กกต.กทม. ไม่รับคำร้อง “สัณหพจน์” ร้องสอบการทำโพลชี้นำทางการเมือง ยังเหลือคำร้อง “เสรีพิศุทธิ์” รอเข้าให้ถ้อยคำ เตรียมสอบคำร้อง “เรืองไกร” และป้ายหาเสียงเกินจำนวน ชม “คำรณวิทย์” ตั้งรางวัลนำจับคนซื้อเสียง ยันทำได้ เชื่อไม่จ้องจับผิดใคร กกต.กลางมีมติเอกฉันท์คืนสิทธิ “ประทีป” ผู้สมัครเบอร์ 14 หลังมีหลักฐานไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส. อีกด้าน “ศรีสุวรรณ” ร้องศาลปกครอง สั่ง กกต.ให้สั่งยุติทำและเผยแพร่โพล
วันนี้ (12 ก.พ.) พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) กล่าวภายหลังการประชุมว่า กรณีที่นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ขอให้ทาง กกต.กทม. ตรวจสอบการทำและเผยแพร่ผลสำรวจความเห็นประชาชนของสวนดุสิตโพล เอแบคโพล และกรุงเทพโพล ที่ประชุมมีมติเห็นชอบไม่รับคำร้องตามที่นายวีระ ยี่แพร ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (ผอ.กต.กทม.) เสนอว่า จากการตรวจสอบคำร้องและการให้ถ้อยคำของ นายสัณหพจน์ พบว่า เนื้อหาตามคำร้องเป็นการนำข้อมูลจากสื่อมวลชนมาตัดแปะ ไม่มีข้อมูลเชิงลึกหรือหลักฐานว่า การทำและเผยแพร่โพลดังกล่าวไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการอย่างไร หลักฐานที่มีจึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างที่ไม่เพียงพอต่อการตรวจสอบ คำร้องดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามข้อ 9 (4) ของระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนที่ระบุว่า ผู้ร้องต้องระบุถึงข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ความผิดว่าเป็นอย่างไร พร้อมทั้งแนบพยานหลักฐานด้วย
พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. ตั้งรางวัลนำจับให้กับนายตำรวจรายละ 100,000 บาท หากจับกุมผู้กระทำความผิดในการทุจริตเลือกตั้งได้ ว่า ขอพูดในฐานะเป็นตำรวจ การที่ตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาประกาศให้รางวัลนำจับเป็นวิธีการเพื่อให้เกิดกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการป้องปราบแบบหนึ่ง เป็นที่สิ่งที่ทำได้ในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยใช้เงินของตัวเอง ส่วนเงินงบประมาณหลวงไม่มีไว้ในส่วนนี้ ที่ผ่านการตั้งรางวัลนำจับเป็นเงินมาจากผู้เสียหาเอง อีกทั้งหากเจ้าหน้าที่ตรวจพบการกระทำผิดก็จะต้องได้รับการเห็นชอบจากกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งทั้ง 7 คน จึงน่าจะทำหน้าที่ได้อย่างเป็นกลางไม่จ้องจับผิดใคร โดยการกระทำดังกล่าวถึงเป็นเจตนาที่ดี และน่าชื่นชม
พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ กล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะประจำหน่วยเลือกตั้งละ 2 คน รวมแล้วกว่า 13,000 นาย มาจากนครบาลครึ่งหนึ่ง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติครึ่งหนึ่ง โดยทั้งหมดได้รับการอบรมพื้นฐานการปฏิบัติหน้าที่ให้มีความเป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติให้เป็นคุณ หรือโทษแก่ผู้สมัครรายใดรายหนึ่ง สร้างความสงบเรียบร้อยไม่ให้มีปัญหาในการเลือกตั้ง ทั้งในส่วนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อาจกระทำการทุจริต และการทำหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งอีกด้วย
ด้านนายวีระ ยี่แพร กล่าวถึงกรณีเรื่องการทำและเผยแพร่ผลโพลล์ ว่า ขณะนี้เหลือเพียงเรื่องการเผยแพร่ซึ่งผู้จัดทำและผู้เผยแพร่รวมถึงสื่อมวลชนต้องระมัดระวังไม่ให้เข้าข่ายตามมาตรา 57 (5) ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 แต่ขณะนี้ยังเหลือคำร้องของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส ผู้สมัครที่มอบหมายให้นายประพันธ์ คูณมี มายื่นคำร้องแทน โดยสำนักงาน กกต.กทม. ได้นัดหมาย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ผู้ร้องมาให้มาให้ถ้อยคำประกอบคำร้องในวันที่ 13 ก.พ.นี้ ในเวลา 09.00 น. แต่หากมีการมอบหมายให้ นายประพันธ์ ซึ่งเป็นผู้ที่ยื่นคำร้องมาให้ถ้อยคำแทน ก็จะต้องนำหนังสือมอบอำนาจมาให้กับทาง กกต.กทม. ด้วย ซึ่งหลังการให้ถ้อยคำแล้ว ทางสำนักงาน กกต.กทม.ก็จะนำไปพิจารณาว่าสมควรให้ที่ประชุม กกต.กทม.รับเป็นเรื่องร้องเรียนหรือไม่
