xs
xsm
sm
md
lg

สื่อสภาตั้งฉายาปี 55 “สภาจองล้างจ้องผลาญ” - “วิสุทธิ์” ดาวเด่น ไร้คนดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหตุการณ์ความวุ่นวายระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองฯ เมื่อวันที่ 31 พ.ค.55
สื่อมวลชนรัฐสภาตั้งฉายาปี 55 ชี้ “พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง” เหตุการณ์แห่งปี “เหลิม” รับวาทะแห่งปี-เต็มใจเป็นขี้ข้า ฉายาสภา “จองล้างจ้องผลาญ” ฉายาวุฒิสภา “ตะแกรงเลือกร่อน” ประธานสภา “ค้อนน้อย..หมวกแดง” ประธานวุฒิสภา “ผลัดไม้ สุดท้าย” ผู้นำฝ่ายค้าน “หล่อ รับ เละ” ด้าน “วิสุทธิ์” คว้าดาวเด่น “จ่าประสิทธิ์-หมอวรงค์-เจ๊โอ๋” ดาวดับ คู่กัด “ชูวิทย์-เฉลิม” ไร้คนดีศรีสภา

วันนี้ (28 ธ.ค.) ที่รัฐสภา สื่อมวลชนสายรัฐสภาได้เปิดเผยฉายาสภาฯ ปี 2555 ตามธรรมเนียมปฏิบัติของทุกปี สื่อมวลชนประจำรัฐสภาได้ระดมความเห็นในการตั้งฉายาผู้ที่ทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงภาพการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยในรอบปี 2555 สื่อมวลชนประจำรัฐสภา เล็งเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านการเมืองของประเทศ พร้อมกันนี้ยืนยันว่าการตั้งฉายาดังกล่าวได้ใช้เหตุผล ความบริสุทธิ์ใจ ปราศจากการแทรกแซงจากทุกฝ่าย และการพิจารณาทั้งหมดได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของสื่อมวลชนประจำรัฐสภา โดยผลการพิจารณามีดังต่อไปนี้

1. เหตุการณ์แห่งปี : “พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง” ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ไม่น่าจดจำ เมื่อเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายในสภาผู้แทนราษฎรอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน สืบเนื่องมาจากการเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ จำนวน 4 ฉบับ โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และคณะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีสาระสำคัญเพื่อล้มล้างผลพวงจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 แต่ปรากฏว่าเกิดกระแสต่อต้านจากทั้งภายในและนอกสภา โดยในสภาฯ พรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงการคัดค้านในระหว่างการประชุมสภาฯ วันที่ 30-31 พ.ค. 2555 ถึงขั้นขว้างปาสิ่งของ หรือภาพการเข้าไปฉุดกระชากลากตัวประธานสภาฯ ลงจากบัลลังก์เพื่อยับยั้งการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว สร้างความเสื่อมเสียให้แก่รัฐสภาอย่างหนัก

2. วาทะแห่งปี : “เต็มใจเป็นขี้ข้า” เป็นคำพูดของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2555 เพื่อตอบโต้นายสาทิตย์ วงศ์หนอง ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ หลังจากอภิปรายพาดพิงว่าการละเว้นเพิกเฉยต่อการดำเนินการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เหมือนกับเป็นขี้ข้า ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิมลุกขึ้นชี้แจงว่า “ผมเป็นขี้ข้า แต่เสียใจหน่อยคุณสาทิตย์รู้ช้า ก็เป็นมานานแล้ว แต่ผมไม่เห็นเสียหายเลย ผมเต็มใจ” จากวิวาทะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของ ร.ต.อ.เฉลิมได้อย่างมีนัยสำคัญทางการเมือง

3. ฉายาสภาผู้แทนราษฎร : “จองล้าง... จ้องผลาญ...” ภาพรวมการทำงานของสภาฯ ปี 2555 ที่ผ่านมาพบว่า ทั้งในวงประชุมสภาฯ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถือเป็นคู่แค้นทางการเมือง ต่างเสนอญัตติหรือยื่นเรื่องให้คณะกรรมาธิการที่เป็นพรรคพวกเดียวกันตรวจสอบฝ่ายตรงข้าม รวมถึงตั้งกระทู้ถามสดเพื่อโยงไปหาข้อผิดพลาด ข้อบกพร่องของอีกฝ่าย ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการจ้องจะล้างแค้นซึ่งกันและกัน ขณะที่ “จ้องผลาญ” คือการผลาญงบประมาณแผ่นดิน ภาพที่เห็นชัดเจน คือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 55 และปี 56 ที่ ส.ส.จ้องจัดสรรงบฯ ให้พวกตัวเอง และการจัดทริปดูงานต่างประเทศของกรรมาธิการชุดต่างๆ ซึ่งการไปดูงานต่างประเทศของกรรมาธิการแต่ละชุด ล้วนทราบกันดีว่าเป็นการไปเที่ยวพักผ่อน มากกว่าที่จะไปดูงานเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างแท้จริง

