xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ยันรัฐพัฒนาเด็กด้วยเทคโนโลยีควบคู่คุณธรรม จ่อปรับปรุงหลักสูตรล้าสมัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
"ยิ่งลักษณ์" พาเยาวชนเขียนเรียงความอวยร่วมรายการ เด็กขอบคุณได้เจอตัวจริง ขอช่วยตามหาพี่ มีโผล่โอดคิดถึง "แม้ว" อยากให้แก้รธน. เจ้าตัวรับปาก ฝากครู พ่อแม่เตือนเล่นเกมมากเกินไป ยันรัฐให้ความสำคัญพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่คุณธรรม จ่อปรับปรุงหลักสูตรที่ไม่ทันสมัย เผยสอน "น้องไปป์" ให้เป็นตัวของตัวเอง พร้อมกอดด้วยใจให้รู้สึกว่ารัก


วันนี้ (12 ม.ค.) เมื่อเวลา 08.00 น. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้จัดรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน โดยภายในรายการได้เชิญเด็กที่เขียนเรียงความถึงนายกฯ มาร่วมสนทนาด้วย ทั้งนี้เด็กส่วนใหญ่ต่างขอบคุณนายกฯ ที่ให้มาร่วมในรายการ ขณะที่มีเด็กผู้หญิงรายหนึ่งระบุขอให้นายกฯ ตามหาพี่ของตนที่หายตัวไปด้วย โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ รับปากจะช่วยหาตัวให้ ส่วนเด็กชายอีกคนระบุว่า ตนคิดถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อยากให้พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาเร็ว ๆ และขอให้นายกฯ แก้รัฐธรรมนูญใหม่ คอยฟังข่าวอยู่ตลอด ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ได้รับปากว่าจะทำให้เช่นกัน ทั้งนี้เด็กบางส่วนยังระบุด้วยว่า อยากให้คนไทยรักและสามัคคีกัน บางรายก็กล่าวชื่นชมนายกรัฐมนตรีฯ ว่า เก่งมาก เพราะเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ปกครอง ได้เป็นรัฐบาลในยุคนี้ รวมทั้งขอให้นายกรัฐมนตรีส่งเสริมเด็กไทยให้ใฝ่เรียนรู้มากขึ้น บ้างก็อยากให้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมในจังหวัดของตน โดยมีเด็กหญิงคนนึงก็ได้มอบของขวัญเป็นภาพวาดระบายสีให้แก่นายกฯ ด้วย

อย่างไรก็ตามในช่วงที่ 2 ของรายการนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า ถือว่าวิวัฒนาการเด็กไทยนั้นเริ่มมีความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นมากขึ้น จากที่ได้เห็นน้อง ๆ หลายคน สามารถที่จะเรียนรู้แล้วก็ค้นคว้า ตนมองว่าสิ่งที่เด็กไทยวันนี้เริ่มรู้จักที่จะหาความรู้เพื่อเป็นตัวเสริม นอกเหนือจากห้องเรียน นี่ก็ถือเป็นสิ่งที่ดี แล้วที่สำคัญเราต้องสอนเด็กในเรื่องการค้นคว้าเทคโนโลยี แล้วนำเอาสิ่งที่ดีมาใช้ เพราะบางครั้งก็อาจไปในทางที่ผิดได้ ซึ่งตรงนี้มันก็จะมีทั้งข้อดี ข้อเสีย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเริ่มสอนในหลักการค้นคว้าว่าเราควรจะนำเอาความรู้อย่างไร แล้วก็ต้องมีข้อจำกัดของเวลา หรือการเรียนรู้ อย่างเช่นไปเล่นเกมส์นานเกินไป ก็จะมีปัญหาตรงนี้ ก็ต้องฝากด้านของคุณครูและผู้ปกครองให้ช่วยเสริมเด็กในส่วนนี้ด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ตนรู้สึกเป็นอะไรที่ เซอร์ไพร์สมาก น่ารักมาก สามารถที่จะจำคำขวัญวันเด็กได้หมดเลย ซึ่งเด็กไทยวันนี้ เป็นกำลังสำคัญของประเทศ และในอีกไม่นานเราก็จะก้าวสู่สังคมของผู้สูงอายุ การที่ส่งเสริมให้เด็กไทยมีความรู้ความสามารถ เรียกว่าเป็นความสำคัญเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำงานควบคู่กับกระทรวงศึกษาธิการ สิ่งที่ตนมองอย่างแรก คือกลับไปดูในเรื่องของปัญหาของเด็กไทยในภาพรวมก่อน เรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาเป็นจำนวนมาก ก็จะเห็นว่าสิ่งที่ออกมาก็สะท้อนในเรื่องของเด็กในการเรียนรู้ต่าง ๆ อาจจะเรียนด้านเทคโนโลยีมาก แต่ขณะเดียวกันในด้านของคุณธรรม วัฒนธรรม หรือด้านความเป็นมนุษย์ การเอื้ออาทรต่อกัน ก็คงต้องเสริมไปด้วย แล้วก็เด็กไทยเองวันนี้ สิ่งที่เราเห็นก็เรื่องของความสำคัญของ พ่อ แม่ ตั้งแต่แรกเกิด การขาดการเรียนเรื่องของสารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ตั้งแต่แรกเกิด ตรงนี้ในส่วนของรัฐบาลเอง เรามองการดูแลพัฒนาเด็กตั้งแต่ช่วงครรภ์มารดา ไปแต่ละช่วงอายุ เพราะถ้าถามว่าทำไมเราต้องอย่างนี้ เพราะเราเริ่มกลับมามองตรงนี้ เราจะได้เข้าใจเด็กในแต่ละช่วง เพราะว่าความต้องการในแต่ละวัยนั้น มีความต่างกัน ไม่เหมือนกันเลย

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ถ้าเราทำความเข้าใจแล้วเราก็กลับไปดูว่ากระบวนการในการทำความเข้าใจ ทุก ๆ วัยนั้น สิ่งที่ตนมองหรือรัฐบาลมองเราคงต้องร่วมกัน ตั้งแต่การเสริมด้านไอคิว ก็คือ ความรู้ที่เด็กต้องเรียนให้เก่ง เพราะฉะนั้นที่จะเรียนเก่งก็ต้องเสริมทั้งความรู้ในห้องเรียน นอกห้องเรียนก็จะเห็นว่านโยบายของรัฐบาลที่เราพยายามนำเอาแท็บเล็ตพีซี มาให้เด็กประถมศึกษาปีที่ 1 ใช้ เพราะว่าเพื่อจะดึงจุดสนใจในการเรียนการสอนให้เด็กนั้นกล้าใช้เทคโนโลยีมาเรียนรู้ให้มากขึ้น และตัวที่สอง อีคิว ก็คือ ความรู้วุฒิภาวะทางอารมณ์ ซึ่งอารมณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าถ้าเด็กเรียนเก่งอย่างเดียว แต่ในแง่ของอารมณ์ไม่สามารถเข้ากับเพื่อนได้ เขาก็จะอยู่ในสังคมไม่ได้ แล้วก็อีกเรื่องหนึ่งตนก็มองว่า นอกเหนือจาก ไอคิว และ อีคิว แล้ว หลาย ๆ ท่านก็จะมีมากกว่านั้น เช่น เอคิว แต่สิ่งที่ดิฉันมองอีกตัวหนึ่งก็คือทัศนคติ ที่เราคงจะต้องลงมาดูแลควบคู่กันไป เพราะวันนี้สังคมไทยของเรามีสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงมากมาย เราก็อยากเห็นเยาวชนไทยนั้นมองเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม ความกตัญญูกตเวทิตา ต่อบรรพบุรุษ ต่อคุณพ่อ คุณแม่ คุณครู ผู้ที่มีพระคุณต่อเรา รวมถึงการที่เราจะใช้หลักในเรื่องของคุณธรรมประจำใจที่จะได้เข้าใจ รู้จักคนอื่นมากขึ้น ก็คงจะเป็นสิ่งคิดว่าเราควรจะกลับเข้ามาพูดคุยในตรงนี้มากขึ้น ให้เด็กเข้าใจแก่นแท้ เป็นสิ่งรัฐบาลพยายามจะมอง เราเองก็เลยนำเอาความคิดต่าง ๆ เหล่านี้ได้มาหารือกัน

"ก็ได้มีการพูดคุยกับผู้ที่มีความรู้และผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการการศึกษา ทั้งด้านของภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งในสายของอาชีวะ สายสามัญ ที่พูดคุยกันว่าวันนี้เราน่าจะถึงเวลาแล้วในการที่มาคุยกันในการพัฒนาวงการการศึกษาไทย ซึ่งการพัฒนาวงการการศึกษาไทยนั้น ก็คงต้องมองตั้งแต่การพัฒนาตัวเด็กแน่นอน อย่างที่เรียนว่าใช้หลักการพัฒนาตามช่วงอายุ อันที่สองก็คือครู ซึ่งครูก็เป็นบุคคลที่มีความสำคัญ จะทำอย่างไรแทนที่จะมาทำงานบริหาร งานที่ต้องดูแลอย่างอื่นมากขึ้น ไปใช้เวลากับนักเรียนมากขึ้น และวิธีการเรียนการสอน ที่จะทำให้ครูนำสื่อต่าง ๆ เข้าถึงเด็ก แทนที่เราจะต้องมาป้อนข้อมูล แต่ทำอย่างไรให้เด็กคิดและดึงศักยภาพของเด็กออกมา แล้วก็อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการเรียนการสอน วันนี้จะเห็นว่าหลายโรงเรียนก็อาจจะขาดเรื่องหนังสือนอกเวลา หรือว่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่จะค้นคว้าต่าง ๆ รวมถึงบรรยากาศที่โรงเรียนและชุมชน สภาพแวดล้อมก็คงต้องเอื้ออำนวยด้วย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องมาพูดคุยกัน แล้วก็เป็นสิ่งที่ต้องทำในระยะยาว เพื่อสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาให้กับเด็กไทย" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

เมื่อถามว่า รัฐบาลมีแนวทางอย่างไรในการที่จะพัฒนาทั้งครูหรือคุณพ่อคุณแม่ให้เข้าใจเด็ก นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จริง ๆ แล้วก็ต้องเริ่มตั้งแต่อย่างที่เรียนว่าของครูนั้น เราคงคุยกันเริ่มตั้งแต่ภาครัฐก่อนที่จะพูดคุยกันว่าจะเพิ่มศักยภาพของครูอย่างไร และเราจะทำให้ครูเข้าใจในการที่จะดึงศักยภาพของเด็กมาเพราะเราเชื่อว่าเด็กทุกคนถ้าเราได้ดึงศักยภาพของเขามาใช้อย่างเต็มที่อย่างเช่น การมีส่วนร่วมในการเรียนให้มีโอกาสได้แสดงออกมากขึ้น เราก็จะได้รู้ว่าเด็กเก่งอย่างไร มีเวทีใดที่เขาจะได้แสดงออกอย่างถูกวิธี อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะเสริม แต่แน่นอนเสริมอย่างไรก็ตามก็ต้องทำงานคู่กับภาคเอกชน ซึ่งวันนี้ภาคเอกชนไปไกลหลาย ๆ ที่ จะเห็นว่าโรงเรียนต่าง ๆ มีความแข็งแรงมาก อันนี้คือสิ่งที่เราคงจะทำงานร่วมกัน แต่เด็กเองนั้นสิ่งที่ดิฉันเรียนว่าเราอยากจะกลับมาเน้นในภาคของการคิดในการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง อันนี้จะเป็นจุดที่เราจะอยู่ได้ระยะยาวแทนที่เราจะใช้วิธีเน้นกฎกติกามาบังคับ แต่ขณะเดียวกันโลกและเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็ได้เคลื่อนตัวไปมากแล้ว ดังนั้นเราต้องฝึกให้เด็กได้เข้าใจหลักแก่นแท้และหลักในการคิดก่อน แต่ว่าเราก็เข้าใจปัญหาสังคมไทยวันนี้คือภาระของพ่อแม่ก็มีมากบางครั้งอาจจะไม่มีเวลา แต่สิ่งที่เราจะต้องช่วยคือต้องช่วยกันบูรณาการความแข็งแรงนี้ภายใต้พื้นฐานของครอบครัวบวกกับครู ถ้าสมมุติครอบครัวติดภาระต่าง ๆ ครูก็จะเข้ามาเสริมในส่วนนี้ เราก็มองว่าครูนอกจากจะเป็นครูผู้สอนที่ดึงศักยภาพของเด็กแล้ว นอกเหนือจากนั้นครูควรจะเป็นเหมือนกับผู้ปกครองอีกคนหนึ่ง เป็นที่พึ่งของเด็กที่สามารถพูดกับครูได้ทุกเรื่อง

