ดุสิตโพลสำรวจ ปชช.ถึงความเชื่อมั่นโพล ส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องปกติที่มักมีผลโพลช่วงเลือกตั้ง รองลงมาแนะให้ใช้วิจารณญาณรับฟัง ส่วนมากยอมรับพอเชื่อผลโพลอยู่บ้าง ขณะที่ไม่ค่อยเชื่อรองลงมา แต่ความเห็นส่วนใหญ่ชี้ผลโพลไม่มีผลการกับการตัดสินใจเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
วันนี้ (27 ม.ค.) “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน กทม. จำนวน 1,270 คน ระหว่างวันที่ 24-26 มกราคม 2556 จากกรณีทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งมักจะมีการทำโพลออกมาและคาดการณ์กันว่าใครจะเป็นผู้ที่มีคะแนนนำหรือชนะการแข่งขัน โดยเฉพาะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ที่มีโพลต่างๆ ออกมาและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ที่มีต่อโพลสรุปผลดังนี้
ต่อข้อคำถามที่ว่าคนกรุงเทพฯ คิดอย่างไร กรณีที่โพลสำนักต่างๆ เผยแพร่ผลการสำรวจ “การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.” ณ ตอนนี้ อันดับ 1 ร้อยละ 39.51 มองว่า เฉยๆ/เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อมีการเลือกตั้งก็จะมีผลโพลของสำนักต่างๆ ออกมาเสมอ ส่วนอันดับ 2 ร้อยละ 22.23 มองว่า ควรมีวิจารณญาณในการรับฟังข้อมูลต่างๆ อย่าให้โพลมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ ด้านอันดับ 3 ร้อยละ 13.88 มองว่า รู้สึกสงสัย แปลกใจกับผลโพลที่ออกมาไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน/ไม่เหมือนกัน ขณะที่อันดับ 4 ร้อยละ 12.60 มองว่า เป็นการชี้นำ สร้างกระแสให้กับสังคม ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม และอันดับ 5 ร้อยละ 11.78 มองว่าโพลสามารถทำได้ แต่ควรเป็นไปตามหลักวิชาการ เป็นกลาง มีจรรยาบรรณ
ส่วนคำถามที่ว่าท่านเชื่อผลโพลหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 47.86 ระบุว่าพอเชื่อบ้าง เพราะดูจากความน่าเชื่อถือของแต่ละสถาบัน โพลเป็นที่รู้จักในสังคมมากขึ้น นำมาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้บ้าง ฯลฯ ขณะที่ร้อยละ 20.40 ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อ เพราะบ่อยครั้งผลที่ออกมาไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ค้านกับความรู้สึก เป็นเพียงกระแสช่วงหนึ่งซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ ฯลฯ และร้อยละ 18.52 ระบุว่าไม่เชื่อ เพราะผลที่ออกมาไม่แม่นยำ ผิดพลาดบ่อย เป็นการชี้นำ เป็นโพลรับจ้าง ฯลฯ ทั้งนี้ร้อยละ 13.22 ระบุว่าเชื่อมาก เพราะเป็นการสอบถามความคิดเห็นจากกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย เป็นไปตามระเบียบวิธีวิจัยและมีหลักวิชาการรองรับ ฯลฯ
และต่อข้อคำถามที่ว่า ผลโพลมีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม. มากน้อยเพียงใด อันดับ 1 ประชาชนเห็นว่า ไม่มีผล ร้อยละ 35.89 เพราะผลที่ออกมาไม่น่าเชื่อถือ ตัดสินใจไว้แล้วว่าจะเลือกใคร เชื่อความรู้สึกของตัวเองมากกว่าผลโพล ฯลฯ ส่วนอันดับ 2 ร้อยละ 29.60 เห็นว่าค่อนข้างมีผล เพราะบ่อยครั้งที่ผลโพลถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง และเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ฯลฯ ขณะที่อันดับ 3 ร้อยละ 24.69 เห็นว่าไม่ค่อยมีผล เพราะไม่ค่อยได้ติดตามผลโพล การตัดสินใจเลือกผู้สมัครจะดูที่นโยบาย คุณสมบัติ และผลงานมากกว่า ฯลฯ และอันดับ 4 ร้อยละ 9.82 เห็นว่ามีผลมาก เพราะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมออกมาให้รับรู้ ฯลฯ