xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ยก ครม.วันสต็อปเซอร์วิสบุกทวาย นายกฯ หรือผู้รับเหมาพิเศษ!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ผ่าประเด็นร้อน

ไม่น่าเชื่อว่านายกรัฐมนตรีของไทยอย่าง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมีความกระตือรือร้นกับโครงการพัฒนาและการเปิดประเทศของเพื่อนบ้านอย่าง “พม่า” เป็นพิเศษ เพราะในช่วงเวลาเพียงไม่สัปดาห์เท่านั้นที่เธอต้องมีคิวพบปะหารือกันโดยตรงกับผู้นำหรือตัวแทนของประเทศดังกล่าวมากมายอย่างผิดสังเกต

หากนับกันเฉพาะในช่วงวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมาก็มี ญาณ ทุน รองประธานาธิบดีพม่าเข้าพบหารือกับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งรองประธานาธิบดีคนดังกล่าวมีฐานะไม่ธรรมดาเพราะเป็น “ประธานคณะกรรมการดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษของพม่า” อีกด้วย

ถัดมาวันที่ 8 พฤศจิกายน “ทักษิณ ชินวัตร” นักโทษหนีคดี แต่เป็นพี่ชายของนายกรัฐมนตรีไทยได้เดินทางเข้าพม่าหารือกับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง พร้อมๆ กับ “ข่าวตลก” เรื่องลอบสังหาร ที่ถูกมองว่าเป็นการหาเหตุไม่อยากมาที่ท่าขี้เหล็กฝั่งตรงข้ามกับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เนื่องจากไม่อยากพบและตอบคำถามกับคนเสื้อแดงที่นั่น

จากนั้นในราววันที่ 9 พฤศจิกายน นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้พบกับประธานาธิบดีเต็ง เส่งของพม่าในระหว่างร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนกับประเทศมหาอำนาจที่มีสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เข้าร่วมประชุมด้วย ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา

และแน่นอนว่าการเดินทางเข้าพม่าของ ทักษิณ ในครั้งล่าสุดที่ผ่านมา หรือย้อนไปก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ ทักษิณ ไปเยือน ถัดมา ยิ่งลักษณ์ ก็ตามไปลงนาม โดยในครั้งนั้นส่วนใหญ่มีการตั้งข้อสงสัยในเรื่องผลประโยชน์ทางด้านพลังงาน เนื่องจากมีบริษัทเชฟรอน ของสหรัฐฯ และ ปตท.เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะการเดินทางไปแต่ละครั้งนอกเหนือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแล้วยังมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานร่วมด้วยทุกครั้ง

แต่ล่าสุดยังมีประเด็นผลประโยชน์ในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย “อภิมหาโปรเจกต์ที่มีมูลค่าเกิน 3 แสนล้านบาทเข้ามาเกี่ยวข้อง และนับวันยิ่งมีพิรุธเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากที่ผ่านมามี ทักษิณ เข้าไปเกี่ยวข้องชัดเจนมากขึ้น ทั้งในฐานะ “นายหน้าข้ามชาติ” ของธุรกิจพลังงานของสหรัฐอเมริกา ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเรื่องวิจารณ์เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนการใช้สนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น

การยกคณะรัฐมนตรีไปพม่าคราวนี้ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร หากพิจารณากันเฉพาะตำแหน่งเฉพาะรายบุคคลก็เรียกได้ว่าไม่ธรรมดา ถ้าจะให้เปรียบเทียบเหมือนกับไปอำเภอก็ต้องบอกว่าเป็นลักษณะ “วันสต็อปเซอร์วิส” กันเลยทีเดียว เพราะสามารถรองรับอนุมัติอนุญาตได้อย่างครบวงจรครบถ้วนในคราวเดียวกัน

เริ่มจากนายกรัฐมนตรีที่จะหารือกันกับผู้นำพม่าคือ ประธานาธิบดีเต็งเส่งแล้ว ยังมีรัฐมนตรีร่วมคณะคนอื่นๆที่เดินทางไปด้วย เช่น กิตติรัตน์ ณ ระนอง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งคนหลังสุดนี้ได้รับมอบหมายทำหน้าที่ประสานงานโครงการมาระยะหนึ่งแล้ว

เมื่อดูรายชื่อและตำแหน่งของแต่ละคนที่ร่วมเดินทางไปคราวนี้ทุกอย่างย่อมมีความหมายในตัวเองอยู่แล้วว่าจะต้องมีการเจรจาอนุมัติเงินกู้ อนุมัติก่อสร้าง ทั้งโครงการในด้านพลังงาน อุตสาหกรรม เส้นทางคมนาคมทั้งในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของพม่าและเชื่อมต่อมาถึงประเทศไทย ตามข้ออ้างการพัฒนาเศรษฐกิจเชื่อมโยงไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน หรือรองรับประชาคมอาเซียนในปี 2558 แต่คำถามก็คือการเจรจาและลงนามดังกล่าวมีความโปร่งใสหรือไม่ และใครที่ได้รับผลประโยชน์ รวมทั้งคำถามที่ว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดแค่ไหนที่ไทยต้องทุ่มเทกระตือรือร้นแบบออกหน้าออกตาจน “ผิดปกติ” อย่างที่เห็น

หรือสาเหตุที่ต้องเร่งรีบกันเป็นพิเศษเป็นเพราะต้องการประกันความชัวร์เอาไว้ก่อน การอนุมัติโครงการ อนุมัติงบประมาณและเริ่มเบิกจ่ายเอาไว้ก่อน ก่อนที่สถานการณ์เข้าสู่ช่วงชุลมุนตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบใหม่อีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า แต่ถึงอย่างไร ทั้งสองอย่างล้วนแล้วเกี่ยวข้องกับทักษิณ ชินวัตร และเครือข่ายใกล้ชิดล้วนๆ

และการนำคณะคณะรัฐมนตรีเดินทางไปพม่าของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ครั้งล่าสุดหากมองให้เห็นภาพแล้วก็ไม่ต่างจากหัวหน้าบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างที่รับงานโครงการโดยตรงจากพม่า ไปตรวจความคืบหน้าและยืนยันให้เห็นว่าเอาจริงเอาจังและเสร็จทันตามกำหนดแน่ อะไรประมาณนั้น!!
กิตติรัตน์ ณ ระนอง
 นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล
พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล
กำลังโหลดความคิดเห็น