เมื่อถามถึงเนื้อหาสาระของหลักสูตรการศึกษาที่ดูไม่ทันสมัยต้องมีการปรับปรุงด้วยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าว ในข้อเท็จจริงทางกระทรวงศึกษาธิการได้มีการปรับปรุงอยู่เป็นระยะ แต่ว่าตนเองมองว่าเราอาจจะต้องมานั่งดูทั้งระบบว่าเนื้อหา วิธีการเรียนการสอน อย่างเรื่องของวิทยาศาสตร์เราก็ขาดมากในเรื่องของอุปกรณ์แล็บ เครื่องมือที่จะให้เด็กทดลอง และบางครั้งการที่จะต้องใช้เวลาในการทดลองนอกห้องเรียนบ้าง ซึ่งตรงนี้ที่ได้มีการพูดคุยกันและจะได้นำประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้มาศึกษาและมาคิดว่าเราจะแก้ปัญหากันอย่างไร ซึ่งเราอาจจะแบ่งการแก้ปัญหาเป็น 2 ส่วนคือว่า อะไรที่เราจะสามารถแก้ไขได้เลยทันทีระยะสั้นก็คงทำ และบางส่วนก็จะมีในเรื่องกฎกติกาหรือระเบียบต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ ทำและแก้ไป ส่วนในเรื่องของการผ่อนปรนเรื่องการตัดผมก็จะเรียกว่าในแง่ของจิตใจมากกว่า ในแง่ของความสบายใจของเด็กนักเรียนเพราะบางทีจริง ๆ แล้วระเบียบ กติกาต่าง ๆ ตนเองก็มองว่าเราก็อยากให้เห็นว่าเวลาต่าง ๆ เปลี่ยนไปแล้ว ในแง่ของสังคมก็เปลี่ยนไป แต่ก็ไม่ได้หมายความจะไม่มีกติกา เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็คือเรียกว่าความสมดุลที่ทางกระทรวงศึกษาธิการต้องพิจารณาให้กับเด็กอย่างเรื่องทรงผม เราเข้าใจในส่วนของเด็กว่าเวลาที่จะไปไหนบางครั้งในช่วงวัยรุ่นเขาก็อยากจะมีความภาคภูมิใจในทรงผมต่าง ๆ แต่แน่นอนเราก็คงจะไม่สามารถไปได้ตามทรงผมที่เป็นที่นิยม อาจจะกลับมาว่าทรงผมไหนเป็นทรงผมที่สุภาพ แต่ก็อาจจะให้มีความคล่องตัวให้กับเด็กบ้างเด็กก็จะมีความรู้สึกที่ดี อันนี้ก็ส่วนหนึ่งที่กระทรวงศึกษาธิการก็คงอยากจะนำมาพิจาณาตรงนี้ให้เป็นของขวัญสำหรับวันเด็กด้วย

เมื่อถามถึงปัญหายาเสพติด ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นปัญหาทางด้านสังคมที่เราเป็นห่วง เรื่องยาเสพติดเราก็ใช้โครงการในการที่จะบูรณาการเรื่องของยาเสพติด การแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ถือว่าเป็นวาระของชาติ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก็เป็นหนึ่งในเครือข่ายที่ทำงานในฐานะที่จะเป็นครูที่จะมองเรื่องของเด็ก แต่แน่นอนการที่มองหาเด็กผู้ที่เป็นผู้เสพนั้นก็คงต้องกลับไปดูตั้งแต่เรื่องของสาเหตุมากกว่าว่าสาเหตุคืออะไร หรือแม้กระทั่งว่าวันนี้เราได้เห็นตัวเลขเด็กไทยที่ท้องก่อนวัยอันควร ซึ่งตรงนี้เองเราก็ไม่อยากมองแค่ว่าการที่จะอยากลดแค่ปริมาณปลายทาง แต่ต้องกลับไปดูตั้งแต่ต้นทางว่าทำอย่างไรจะให้เด็กนั้นได้เข้าใจสิ่งที่ถูกต้องและเด็กจะมีวิธีการในการป้องกันตัวเองได้อย่างไร และปัญหาสังคมที่เริ่มต้นเราจะร่วมกันแก้ไขอย่างไร นี่คือสิ่งที่ตนเรียนว่าการที่เราบอกว่าเรามี ไอคิว และ อีคิว อย่างเดียวก็เชื่อว่าในอนาคตคงไม่เพียงพอคงต้องดูในส่วนอื่นด้วย ตรงนี้ก็จะทำควบคู่กันไป เพราะว่าเทคโนโลยีเข้ามามาก บางทีสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็ทำให้คนอาจจะมีความคิดหลากหลาย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องกลับย้อนสู่เรียกว่ากลับเข้าสู่แบ็กทูเบสิค (back to basic) บ้าง เอาตัวเด็กเป็นศูนย์กลาง

