ปธ.วิปฝ่ายค้านร่วมแสดงความเสียใจ “ชุมพล” เสียชีวิต-แนะดันร่าง พ.ร.บ.กก.สิทธิฯ พิจารณาก่อน เล็งชงกระทู้สดค่าครองชีพพุ่ง ราคาผลผลิตเกษตรต่ำ ซัก รบ. เผย 31 ม.ค. “หมอวรงค์” ให้ข้อมูลจีทูเจี๊ยะ ป.ป.ช.-เตือน “ปู” ตามน้ำ พ.ร.ก.นิรโทษฯ แก๊งแดงเสี่ยงขัด รธน. และช่วยเฉพาะกลุ่ม ส่อครอบคลุมคดีโกง หวังล้างข้อหาเหยียบศพแดงนั่งอำมาตย์
วันนี้ (22 ม.ค.) ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปค้าน) ได้แถลงแสดงความเสียใจต่อการถึงแก่อสัญกรรมของนายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพราะถือเป็นนักการเมืองด้วยกัน
นายจุรินทร์กล่าวว่า ที่ประชุมวิปฝ่ายค้านยังได้มีการแสดงความเห็นเรื่องกฎหมายที่รัฐบาลจะเร่งรัดหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในสภาฯ โดยอยากให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ออกไปก่อน เพื่อรอกฎหมายที่ภาคประชาชนเสนอเข้ามาได้พิจารณาร่วมกัน และเลื่อนร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ... ขึ้นมาแทน เนื่องจากเป็นกฎหมายที่สำคัญ เพราะเปิดโอกาสให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสามารถฟ้องแทนประชาชนได้ถ้าถูกละเมิดสิทธิ ส่วนในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 24 ม.ค.นั้น ฝ่ายค้านก็จะได้ตั้งกระทู้ถามสดเรื่องสถานการณ์ดำรงชีพของประชาชนที่ค่าครองชีพสูงขึ้นทั้งแผ่นดิน แต่ผลผลิตทางการเกษตรกลับตกต่ำทั้งแผ่นดิน โดยค่าครองชีพที่สูงขึ้นเกิดจากการขึ้นราคาน้ำมันทั้งภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ราคาผลผลิตทางการเกษตรกลับตกต่ำอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน เพราะการแทรกแซงราคาของรัฐบาลล้มเหลว
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ในวันที่ 31 ม.ค. เวลาประมาณ 10.00-12.00 น. ทางพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้มอบหมายให้ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก ปชป. ไปให้ข้อมูลเรื่องการทุจริตส่งออกข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ของรัฐบาล ต่ออนุกรรมการไต่สวนคดีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ส่วนกรณีที่มีรัฐมนตรีบางบุคคลเสนอแนวคิดออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม โดยระบุว่าเตรียมจะเสนอต่อนายกฯ โดยเร็วที่สุดนั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า ทางวิปค้านเห็นว่าเป็นเป้าหมายเพื่อนิรโทษความผิดอาญา ตั้งแต่เหตุการณ์วันที่ 1 ม.ค. 50-31 ธ.ค. 54 ให้พ้นผิดโดยสิ้นเชิงมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้หากนายกฯ จะเห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมจริง ต้องตอบคำถาม 4 ข้อให้ได้ก่อนว่า 1. จะเป็นการเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 184 หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่า การจะออกเป็นพระราชกำหนดได้ต้องเกี่ยวกับความปลอดภัยประเทศและสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือต้องเป็นกรณีจำเป็น ฉุกเฉิน เร่งด่วน อันมิอาจหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น 2. การกำหนดช่วงเวลานิรโทษกรรมดังกล่าวเท่ากับเลือกปฏิบัติ เพื่อช่วยเฉพาะคดีเผาศาลากลาง คดีวัดพระแก้ว และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตลอดจนเจตนาไม่ให้รวมคดีที่มีการชุมนุมทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ในปี 2555 ด้วยหรือไม่ 3. จะเป็นจุดเริ่มต้นการนิรโทษกรรมคดีทุจริตด้วยใช่หรือไม่ และ 4. มีวัตถุประสงค์นำไปสู่การแก้ปัญหาประเทศหรือแก้ปัญหาให้กับรัฐบาลให้พ้นจากข้อหาได้เป็นอำมาตย์แล้วลืมพวกหรือไม่