xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” จวกรัฐบาลดันนิรโทษฯ-ชำเรา รธน.หลังเลือกตั้ง จับตายืมมือ ส.ว.แก้มาตรา 190

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (ภาพจากแฟ้ม)
ประธานวิปฝ่ายค้าน จวกรัฐบาลเตรียมเดินเกมนิรโทษกรรม-แก้รัฐธรรมนูญ หลังเสร็จศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แนะจับตารัฐบาลยืมมือ ส.ว.ดันแก้มาตรา 190 อีกด้านซัด 1 ปี “ปู” สร้างหนี้ประเทศอื้อ จับตากู้เงิน 2 ล้านล้าน

วันนี้ (3 มี.ค.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวถึงกรณีที่ ส.ว.เลือกตั้ง ระบุจะหารือกับคระทำงานพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ปี 50 ที่มีนายโภคิน พลกุล เป็นประธาน เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 เป็นรายมาตราว่า เหมือนที่ตนคาดการณ์ไว้ว่า หลังเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) คือหลังวันที่ 3 มี.ค. 56 รัฐบาลจะมีความพยายามผลักดันอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ 1.กฎหมายนิรโทษกรรม และ 2. การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลต้องเดินหน้าต่อ โดยในกรณี ส.ว.เลือกตั้งนี้ ตนยังไม่ทราบในรายละเอียดว่าจะแก้อะไร มาตราไหน และมีเนื้อหาอย่างไร แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ถ้าจะมีความพยายามเดินหน้าแก้ไข โดยจับมือกับรัฐบาลก็ต้องพิจารณาว่า เรื่องที่จะทำนี้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม หรือส่วนตัว หรือทำเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ โดยในชั้นนี้ตนไม่สามารถตอบล่วงหน้าได้ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ เพราะต้องขอดูในรายละเอียด สาระก่อน

นายจุรินทร์กล่าวว่า ซึ่งจากนี้ตนจะจับตาเป็นพิเศษ หากเป็น ส.ว.เลือกตั้ง ก็เข้าใจว่าความเห็นของ ส.ว.เลือกตั้งด้วยกันเองก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่ แต่หากเป็น ส.ว.เลือกตั้งสายรัฐบาล ก็ชัดเจนว่ากรณีนี้รัฐบาลอาจไม่ออกหน้าเอง แต่ให้ ส.ว.กลุ่มนี้ออกหน้าผลักดันเริ่มต้นไปก่อน ดังนั้นจำเป็นต้องเห็นรายละเอียดเนื้อหา เช่น ที่ระบุว่าจะขอแก้มาตรา 190 ในเรื่องการทำสัญญาต่างๆกับต่างประเทศ ซึ่งในอดีตรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ใช้อำนาจในการตัดสินใจไปทำสัญญาต่างๆ กับต่างประเทศ ที่หลายกรณีเกิดคำถามว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ ดังนั้น รัฐธรรมนูญปี 50 มาตราดังกล่าวจึงกำหนดให้ต้องนำเรื่องมารายงานต่อรัฐสภารับทราบก่อน ซึ่งตนในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ติดตามใกล้ชิดอยู่แล้ว โดยยึดหลักว่า การแก้ไขกฎหมายใดๆต้องเป็นระโยชน์ต่อประเทศชาติ

นอกจากนี้ นายจุรินทร์ยังกล่าวถึงกรณีรัฐบาลประกาศเดินหน้าจะขอกู้เงินจำนวน 2 ล้านล้านบาท โดยอ้างความจำเป็นและต้องกู้เพื่อมาลงทุนว่า ตนยังไม่ทราบว่ารัฐบาลจะกู้ในรูปแบไหน จะออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน จึงต้องถามความจำเป็นจากรัฐบาลว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกู้เงินจำนวนนี้โดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ ก็ต้องยอมรับว่า หลังจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เข้ามาบริหารประเทศปีเศษ ได้สร้างภาระหนี้สินให้ประเทศชาติจำนวนมาก ซึ่งหากเทียบในจำนวนเงินกับระยะเวลาที่บริหารงานถือว่ากู้มาสูงมากอยู่ในเกณฑ์ ซึ่งรัฐบาลจะอ้างว่าจำนวนเงินที่กู้มาแล้วนั้น ยังอยู่ในเกณฑ์หนี้สาธารณะต่อดัชนีมวลรวมของประเทศ (จีดีพี) คือ ไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่กระทบต่อความชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ แต่ตนกลับเห็นว่าตัวเลขดังกล่าวที่รัฐบาลกล่าวอ้างว่าแค่ 50 เปอร์เซ็นต์นั้น เป็นตัวเลขที่จริงหรือไม่ เพราะส่วนตัวคิดว่ามันมากกว่านั้น ซึ่งจะจับตาติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น