xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียว 96 ล้านเยียวยาเกษตรกร-ยกเลิกจัดซื้อผลไม้ให้ผู้ต้องขัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
ครม.จัดงบฉุกเฉิน 96 ล้าน เยียวยาเกษตรกรประสบภัยแล้ง-ฝนทิ้งช่วง 11 จังหวัด ด้านประมง 12 จังหวัดเห็นชอบยกเลิกจัดซื้อผลไม้ให้ผู้ต้องขัง อีกด้านเห็นชอบปฏิญญาเวียงจันทน์ ยกระดับมุมมองมิติหญิงชาย-ความร่วมมือระหว่างสตรีในอาเซียน ตามที่ พม.เสนอ และเห็นชอบรายงานอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน

วันนี้ (4 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมประมง ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 96,267,386.50 บาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติและชาวประมงที่เรือประมงประสบภัยธรรมชาติ ในปี 2554-2555 ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ ทั้งนี้ เกษตรกรที่ประสบภัยด้านพืชจำนวน 3 ภัย คือ ภัยศัตรูพืชระบาด ภัยแล้ง และภัยฝนทิ้งช่วง ในพื้นที่ 11 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. กำแพงเพชร กาญจนบุรี เชียงราย น่าน นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ลพบุรี พะเยา สระบุรี และอุตรดิตถ์ โดยมีเกษตรกรได้รับผลกระทบจำนวน 13,213 ราย ในวงเงินความช่วยเหลือ 93,115,550 บาท

นายภักดีหาญส์กล่าวต่อว่า ส่วนเกษตรกรผู้ประสบภัยด้านประมงจำนวน 2 ภัย ได้แก่หอยแมลงภู่ตาย และภัยพายุและคลื่นลมแรง ในพื้นที่ 12 จังหวัด ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชุมพร ชลบุรี ตราด นครศรีธรรมราช ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ระนอง สงขลา สตูล และสมุทรสงคราม ที่มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 54 ราย เรือประมง 33 ลำ ในวงเงินขอรับความช่วยเหลือ 3,151,836.50 บาท โดยให้กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมประมงตรวจสอบเอกสารหลักฐานรวบรวมส่งสำนักงบประมาณ พร้อมทั้งจัดทำคำขออนุมัติจัดสรรงบประมาณในคราวเดียวกัน โดยให้ถือว่าคำดังกล่าวเป็นคำขออนุมัติจัดสรรงบประมาณของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ขณะเดียวกัน ครม.มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2552 เรื่องการจัดซื้อผลไม้และพืชอื่นที่รับประทานแทนผลไม้ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ สำหรับการจัดหาอาหารดิบ (อาหารดิบเป็นรายสิ่ง) สำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 กับองค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยวิธีกรณีพิเศษ ตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 26 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2555 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2556 นั้น มอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณาสิทธิพิเศษของหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจพิจารณาตรวจสอบสิทธิพิเศษต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยคำนึงถึงความจำเป็นและประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญก่อนนำเสนอ ครม.อีกครั้ง ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ

อีกด้านหนึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบปฏิญญาเวียงจันทน์ว่าด้วยการยกระดับมุมมองมิติหญิงชายและความร่วมมือระหว่างสตรีในอาเซียนเพื่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยสาระสำคัญของปฏิญญาเวียงจันทน์ว่าด้วยการยกระดับมุมมองมิติหญิงชายและความร่วมมือระหว่างสตรีในอาเซียนเพื่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันเพื่อส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของสตรีในด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนของอาเซียนผ่านความร่วมมือในกรอบต่างๆ ของอาเซียน และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนนำหลักการไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ จากการศึกษาร่างปฏิญญาฯ แล้วปรากฏว่าไม่ได้มีการใช้ถ้อยคำหรือบริบทใดที่เป็นการแสดงเจตนาอันจะก่อให้เกิดพันธกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศระหว่างกัน รวมถึงมติของการประชุมเป็นการใช้วิธีรับรอง (adopt) โดยไม่มีการลงนาม ดังนั้น ร่างปฏิญญาฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

ขณะเดียวกัน ครม.เห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรี จึงมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการเสนอรายงานดังกล่าว ทั้งฉบับภาษาอังกฤษและภาษาไทย ซึ่งอนุสัญญาดังกล่าวใช้กับประเทศไทยตั้งแต่ 1 พ.ย. 2550 ซึ่งพอครบวาระ 5 ปีแล้ว ตามสัญญาก็จะต้องมีการรายงานผลการดำเนินงานมา ซึ่งวันนี้ก็มีการรายงานมา ทั้งข้อมูลพื้นฐาน ประกอบไปด้วยข้อมูลโครงสร้างการเมือง หลักกฎหมายทั่วไปในให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หลักในกฎหมายอาญาและหลักกฎหมายวิธีพิจารณาตามอาญา สถานะของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ในกฎหมายภายในหลักประกันไม่สามารถยกเลิก เพิ่มถอนการห้ามการปฏิบัติหรือการลงโทษใดๆ ที่ทารุณโหดร้าย หรือทำให้เสื่อมเสียศักดิ์ศรี การนำข้อกำหนดในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานมาใช้โดยศาลหรือเจ้าพนักงานฝ่ายบริหาร และภาพรวมของการปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและปัญหาอุปสรรคต่างๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น