เมื่อถามถึงการให้ความสำคัญแก่เด็กพิการหรือกลุ่มเด็กพิเศษ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนตัวมองว่าเด็กที่เป็นเด็กพิเศษ เด็กด้อยโอกาส หรือเด็กพิการต่าง ๆ นั้น จริง ๆ เรามองเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่สามารถที่จะเข้าเรียนตามห้องเรียนปกติได้ เราก็อยากเห็นโรงเรียนรับน้อง ๆเข้าเหมือนเด็กปกติบ้าง แต่ถ้าบางกลุ่มที่ต้องให้การดูแลพิเศษอันนี้ก็แน่นอนภาครัฐต้องหาบุคลากร ซึ่งวันนี้ทุกฝ่ายก็เริ่มให้ความสำคัญและต้องดูในส่วนนี้ด้วย แต่สำหรับเด็กกลุ่มนี้ตนก็เชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพและไม่ได้หมายความว่าเด็ก น้อง ๆ กลุ่มนี้จะเรียนไม่เก่ง แต่จริง ๆ แล้วการที่คนเราเก่งนั้นมีเก่งหลายวิธี บางคนอาจจะเก่งวิทยาศาสตร์แต่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ ซึ่งตรงนี้ถ้าเราดึงศักยภาพของเด็กได้ถูกวิธีแล้วเราอาศัยความรู้ความสนใจที่เด็กเป็นจุดศูนย์กลางนั้นมาในการขยายผลต่อ ดิฉันก็เชื่อว่าเราจะมีวิธีการในการพัฒนาได้มากขึ้นซึ่งวันนี้ต้องมาพูดคุยกันมากขึ้น ก็เป็นหนึ่งในแผนของรัฐบาลที่จะนำเข้าไปพิจารณาร่วมกันในการพัฒนาเรื่องการศึกษาอย่างยั่งยืนต่อไป

เมื่อถามถึงการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จริง ๆ ต้องบอกว่าการที่ประเทศจะเข้มแข็ง การที่ประเทศจะก้าวไปข้างหน้านั้น การลงทุนที่สำคัญคือการลงทุนในทรัพยากรคน ซึ่งวันนี้รัฐเองก็พยายามที่จะจัดสรรงบประมาณในการลงทุนทางด้านของคนมากขึ้น ปีนี้จะเป็นอีกหนึ่งในวาระสำคัญของรัฐบาลในปีที่ 2 ที่เราจะก้าวเข้าสู่การพัฒนาและการสร้างความสมดุล โดยเฉพาะการสมดุลทางด้านของทรัพยากรบุคคลซึ่งไม่ว่าจะเป็นส่วนของแรงงานหรือว่าทางด้านของเด็ก เยาวชน หรือนักศึกษาที่จบ ตรงนี้ก็คือเป็นสิ่งที่เราต้องพูดคุยกันระยะยาวและการแก้ปัญหาตนเองมองว่าจะไม่ได้แก้ปัญหาที่จุดใดจุดหนึ่ง เราอยากจะบูรณาการการแก้ปัญหาอย่างครบวงจรนั้นคือทางด้านของนักเรียน คุณครู โรงเรียน อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ และทางด้านของบรรยากาศของชุมชนที่เราจะมองทั้งระบบเข้าด้วยกัน ซึ่งตรงนี้ก็คงจะเห็นการประชุมมากขึ้นและมีจำนวนความถี่มากขึ้นก็จริง ๆ ก็ได้เปิดประชุมไปครั้งหนึ่งแล้วอย่างไม่เป็นทางการก็คงจะหารือกับผู้ที่มีประสบการณ์ในวงการศึกษาที่จะคอยให้คำแนะนำและข้อคิดต่าง ๆ ต่อไป

