ปลัดสำนักนายกฯ เผย นายกฯ แต่งตั้ง มท.1 เป็นประธานแทน “ยงยุทธ” ส่วนมติที่ประชุม ปคอป.เตรียมขยายเสวนาหาทางออกประเทศ ของบเพิ่มจาก 90 เป็น 168 ล้าน ผุดเวทีจาก 60 เป็น 108 แห่ง ใช้วิทยากร 400 คาดเริ่ม ม.ค.ส่วนการเยียวยาจัดระบบ 8 ขั้นเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเผาเมือง 1.5 หมื่นราย สูงสุดจ่าย 2 ล้าน คาดใช้ไม่เกิน 2 พันล้าน
วันนี้ (16 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางการดำเนินงานจัดเวทีประชาเสวนา ตามที่คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) แถลงผลการประชุม ปคอป.ว่า ล่าสุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย เป็นประธาน ปคอป.แทน นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ที่ลาออกจากตำแหน่งโดยมีผลให้พ้นจากตำแหน่งประธาน ปคอป.ด้วย
นอกจากนี้ นายธงทอง ยังได้แถลงถึงมติที่ประชุม คปอป.เรื่องการเพิ่มเวทีประชาเสวนาหาทางออกประเทศไทยว่า จากการที่ได้ปรึกษาอาจารย์แต่ละมหาวิทยาลัย ได้ให้ความคิดเห็นว่าควรขยายเวทีการเสวนาจาก 60 เวที เป็น 108 เวที ซึ่งเป็นเวทีในต่างจังหวัด 100 เวที ส่วนอีก 8 เวที เป็นเวทีในกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะสามารถรองรับผู้เข้าร่วมได้ประมาณ 300-1,000 คน โดยจะมีวิทยากร จำนวน 400 คน แบ่งเป็นทีมทีมละ 20-25 คน ทำหน้าที่หมุนเวียนกันขึ้นเวที แต่ละทีมจะทำหน้าที่ขึ้นเสวนา 4-5 เวที ทั้งนี้ การเตรียมวิทยากรน่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน ธ.ค.นี้ และจะสามารถจัดเวทีเสวนาจริงได้ในช่วงกลางเดือน ม.ค.เป็นต้นไป ดังนั้นจึงต้องของบประมาณเพิ่มจากเดิม 60 เวทีที่ใช้งบประมาณ 90 ล้านบาท เป็น 108 เวที ที่ต้องใช้เพิ่มเติมจำนวนเงิน 78 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 168 ล้านบาท
นายธงทอง กล่าวต่อว่า ในส่วนของการเยียวยาผลกระทบจากผู้ชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี 48-53 ได้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ที่ถูกคุมขังและไม่ได้สิทธิประกันตัว โดยแบ่งเป็น 3 กรณี คือ ผู้ที่ถูกจับกุมและถูกคุมขังโดยที่ไม่ได้รับการประกัน และต่อมาอัยการไม่ฟ้อง กลุ่มสองคือ ผู้ถูกขังและส่งฟ้องศาลไม่ได้ประกัน ต่อมาศาลตัดสินยกฟ้อง และกลุ่มสุดท้ายผู้ถูกขัง แต่ศาลพิพากษาว่าผิด แต่เวลาที่ต้องรับโทษตามคำพิพากษาของศาลน้อยกว่าวันที่ถูกคุมขัง เช่น ถูกคุมขัง 6 เดือน แต่ศาลสั่งให้จำคุกจริง 2 เดือน ส่วน 4 เดือน ที่ถูกคุมขังถือเป็นความเสียหาย โดยทั้งสามกรณีจะได้รับค่าเยียวยาเป็นจำนวนเงิน 411 บาทคูณด้วยจำนวนวันที่ถูกคุมขัง
นอกจากนี้ ยังมีการช่วยเหลือเยียวยาอีกส่วนหนึ่งคือการเยียวยาทางจิตใจเฉพาะรายที่ถูกคุมขังเกินกว่า 90 วัน ซึ่งแบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีแรกถูกคุมขังเกินกว่า 90 วันแต่ไม่เกิน 180 วัน ได้รับค่าเยียวยาจิตใจเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 7.5 หมื่นบาท กรณีที่สองถูกคุมขังเกิน 180 วัน ได้รับค่าเยียวยาจิตใจเป็นจำนวนเงิน 1.5 แสนบาท แต่ถ้าถูกคุมขังไม่เกิน 90 วัน จะไม่ได้รับแค่เยียวยาทางด้านจิตใจแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ในส่วนกรมคุ้มครองสิทธิและแสรีภาพของกระทรวงยุติธรรมกำลังดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป
นายธงทอง กล่าวต่อว่า ส่วนอีกกลุ่มคือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบที่มีจำนวนประมาณ 1.5 หมื่นราย ทั้งนี้ ได้มีการชดเชยในเบื้องต้นแล้ว 3,000 รายๆ ละ 50,000 บาท ซึ่งยังไม่ทั่วถึงจึงเห็นว่าควรมีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด โดยกำหนดเป็นกรอบขั้นบันได 8 ขั้น ตามระดับความเสียหายตั้งแต่น้อยกว่า 1 แสนบาท เรื่อยไปจนถึง 5 ล้านบาทขึ้นไป โดยจะนำมูลค่าความเสียหายโดยเฉลี่ยตามที่ได้รับแจ้งเป็นตัวตั้งและจะชดเชยเป็นเงินร้อยละ 40 ของวงเงินดังกล่าว อาทิ ผู้ที่เสียหายน้อยกว่า 1 แสนบาท มีความเสียหายโดยเฉลี่ยประมาณ 2.5 หมื่นบาท จะได้รับเงินเยียวยา 1 หมื่นบาท เป็นต้น
ส่วนผู้ที่มีความเสียหายมากกว่า 5 ล้าน จะได้รับการเยียวยา 2 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพดานสูงสุดจะได้รับเงินเยียวยา เนื่องจาก ปคอป.มองว่า ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีศักยภาพในการฟื้นฟูตัวเอง และรัