“ส.ว.คำนูณ” ชี้ตัวแทน 2 สี คุยกรอบนิรโทษเป็นสิ่งดี ชี้ปัญหาอยู่ที่ปล่อยผีแกนนำ “นช.แม้ว” และคนทำผิดอาญา ต้องให้ตกผลึกก่อน จี้รัฐเอาให้ชัดเดินหน้าโดยไม่โยงช่วยพี่ชาย ด้าน ส.ส.ยโสธร เพื่อไทย หนุนหารือ แต่สุดท้ายอยู่ที่รัฐบาล
วันนี้ (8 ก.พ.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีที่ตัวแทนพันธมิตรฯ และ นปช.หารือนอกรอบถึงแนวทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ว่า การคุยกันเป็นสิ่งที่ดี เบื้องต้นเข้าใจว่าตัวแทนที่เข้าร่วมนั้น เป็นในส่วนของกลุ่มที่มีพลังมวลชนอยู่นอกสภาของทั้ง 2 กลุ่ม และคิดว่าเรื่องการนิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนที่มีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง จะไม่ทำให้มีปัญหา เพราะประเด็นที่เป็นปัญหาที่แท้จริง คือ การนิรโทษกรรมให้แก่แกนนำผู้ชุมนุม ให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และกรณีที่มีผู้กระทำผิดกฎหมายอาญา ทั้งนี้ ในหลักการหากจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมจริง ควรจะพิจารณาในประเด็นที่สามารถเห็นพ้องต้องกันได้ก่อน โดยประเด็นใดที่ตกผลึกแล้วให้พิจารณาออกบังคับใช้ก่อน ส่วนประเด็นที่มีรายละเอียดที่ต้องถกเถียง เช่น คดีทุจริตคอร์รัปชัน ของ พ.ต.ท.ทักษิณ คดีอาญาที่มีความผิดลหุโทษ ค่อยมาดำเนินการภายหลัง
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า รัฐบาลควรต้องแสดงความชัดเจนว่าสิ่งที่ทุกฝ่ายตกผลึกร่วมกันขอให้เดินหน้าโดยไม่ต้องรอพิจารณาทีเดียวพร้อมกัน เพราะนั่นอาจถูกโยงให้เป็นเรื่องที่เข้าข่ายช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ เช่นว่า ที่รอเวลาเพื่อต้องการให้ประชาชนเป็นตัวประกัน ว่าต้องพ่วงนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางที่ระบุว่าจะตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณาว่าใครบ้างจะเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมนั้น ส่วนตัวมองว่าจะกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกัน และส่วนที่ระบุว่า จะไม่มีการนิรโทษกรรมให้แก่แกนนำผู้ชุมนุม การเขียนระบุไว้ในร่างกฎหมายทำได้ยาก เพราะต้องมีการนิยามว่าใครบ้างที่เป็นผู้สั่งการ ทั้งนี้ กลุ่มที่มาชุมนุมไม่ใช่องค์กรตามกฎหมาย และไม่ได่มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ชัดเจน ดังนั้น การนำประเด็นดังกล่าวไปตีความเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งอาจจะพิจารณาได้อีกครั้งว่าให้กรรมการพิจารณา แต่บุคคลที่จะมาเป็นกรรมการต้องปราศจากความหวาดระแวงของกลุ่มการเมือง
ด้านนายพีรพันธ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ฐานะนักกฎหมายของพรรค กล่าวว่า ตนทราบว่ามีตัวแทนของแต่ละกลุ่มไปหารือกัน แต่ตนมองว่าแนวทางที่ไปคุยเรื่องนิรโทษกรรมนั้น ต้องยึดหลักที่ว่าการนิรโทษกรรมคือ การให้อภัย การกระทำที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมามีมูลเหตุการกระทำมาจากประเด็นทางการเมือง เช่น คนเผาศาลากลาง ก็มีมูลเหตุจากการเมือง เพราะไม่ใช่ว่าคนที่มาร่วมชุมนุมอยู่ดีๆ จะลุกไปจุดไฟเผาเองได้ แต่เหตุที่การคุยเรื่องนิรโทษกรรมปัจจุบันที่ไม่สามารถสรุปกันได้ เพราะมันมีการสูญเสีย จึงถูกพิจารณาได้ว่าคนสั่งการจะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ และหากพวกเขาได้รับการนิรโทษกรรมอาจเป็นเหตุให้มีการกระทำที่นำไปสู่ความสูญเสียอีก
นายพีรพันธ์ กล่าวต่อว่า ตนเห็นด้วยที่จะมีการหารือกัน แต่ท้ายสุดแล้วผลในทางปฏิบัติจะเกิดขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรัฐบาล เพราะเป็นผู้ที่กุมเสียงข้างมากในสภา