4. ฉายาวุฒิสภา : “ตะแกรงเลือกร่อน” ภาพรวมการทำหน้าที่ของวุฒิสภาตลอดปี 2555 ยังคงมีการแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน แม้ว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันจะกำหนดบทบาทวุฒิสภาให้ทำหน้าที่หลักๆ คือ การกลั่นกรองกฎหมาย ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน การแต่งตั้งและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ แต่ปรากฏว่า การทำงานในรอบปีที่ผ่านมากลับไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกลุ่ม 40 ส.ว.แม้บางครั้งจะทำงานมุ่งเน้นการตรวจสอบ แต่ก็ยังเป็นที่คลางแคลงใจว่ามีวาระซ่อนเร้นต่อฝ่ายการเมืองหรือไม่ เห็นได้จากการพฤติกรรมที่พุ่งเป้าไปยังรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อฟื้นฟูน้ำท่วมปี 2554 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และโครงการรับจำนำข้าว โดยส่อเจตนามุ่งโจมตีรัฐบาล ขณะที่ ส.ว.อีกกลุ่มก็พยายามออกแรงช่วยรัฐบาลอย่างเต็มที่ ถึงขนาดต้องแยกยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 171 เป็น 2 ญัตติจาก ส.ว.2 กลุ่ม ทั้งที่เป็นเรื่องทำนองเดียวกัน สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นเอกภาพ ไม่เป็นหนึ่งเดียว จึงเปรียบเหมือนกับ “ตะแกรง” ที่เลือกร่อน เฉพาะสิ่งที่ตัวเองต้องการ ภาพจึงออกมาคือ ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบฝ่ายการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะมากกว่า

5. ฉายาประธานสภาผู้แทนราษฎร - สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ : “ค้อนน้อย...หมวกแดง” เจ้าของฉายา “ค้อนปลอมตราดูไบ” เมื่อปี 2554 มาในปี 2555 ประธานสภาฯ ได้รับฉายา “ค้อนน้อยหมวกแดง” ด้วยเหตุผลที่ไม่สามารถแสดงผลงานให้เห็นว่าตัวเองเป็นขุนค้อนที่น่าเกรงขามได้เหมือนอดีต ในทางกลับกัน มีข้อครหาเรื่องความเป็นกลางหลายครั้งเกี่ยวกับการวินิจฉัยข้อขัดแย้งในสภาฯ ผนวกกับมีกรณีคลิปเสียงความยาวกว่า 20 นาทีสร้างความกระฉ่อนในทางการเมืองว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีส่วนเกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาด้วยการใช้งบประมาณไปดูฟุตบอลในประเทศอังกฤษ ยิ่งตอกย้ำว่าประธานสภาฯ กลายเป็นขุนค้อนที่ขาดความศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นแค่ค้อนน้อยที่สวมหมวกแดง แทนการสวมหมวกของประมุขในฝ่ายนิติบัญญัติ

6. ฉายาประธานวุฒิสภา - นิคม ไวยรัชพานิช : “ผลัดไม้สุดท้าย” นับว่าได้ตำแหน่งประธานวุฒิสภามาอย่างเหลือเชื่อ เนื่องจากนิคม ไวยรัชพานิช เคยทำใจแล้วว่าคงไม่สามารถก้าวถึงตำแหน่งสูงสุดในสภาสูงได้ในวาระที่เหลืออีกประมาณ 2 ปี หลังจากเคยมีความพยายามหลายครั้ง แต่เมื่อ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ต้องตกจากเก้าอี้ประธานวุฒิสภา ในคดีออกระเบียบขึ้นเงินเดือนและค่าตอบแทนให้ตัวเอง สมัยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ทำให้นายนิคมซึ่งทำหน้าที่รองประธานวุฒิสภามานานเกือบ 4 ปี ขอลงท้าชิงเก้าอี้ผู้นำสภาสูงเป็นครั้งที่ 2 และสามารถเอาชนะคู่แข่งไปได้ขาดลอย วุฒิสภาจึงเกิดการผลัดขั้วการเมืองครั้งใหญ่จากสายสรรหามาเป็นสายเลือกตั้ง ก่อนที่ ส.ว.เลือกตั้งจะหมดวาระลงในช่วงต้นปี 2557

7. ฉายาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : “หล่อ รับ เละ” ต้องยอมรับว่าบทบาทการทำหน้าที่ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในรอบปีที่ผ่านมาไม่ได้โดดเด่นเท่าที่ควร อาจเพราะตกอยู่ในสภาพต้องคดีทางการเมือง เช่น คดี 91 ศพจากการชุมนุมทางการเมือง โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สั่งฟ้องพร้อมกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถูกคำสั่ง รมว.กลาโหมถอดยศว่าที่ร้อยตรี นอกจากนั้นยังมีปัญหาภายในพรรคมาคอยรบกวน เรียกว่าทุกปัญหาพุ่งเป้ามาที่ตัวนายอภิสิทธิ์ ขณะที่บทบาทการควบคุมลูกพรรคกับการทำหน้าที่ในสภาฯก็ไม่แสดงให้เห็น ขนาดลูกพรรคสร้างภาพลักษณ์ให้รัฐสภาเสื่อมเสียก็ยังออกมาแถลงสนับสนุน รวมถึงช่วงเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ยังมอบบทบาทการนำให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้านแทนทั้งหมด จึงเปรียบเหมือนนายอภิสิทธิ์ที่มีหน้าตาดูว่าหล่อเหลา แต่ช่วงปีที่ผ่านมาถูกมรสุมการเมืองรุมถล่มจนเละ

