรวจ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้นำชุมชน คนในพื้นที่ หน่วยงานทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน และร้อยละ 19.15 ระบุว่าไม่แน่ใจว่าจะมีใครสามารถแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนได้หรือไม่
รองศาสตราจารย์ ดร. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับผลการสำรวจในครั้งนี้เพิ่มเติมว่า “คนไทยมากกว่า ร้อยละ 80 เห็นว่าสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในระดับรุนแรงมากถึงมากที่สุด เป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบในหลายๆ ด้าน สะท้อนถึงความรู้สึกและการตระหนักรับรู้ว่าเป็นปัญหาที่น่าวิตก และน่าเป็นห่วง ที่ผ่านรัฐบาลได้มอบหมายให้ รองนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุงเข้ามารับผิดชอบและแก้ไขในเรื่องนี้ และรัฐบาลได้วิธีทางการทูตในการเจรจากับตัวแทนกลุ่มก่อการร้ายในประเทศมาเลยเซีย แต่ก็ยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงสอดคล้องกันกับผลสำรวจในประเด็นการลงไปเยือนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61 ระบุว่า ไม่ไปเนื่องจากกังวลในเรื่องความปลอดภัย ขณะที่อีกกลุ่มยังอยากจะไป ซึ่งจริงๆ แล้วตนและอาจารย์ในคณะหลายๆ ท่าน ก็เดินทางไปสอนนักศึกษา “นิด้า” ส่วนภูมิภาคในจังหวัดยะลา เป็นปกติอยู่แล้ว ตนมองว่าถ้าเป็นกลุ่มที่ไม่ใช่เป้าหมายหลัก เช่น ทหาร หรือ ตำรวจ และไปในช่วงเวลาปกติในเขตเมือง ก็ถือว่าเป็นเมืองที่มีความสงบและน่าท่องเที่ยว แต่ถ้าหากไปในเขตนอกเมืองก็อาจจะเพิ่มความระมัดระวัง ไม่ไปในช่วงยามวิกาล ซึ่งเหตุรุนแรงจะเกิดเป็นเฉพาะจุดหรือบางพื้นที่เท่านั้น
อย่างไรก็ตามประชาชนยังมองถึงโครงสร้างการบริหารประเทศในภาพรวม ส่วนใหญ่จึงต้องการให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดในการบริหารประเทศ และเป็นผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจในการบริหารงาน ที่จะสามารถประสานงาน ก่อให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจจากทุกๆ ฝ่าย แต่ก็ยังมีประชาชนบางส่วนที่รู้สึกท้อใจ สิ้นหวัง และผิดหวังกับนักการเมืองบางคนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะเป็นปัญหาที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะเบาบางลง และยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน