xs
xsm
sm
md
lg

กกต.แจงข้อ กม. ยันมีอำนาจสอบทุจริต-แจ้ง ตร.ดำเนินคดี ห้ามรัฐชี้นำออกเสียงประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กกต.ชี้หากทำประชามติแก้ รธน. รัฐมีหน้าที่อธิบายสาระสำคัญการทำประชามติแต่ต้องไม่ชี้นำ ขณะที่ กกต.มีหน้าที่แค่เผยแพร่กระบวนการออกเสียง พร้อมระบุหากพบทุจริต-ร้องเรียน มีอำนาจตรวจสอบ ก่อนส่งเรื่องให้ตำรวจดำเนินคดี

วานนี้ (19 ธ.ค.) นายเกรียงไกร พานดอกไม้ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการเมืองและการออกเสียงประชามติ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความแตกต่างการจัดทำประชามติระหว่างหน่วยงานของรัฐกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า หากดูตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 มาตรา 10 ได้ระบุให้หน่วยงานของรัฐ รับผิดชอบในเรื่องการจัดทำประชามตินั้น หมายถึงหน่วยงานของรัฐที่รัฐบาลมอบหมายดำเนินการ เช่น สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำประชามติ ทั้งชื่อเรื่องในการจัดทำประชามติต้องอธิบายให้ประชาชนทราบ รวมถึงเหตุผลในการจัดทำว่ามีความสำคัญหรือมีประโยชน์กับประเทศอย่างไร โดยต้องมีการส่งข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับหัวข้อจัดทำประชามติไปตามบ้านที่มีผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติอาศัยอยู่ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ตามสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับหัวข้อในการจัดทำ

อย่างไรก็ตาม การให้ข้อมูลหน่วยงานของรัฐต้องให้ข้อมูลอย่างเป็นกลาง ต้องบอกถึงข้อดีข้อเสียของการจัดทำประชามติโดยต้องไม่มีการชี้นำประชาชนให้ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งการจัดทำประชามติ เมื่อเดือน ส.ค. ปี 2550 ส.ส.ร.เป็นตัวหลักในการดำเนินการให้ข้อมูลการจัดทำประชามติ

นายเกรียงไกรกล่าวว่า เมื่อรัฐบาลมีประกาศให้ออกเสียงประชามติ กกต.เป็นผู้ที่จะดำเนินการเผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนในการออกเสียงประชามติว่ามีขั้นตอนอย่างไรเพื่อให้ประชาชนได้ทราบและเข้าใจ พร้อมทั้งจัดเวทีกลางเพื่อให้คนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการจัดทำประชามติมาแสดงความคิดเห็นโต้แย้งกันอย่างเป็นอิสระ โดยให้สถานีวิทยุและโทรทัศน์เป็นผู้เผยแพร่ ตามที่ กกต.ได้จัดสรรเวลาไว้ ซึ่ง กกต.มีหน้าที่เพียงเท่านี้ จึงไม่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ให้ประชาชนเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเกี่ยวกับการจัดทำประชามติ

ทั้งนี้ หากมีกรณีที่มีการทุจริตในการออกเสียงประชามติ หรือมีผู้ร้องเรียนเข้ามา ภายใน 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่การลงคะแนนออกเสียงสิ้นสุดลง กกต.มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน พร้อมทั้งมีคำสั่งให้ดำเนินการออกเสียงใหม่ในหน่วยออกเสียงนั้น ภายใน 30 วัน นับแต่วันออกเสียง อาทิ หากมีผู้ร้องเรียนว่าหน่วยออกเสียงประชามติใด ดำเนินการไม่สุจริต เที่ยงธรรม กกต.ก็มีอำนาจในการตรวจสอบ และสามารถแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดีตามกฎหมายได้ หรือถ้ากรณีใดเป็นคดีอาญา กกต.ก็สามารถส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการได้ทันทีตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552
กำลังโหลดความคิดเห็น