เมื่อถามถึงการดูแลบุตรชายของนายกฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่าสิ่งที่เราดูแลน้องไปป์อย่างวันเด็กวันนี้ ก็ดูแลอย่างที่บอกว่าน้องไปป์ไม่ได้บอกว่าวันเด็กเป็นวันพิเศษวันนี้วันเดียว แต่วันเด็กคือวันของลูกทุกวันเพราะแม่จะให้ความสำคัญกับลูก แต่วิธีการสอนลูกดิฉันเองก็สอนด้วยหลักคิดมากกว่าคือเราไม่สามารถจะไปบอกเขาได้ทุกข้อว่าเขาต้องทำอย่างไร แต่สิ่งที่จะบอกเขาได้คือสอนหลักให้เขาคิดและเขาได้ตัดสินใจและให้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด และสอนทางด้านของอารมณ์และหลักความคิดเมตตาธรรมสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ที่เราพยายามที่จะเสริมเข้าไป เพราะว่าวิชาการหรือวิธีเรียนเขาสามารถที่จะเรียนที่โรงเรียนกันได้แต่อาศัยความเป็นคนดี หรือการที่ทำให้น้องไปป์สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขและอย่างมีความสุข อันนี้ก็คงต้องเป็นหน้าที่ของแม่และหน้าที่ครอบครัวที่จะต้องสอนและเสริมสร้างต่อไป ส่วนการพูดคุยก็คือว่าหลังเลิกงานคือกลับบ้านก็จะพยายาม อะไรที่เป็นเรื่องส่วนตัวที่ต้องไปข้างนอกก็พยายามที่จะกลับบ้านให้เวลากับลูกก็จะเจอกับลูกก่อนนอน หรือถ้ามีภารกิจจนถึงดึกก็จะตื่นเช้าจะได้เจอลูก ถ้าวันไหนวันหยุดก็จะมีโอกาสไปส่งไปโรงเรียน ซึ่งช่วงหลังก็ไม่ค่อยได้มีโอกาสมีเวลาน้อยแต่เมื่อก่อนจะไปส่งลูกที่โรงเรียน ทั้งนี้น้องไปป์ไม่ได้ขออะไรในวันเด็ก เพราะแม่ก็ให้ความสำคัญกับเขาทุกวัน สิ่งที่เขาอยากได้จริง ๆ แล้วก็คือเวลาที่แม่ได้อยู่กับลูก ก็เคยได้ยินน้องไปป์พูดว่าวันนี้ไปป์มีความสุขเวลาที่แม่ได้นั่งอยู่กับเขา อันนี้คือสิ่งที่เราก็คงจะให้กับลูกตรงนี้เท่าที่เวลาทั้งหมดที่มี

"หน่วยเล็ก ๆ ตรงนี้ที่มองว่าไม่ใช่เป็นวัตถุแต่เป็นสิ่งที่จิตใจก็เหมือนเมล็ดพันธุ์เมล็ดหนึ่งที่เรากำลังเริ่มปลูกลงดิน แต่ถ้าเราให้ปุ๋ยอย่างถูกวิธีเมล็ดนี้ก็จะเติบโตเป็นต้นกล้าและเป็นต้นไม้ที่แข็งแรง เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ดิฉันให้ลูกก็คือว่าแม้ว่าการกอดลูก การสัมผัสกับลูกต้องให้ลูกได้รู้สึกว่าแม่กอดเพราะรักจริง ๆ ไม่ใช่กอดเป็นแค่รูปธรรมว่านี่คือการกอด นั้นคือสิ่งที่เราพยายามปลูกฝังกับลูกและต้องไปนั่งดูว่าลูกรู้สึกกับเราอย่างไร ไม่ใช่ว่าลูกต้องรู้หน้าที่ว่ามาถึงต้องมากอดแม่ไม่ใช่ นี่คือสิ่งพยายามที่จะเสริม เพราะว่าที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างเช่นเรื่องเทคโนโลยี เรื่องเกมส์ เรื่องอะไรต่าง ๆ บางครั้งเด็กจะใช้เรื่องเทคโนโลยีมากแต่ลืมทางด้านของการสัมผัส ดิฉันเองก็พยายามที่จะสร้างความสมดุลตรงนี้ด้วย" นายกรัฐมนตรีกล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น