โฆษกรัฐบาลเผยนายกฯ เล่าเยือนพม่าเจรจาลงทุนค่อนข้างลงตัวสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย โยนเกษตร-พม.-ศธ.ดูคุณภาพชีวิตพม่า ไปบังกลาเทศ 21-22 ธ.ค. ระบุ ครม.เห็นชอบร่างเอกสารวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียน-อินเดีย ให้ กต.แก้ได้ไม่ต้องชง ครม.อีก เผยสำนักงานสถิติฯ แจ้งชาวบ้านจี้แก้ของแพง-หนี้สิน-ปราบยา-จราจร-ยากจน เป็นของขวัญปีใหม่ ไม่ถึงครึ่งของผลสำรวจยังเชื่อมั่นรัฐบาล
วันนี้ (18 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในที่ประชุมครม.ถึงการเดินทางไปเยือนพม่าเมื่อวานนี้ (17ธ.ค.) ซึ่งมีคณะนักธุรกิจเดินทางไปด้วยและการทำงานของคณะทำงานชุดต่างๆ ก็มีความคืบหน้าไปมาก และไทยกับพม่าก็มีการเจรจากันค่อนข้างลงตัวในหลักการใหญ่ๆ และตอนนี้ที่ต้องทำคือเรื่องของการลงทุน การเชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์จะชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งในปี 2557 จะเกิดท่าเรือขนาดเล็กขึ้นก่อนท่าเรือน้ำลึก เพื่อใช้ในเบื้องต้นในการขนส่งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะนำมาก่อสร้างท่าเรือใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ในปี 2558 เฟส 1 ของท่าเรือน้ำลึก และถนน 4 เลน ปี 2563 เฟสที่ 2 และโครงสร้างพื้นฐานจะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งถนนก็จะเป็น 8 เลน รวมทั้งความร่วมมือไทยกับพม่าในการสร้างคุณภาพชีวิตให้กับชาวพม่าที่อยู่ในพื้นที่นั้น นายกฯ ได้มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการไปช่วยกัน
นพ.ทศพรกล่าวต่อว่า เรากำลังจะเดินทางไปประเทศบังกลาเทศ ตามที่นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐบังกลาเทศ เชิญนายกรัฐมนตรีเยือนอย่างเป็นทางการในระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค. ซึ่งเป็นการเยือนในฐานะผู้นำรัฐบาลครั้งแรกของประเทศไทยในรอบ 8 ปี เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูต ในบังกลาเทศครบรอบ 40 ปี ซึ่งมีการเสนอร่างบันทึกความเข้าใจ และครม.ได้ให้ความเห็นชอบในบันทึกความเข้าใจและไม่ได้เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 โดยมีการเตรียมแถลงการณ์ร่วม สาระสำคัญคือความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุน และเรื่องความเชื่อมโยงเรื่องความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ด้านการศึกษา การติดต่อประชาชนกับประชาชน ความร่วมมือด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ ความร่วมมือในระดับภูมิภาค ความร่วมมือในระดับพหุภาคี
นพ.ทศพร แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบต่อร่างเอกสารวิสัยทัศน์ของผู้นำอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Vision Statement)และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก และให้นายกรัฐมนตรีร่วมรับรองเอกสารวิสัยทัศน์ของผู้นำอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Vision Statement)
นพ.ทศพรแถลงอีกว่า ครม.มีมติรับทราบผลการสำรวจความต้องการของประชาชนในปี 2556 ตามที่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เสนอ โดยกระทรวงไอซีทีรายงานว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจความต้องการของประชาชนในปี 2556 ซึ่งได้ดำเนินการสำรวจมาทุกปีเพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนได้สะท้อนปัญหาและความต้องการให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยข้อมูลที่จะได้เป็นประโยชน์ในการวางแผน และกำหนดนโยบายที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยทำการสำรวจทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีครัวเรือนที่ถูกเลือกเป็นตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 23,120 ราย โดยเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 1-12 ต.ค. 2555 ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
ในรอบปี พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา ประชาชนระบุว่า ชุมชน/หมู่บ้านได้รับความเดือดร้อน 5 อันดับแรก คือ ปัญหายาเสพติด น้ำท่วม ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หนี้สิน และการจราจรติดขัด โดยภาคกลาง และกรุงเทพมหานครได้รับความเดือดร้อนจากปัญหายาเสพติดมากที่สุดร้อยละ 35.3 และ 34.3 ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาผลผลิตการเกษตรราคาตกต่ำพบมากที่สุดในภาคใต้ และภาคเหนือ ส่วนปัญหาหนี้สินพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการในปี พ.ศ. 2556 ใน 5 อันดับแรก คือ การแก้ปัญหาของแพง การแก้ปัญหาหนี้สิน การแก้ปัญหายาเสพติด การแก้ปัญหาการจราจรติดขัด และการแก้ปัญหาความยากจน โดยในทุกภาคประชาชนเกือบครึ่งต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของแพงมากกว่าเรื่องอื่น
นอกจากนี้ เรื่องเร่งด่วนที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ในปี พ.ศ. 2556 ใน 5 อันดับแรก คือ การแก้ปัญหายาเสพติด รองลงมา ได้แก่ การแก้ปัญหาน้ำท่วม การแก้ปัญหาหนี้สิน การสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาการจราจรติดขัด
โดยประชาชนในภาคกลางและกรุงเทพมหานครต้องการให้รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในการแก้ปัญหายาเสพติดมากที่สุด ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการแก้ปัญหาหนี้สินมากกว่าเรื่องอื่น ส่วนภาคใต้ คือ การประกันราคาผลผลิตการเกษตรมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ประชาชนเกือบครึ่งระบุว่ามีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการช่วยเหลือ/แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน/พัฒนาประเทศให้ดีขึ้น โดยประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน/พัฒนาประเทศให้ดีขึ้นสูงกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 70.1) รองลงมาได้แก่ ภาคเหนือ (ร้อยละ 62.5) ภาคกลาง (ร้อยละ 58.6) และกรุงเทพมหานคร (ร้อยละ 49.1) ส่วนภาคใต้มีความเชื่อมั่นน้อยที่สุด คือ ร้อยละ 40.5 ทั้งนี้อาจเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้