xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบ “บ้านมั่นคง” บุกทำเนียบ จี้หยุดโอนย้าย “เอื้ออาทร” ชี้ไม่ได้สร้างเพื่อรากหญ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ชุมนุมสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ กว่า 1 พันคน ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมกับดำเนินการโครงการบ้านมั่นคง หยุดโอนย้ายไปที่บ้านเอื้ออาทร การเคหะแห่งชาติ ชี้ไม่ได้สร้างเพื่อรากหญ้า ต้องมีรายได้ประจำ-สลิปเงินเดือน ด้านฝั่งรัฐบาลยัน รมว.พม.บอกไม่มีการโอนย้าย และมีงบหนุนแน่นอน











วันนี้ (7 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) พร้อมมวลชนกว่า 1 พันคน เดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามความคืบหน้าจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หลังจากที่เคยยื่นหนังสือเสนอให้แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว เมื่อเดือน ต.ค. 2555 ที่ผ่านมา โดยมวลชนมีการกระจายตัวปิดเส้นทางจราจรบริเวณถนนพิษณุโลก ตั้งแต่สะพานชมัยมรุเชฐ ถึงแยกมิสกวัน 1 ช่องทาง รวมมีการตั้งเวทีปราศรัยชั่วคราวด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล ท่ามกลางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำนวน 155 นาย คอยดูแลรักษาความสงบบริเวณรอบๆ ทำเนียบรัฐบาล

นายพรเทพ บูรณบุรีเดช ผู้ประสานงานสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) กล่าวว่า นอกเหนือจาการติดตามข้อเสนอให้แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นวาระแห่งชาติแล้ว ทาง สอช.ต้องการตามติดกรณี “โครงการบ้านมั่นคง” เป็นพิเศษด้วย เราต้องการเรียกร้องต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้ดำเนินการโครงการบ้านมั่นคงต่อ เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนรากหญ้า และลดปัญหาชุมชนแออัดอย่างแท้จริง โดยการชุมนุมในวันนี้ สอช.ทราบว่าจะมีการประชุมด้านยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจึงต้องการผลักดันให้โครงการบ้านมั่นคงเข้าเป็นเรื่องที่รัฐบาลประชุมหารืออีกหนึ่งเรื่อง ซึ่งทาง สอช.จะปักหลักชุมนุมอย่างสงบต่อไปจนถึงวันพรุ่งนี้ (8 ม.ค.) เพื่อรอดูว่ารัฐบาลจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม ครม.หรือไม่

“ต้องการให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ดำเนินการโครงการบ้านมั่นคงต่อไป ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) แทน “โครงการบ้านเอื้ออาทร” ของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เนื่องจากโครงการบ้านมั่นคงเป็นโครงการที่ให้การสนับสนุนคนจนและคนรากหญ้าอย่างแท้จริง ทำให้คนจนมีที่อยู่อาศัย สามารถสร้างบ้านได้เองตามวงเงินที่กำหนด โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ พอช.เข้ามาช่วยควบคุมดูแลการสร้างบ้าน ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการสร้าง แต่โครงการบ้านเอื้ออาทรนั้น ไม่ได้สร้างเพื่อคนรากหญ้าอย่างแท้จริง เนื่องจากผู้ที่สามารถเข้าไปอยู่ในบ้านเอื้ออาทรได้ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ เนื่องจากต้องทำการผ่อนซื้อเป็นรายเดือนและต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ประจำ ซึ่งคนรากหญ้าส่วนใหญ่ไม่ได้ประกอบอาชีพประจำและไม่มีเงินเดือนประจำ จึงทำให้ไม่สามารถเข้าไปอยู่ในโครงการบ้านเอื้ออาทรได้” นายพรเทพกล่าว

นายพรเทพกล่าวต่อว่า ส่วนข้อสุดท้ายที่คือต้องการให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปลี่ยนทัศนะคติในการทำงาน โดยลงมาทำความคุ้นเคยและรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านให้มากขึ้น หรือถ้าหากเปลี่ยนตัว รมว.พม.ได้จะยิ่งดีมาก

อย่างไรก็ตาม นายสุพร อัตถาวงศ์ ในฐานะรองเลขาธิการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับเรื่องร้องเรียนและได้เจรจากับตัวแทนกลุ่ม สอช.จำนวน 9 คน โดยมีตัวแทนจากคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์แห่งชาติเข้าร่วมเจรจาด้วย ซึ่งนายอนุสรณ์ เทียนทอง ผู้อำนวยการนโยบายและยุทธศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า รมว.พม.ได้ยืนยันแล้วว่าจะไม่มีการโอนย้ายโครงการบ้านมั่นคงไปอยู่ในความดูแลของการเคหะแห่งชาติ และยังคงใช้งบประมาณจาก พอช. เช่นเดิม ส่วนยุทธศาสตร์ 5 ปี ของ พม.นั้นยืนยันว่าจะมีงบประมาณในการสนับสนุนแน่นอน

ด้านนายสุพรกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถนำเรื่องดังกล่าวเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีได้ เนื่องจากมีการหารือกันภายในเท่านั้น จะต้องใช้เวลาในการหารือกับทุกภาคส่วนให้แล้วเสร็จก่อน และจะเร่งรัดให้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่ทำกินโดยเร็ว

ขณะที่ น.ส.วารี (สงวนนามสกุล) อายุ 28 ปี ชาวบ้าน ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ที่ประกอบอาชีพประมง กล่าวว่า ตนเองได้ออมเงินในสหกรณ์ชุมชนเพื่อเตรียมซื้อบ้านในโครงการบ้านมั่นคง แต่การที่จะโอนย้ายการดูแลไปยังการเคหะแห่งชาตินั้น ทำให้ผู้ที่ไม่มีเงินเดือนประจำซึ่งจะต้องยื่นสลิปเงินเดือนต่อการเคหะแห่งชาตินั้นได้รับผลกระทบทั้งหมด ซึ่งคนหาเช้ากินค่ำ ทำประมง จะมีสลิปเงินเดือนได้ยังไง แบบนี้ความฝันเราก็สลายเลย เราก็อยากจะมีบ้าน มีทะเบียนบ้านเป็นของตัวเอง ตอนนี้เช่าที่คนอื่นเขาอยู่ จะมาไล่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ยังดีเจ้าของเขาใจดี

ส่วนนางอัญชลิกา สีสว่าง อายุ 42 ปี ประกอบอาชีพค้าขายจาก จ.นนทบุรี กล่าวว่า โครงการบ้านมั่นคงเป็นโครงการที่ประชาชนช่วยกันบริหารจัดการด้วยตัวเอง ทำให้รู้และเข้าใจปัญหาของประชาชน แต่การโอนการดูแลทำให้ประชาชนไม่สามารถแก้ปัญหาหรือจัดการกันเองได้ ที่มากันวันนี้มีทั้งคนเก็บขยะ คนขายไก่ย่างตามรถไฟ จบแค่ ป.4 เราจะมีเงินเดือนได้อย่างไร



















กำลังโหลดความคิดเห็น