โฆษก ปธ.สภาฯ เห็นแย้ง นปช.เสนอ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมม็อบ ชี้กระบวนการยุติธรรมปกติ ไม่ใช่ช่วงรัฐประหาร อีกทั้งตอบสังคมไม่ได้ ส่วนกรณีนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์เดินหน้าแก้ ม.112 แนะเสนอพรรคการเมืองส่ง ส.ส.20 คนแก้กฎหมายได้ทุกเรื่อง ชี้คราวที่แล้วถูกตีตกเพราะเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์โดยตรง ขัดกับหลักเกณฑ์การเสนอกฎหมายโดยประชาชน
วันนี้ (16 ม.ค.) ที่รัฐสภา นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวกรณีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เรียกร้องที่จะมีการเสนอ พ.ร.ก.นิรโทษกรรม สำหรับผู้ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2550-2554 ว่า ตนเห็นเพียงแค่ข่าว การนิรโทษกรรมถือเป็นอำนาจรัฐบาลที่จะออกเป็น พ.ร.ก.หรือ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมก็ได้ แต่ส่วนตัวตนเห็นว่าต้องยึดหลักการของกฎหมายเป็นหลัก โดยหากจะมีการนิรโทษกรรมจริงก็ควรจะเป็นการนิรโทษกรรมในช่วงที่ไม่มีกระบวนการยุติธรรมปกติ ซึ่งหมายถึงเป็นช่วงที่มีรัฐบาลจากคณะรัฐประหารและองค์กรที่เกิดจากในช่วงรัฐประหารจนทำให้ผู้อื่นได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่หากคดีอาญาใดที่ยังมีอายุความ และยังมีหลักฐานที่ดำเนินการได้อยู่ก็ควรจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ ทั้งนี้ข้อเสนอของกลุ่ม นปช.ไม่น่าจะถูกต้อง และมีเหตุผลตอบสังคมไม่ได้
“เมื่อมีกระบวนการยุติธรรมปกติ และคดียังไม่หมดอายุความ ก็ควรจะปล่อยให้ทำงานไปตามปกติ เพราะมันยังไปต่อได้ ผมว่าไม่เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมทั้งหมดตามที่ นปช.เสนอ เพราะขัดหลักการกฎหมาย” นายวัฒนากล่าว
นายวัฒนายังกล่าวถึงกรณีนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ยืนยันจะเดินหน้าเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า หากมีการเปลี่ยนหลักการใหม่โดยโยงเข้ากับหมวดสิทธิเสรีภาพ ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยไปรวบรวมรายชื่อใหม่จำนวน 10,000 รายชื่อมาเสนอ เพราะร่างแก้ไขดังกล่าวที่ถูกตีตกไปนั้น เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์การเสนอกฎหมายโดยประชาชน ที่ระบุว่าจะเข้าชื่อเสนอได้ต้องเป็นนโยบายแห่งรัฐที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพ และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเท่านั้น แต่ร่างดังกล่าวที่ส่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์โดยตรง จึงถูกตีตกไป อีกทั้งเมื่อมีการส่งเรื่องให้รัฐสภาพิจารณาแล้ว หากประธานหรือรองประธานรัฐสภาไม่พิจารณาก่อนปล่อยให้เข้าสู่ระเบียบวาระก็จะถูกดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ได้ ดังนั้น หากกลุ่มนิติราษฎร์ยังต้องการผลักร่างดังกล่าวก็ไปเสนอต่อพรรคการเมืองเพื่อให้ ส.ส.จำนวน 20 คนเป็นผู้เสนอแก้กฎหมาย ซึ่งแก้ไขกฎหมายได้ทุกเรื่อง