8. ดาวเด่น : วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย ฐานะรองประธานสภาฯ คนที่ 2 มีไม่บ่อยครั้งนัก ที่ผู้นำหน้าที่ประธานควบคุมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครัฐบาลจะได้รับ ความชมถึงความเป็นกลางพรรคฝ่ายค้าน แต่นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาฯ ได้รับเกียรตินั้น ด้วยการทำหน้าที่ที่สามารถผ่อนหนักผ่อนเบา ช่วยให้อารมณ์การประชุมที่กำลังดุเดือดลดลง ประกอบกับแสดงท่าทีตำหนิ ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคเดียวกันที่แสดง กิริยาที่ไม่เหมาะสมกลางสภาฯ หลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา กลายเป็นเครื่องการันตีว่ารองประธานสภาฯ ที่ชื่อวิสุทธิ์ท่านนี้เหมาะสมแก่การรับรางวัลดาวเด่นในที่สุด

9. ดาวดับ : จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย - นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ - น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ บทบาทการทำหน้าที่ของ ส.ส.ควรจะมีทั้งคุณวุฒิ และวัยวุฒิ เพราะสภาฯ ถือเป็นเวทีที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันว่าจะเป็นสถานที่ที่ใช้แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างก็พูดว่าควรใช้รัฐสภาแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศ แต่จากพฤติกรรมของ ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ ประกอบด้วย จ.ส.ต.ประสิทธิ์-นพ.วรงค์-น.ส.รังสิมา ที่แสดงพฤติกรรมกลางที่ประชุมสภาฯ ให้เห็นถึงความหยาบคาย ทั้งทางวาจาและพฤติกรรมที่แสดงออกมา อาทิ การกล่าวผรุสวาท รวมไปถึงการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ถ่อย เถื่อน รวมถึงการขว้างปาสิ่งของ และลากเก้าอี้ประธานสภาฯ ทำให้ภาพพจน์ของสภาฯเสื่อมเสียอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งนักข่าวรัฐสภาต้องการสะท้อนมุมมองให้เห็นว่าพฤติกรรม ลักษณะเช่นนี้ไม่เป็นที่พึ่งหวังของประชาชนได้

10. คู่กัดแห่งปี : นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ vs ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในอดีตเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่หลังจากที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทยและได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ขณะที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้เข้าสภาฯอีกสมัยในนามหัวหน้าพรรครักประเทศไทย และประกาศตัวชัดเจนยืนยันจะทำหน้าที่ในบทบาทพรรคฝ่ายค้าน ทำให้บทบาทของทั้งคู่ที่แสดงออกในสภาในรอบปีที่ผ่านมากลายมาเป็นฝ่ายตรงข้ามกัน นายชูวิทย์ได้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องในความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการนำคลิปภาพมาฉายกลางห้องประชุมสภาฯ แฉการเปิดบ่อนการพนัน แหล่งอบายมุขที่เปิดราวดอกเห็ด ซึ่งมี ร.ต.อ.เฉลิมคอยกำกับดูแล สตช.อยู่ ทำให้ทั้งคู่เกิดการโต้เถียงกันในสภาฯ หลายครั้ง จึงได้รับฉายาคู่กัดแห่งปี

11. คนดีศรีสภา: งดการเสนอชื่อบุคคล ตำแหน่งคนดีศรีสภาประจำปี 2555 สื่อมวลชนประจำรัฐสภามีความเห็นร่วมกันว่า ยังไม่มีบุคคลที่เหมาะสมที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าว ถึงแม้จะมี ส.ส.และส.ว.หลายคนแสดงบทบาทการเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย นำเสนอปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนสะท้อนผ่านเวทีรัฐสภา โดยเฉพาะกับเหตุการณ์น้ำท่วม แต่นั่นถือเป็นหน้าที่โดยตรงของผู้ที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ซึ่งนิยามคำว่าคนดีศรีสภา ควรเป็นการแสดงบทบาทของคนดีให้เป็นที่ประจักษ์อย่างเห็นได้ชัด แต่ในรอบปีนี้สื่อมวลชนประจำรัฐสภายังไม่เห็นมีใครเหมาะสม จึงมีความเห็นร่วมกันของดการมอบตำแหน่งคนศรีสภาประจำปี 2555


กำลังโหลดความคิดเห็น