นอกจากนี้ ที่ประชุม กกต.กทม.ยังได้รับทราบกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ขอให้ตรวจสอบการกระทำของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ นายศิริโชค โสภา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ภาพผ่านเฟซบุ๊กในลักษณะใส่ร้าย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคเพื่อไทย และ นายเสรี วงศ์มณฑา นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ ว่าผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 หรือไม่ ซึ่ง ปธ.กกต.กทม. ได้ให้ข้อสังเกตใน 2 ประเด็นในการไปตรวจสอบ คือ 1.ให้ดูว่านายเรืองไกรเข้าร้องในฐานะใด 2. คำร้องเข้าข่ายตามมาตรา 57 (5) หรือไม่ และจำเป็นที่จะต้องเชิญนายเรืองไกรมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติมหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กกต.กทม.ยังไม่ได้พิจารณาคำร้องของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ กรณีที่ยื่นร้องว่ามีผู้สมัครบางรายติดเรื่องป้ายหาเสียงเกินกว่ากฎหมายที่กำหนด ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่
ทั้งนี้ มีรายงานว่าในการประชุม กกต.กทม. ครั้งนี้ นายประทีป วัชระโชคเกษม อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งถูกปลัดกรุงเทพมหานครในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งท้องถิ่นประจำกรุงเทพมหานคร ตัดสิทธิการเป็นผู้สมัคร เนื่องจากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 3 ก.ค. 2554 ก็ได้เดินทางมาสอบถามถึงผลการพิจารณาขอคืนสิทธิการเป็นผู้สมัครที่ทาง กกต.กทม. เสนอให้ที่ประชุม กกต.กลาง พิจารณาในวันนี้ด้วย
ด้านนางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวว่า ที่ประชุม กกต.มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นตามที่ กกต.กทม. เสนอให้คืนสิทธิการเป็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ให้กับนายประทีป เนื่องจากตามหลักฐานที่ กกต.กทม. เสนอมาว่า พบลายเซ็นต์นายประทีปที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง จึงเชื่อได้ว่านายประทีปไปใช้สิทธิเลือกตั้งส.ส.วันที่ 3 ก.ค.2554
อีกด้านหนึ่ง นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า วันนี้ตนพร้อมด้วยนายวีละ อุดม นายสมิตร สมิทธินันท์ นายวิทยา จังกอบวัฒนา ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางมายื่นฟ้อง กกต. กทม. และ กกต.กลาง เป็นผู้ถูกร้องที่ 1 และ 2 ต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากเห็นว่า กกต.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานทางปกครองของรัฐ ที่ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร กรณีปล่อยให้มีการดำเนินการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งที่มีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ไปยื่นเรื่องให้ กกต.กทม.พิจารณาให้มีการตรวจสอบและให้ระงับการทำโพล และเผยแพร่ผลสำรวจโพล เพราะการทำโพลล์นั้นเป็นการชี้นำ แต่ กกต.ก็ยังไม่ได้การดำเนินการแต่อย่างใด จึงขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้ กกต.กทม. และ กกต.กลาง สั่งยุติการเผยแพร่ผลโพลล์โดยทันที และขอให้เพิกถอนคำสั่งเรื่องค่าใช้จ่ายหาเสียงของผู้สมัคร ที่สามารถหาเสียงได้ไม่เกินจำนวน 49 ล้านบาท เนื่องจากมากเกินไป โดยให้กำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเพียง 5.2 ล้านบาท เท่ากับเงินเดือนที่ผู้ว่าฯ กทม. จะได้รับรวมกัน 4 ปี เพราะเห็นว่าการกำหนดวงเงินไว้ไม่เกิน 49 ล้านบาทนั้น จะทำให้ผู้สมัครที่มีเงินหาเสียงได้เท่านั้น ทั้งนี้ ยังมีคำขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาสั่ง กกต.สั่งให้มีการระงับการทำและเผยแพร่ผลโพลที่เป็นการชี้นำไว้ก่อน
อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองกลางไม่ได้มีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินในทันที แต่กำหนดให้ไต่สวนเพื่อกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวตามปกติ โดยได้นัดคู่กรณีเข้าไต่สวนในวันที่ 18 ก.พ. เวลา 18.00 น. เพื่อพิจารณาว่าจะรับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ และจะกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาตามที่ขอหรือไม่