“นายกฯ ยิ่งลักษณ์” นำ รมต.บินอินเดียประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย สมัยพิเศษ ยอมรับกังวลเสียงประชามติแก้ รธน.ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง รอข้อสรุปจากคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติอีกครั้งก่อนตัดสินใจ ระบุ “พงศพัศ” เป็น 1 ในแคนดิเดตที่ พท.เล็งส่งชิงผู้ว่าฯ กทม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้ (20 ธ.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และผู้แทนภาคเอกชนจากหลายสาขาอุตสาหกรรม ร่วมเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย สมัยพิเศษที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ในโอกาสครบรอบ 20 ปีของการประชุมอาเซียน-อินเดีย สมัยพิเศษ และถือโอกาสเยือนสาธารณรัฐประชาชนบังคลาเทศอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 21-22 ธันวาคม
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวก่อนออกเดินทางว่า การประชุมครั้งนี้จะหารือถึงกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียน-อินเดีย ที่ครอบคลุมทั้งด้านการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดียได้โดยเร็ว รวมถึงเน้นการขยายความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานจากอาเซียนไปยังอินเดีย เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงทางบก ทางทะเล และทางอากาศ เพราะจะส่งผลดีต่อภาคการขนส่งสินค้าและลดต้นทุน ขณะเดียวกันจะมีการหารือถึงความร่วมมือด้านสังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศด้วย
“นอกจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อเดินหน้าตามกรอบที่ได้วางไว้เพื่อให้เป็นรูปธรรม รวมถึงจัดทำแผนแม่บทเชื่อมต่อเส้นทางการลงทุน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยอย่างมาก และที่สำคัญจะใช้เวทีนี้เร่งเจรจาเขตการค้าเสรี ทั้งกรอบการเจรจาอาเซียนกับอินเดีย และไทยกับอินเดีย รวมถึงการมีส่วนร่วมในความร่วมมือระหว่างไทย-อินเดียด้วย”
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้มีข้อเสนอจากหลายฝ่าย อย่างเช่นกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย ที่จะให้มีการทำประชามติ ซึ่งก็เป็นอีกข้อเสนอหนึ่งที่ต้องรับฟัง แต่ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ไปศึกษาแต่ละแนวทาง รวมถึงขั้นตอนและรายละเอียด เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการทำประชามติ รวมถึงระยะเวลาในการทำงานด้าน ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป และเป็นทางออกของประเทศ
ส่วนข้อกังวลในเรื่องจะไม่ได้จำนวนเสียงที่จะต้องเกินกึ่งหนึ่งของการทำประชามตินั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จำนวนเสียงเป็นส่วนหนึ่งในข้อห่วงใย แต่ทั้งนี้จะต้องรอข้อสรุปจากคณะกรรมการฯ รวมถึงต้องดูในเรื่องหัวข้อการทำประชามติที่จะต้องมีการหารือในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประธานวุฒิสภา ประธานสภา ซึ่งรัฐบาลเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องการเห็นทางออกของประเทศ ซึ่งตามหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นของรัฐสภา รัฐบาลทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ แต่การพูดคุยก็เพื่อต้องการเห็นทางออกมากกว่า
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขณะนี้ ร.ต.อ.เฉลิมยังไม่ได้ส่งคำแนะนำในการทำประชามติ แต่ทั้งนี้มีหลายความคิดเห็นที่แสดงออก แต่ย้ำว่ารัฐบาลจะทำหน้าที่เสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม และให้เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตย ส่วนจะถือว่าเป็นการเข็นครกขึ้นภูเขาหรือไม่นั้น เป็นเพียงของเสนอของ ร.ต.อ.เฉลิม ซึ่งต้องรอให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวทำงานก่อน ขณะเดียวกันย้ำว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะในแนวทางใดก็ต้องใช้เวลา
สำหรับการคัดเลือกตัวบุคคลลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในส่วนของพรรคเพื่อไทยนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว แต่ยอมรับว่ามีแคนดิเดต หลายคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ส่วนจะเป็น พล.ต.อ.พงศพัศ พงศ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดก็เป็นคนมีความรู้ความสามารถ แต่จะระบุได้เมื่อไหร่นั้นต้องรอมติจากการประชุมพรรค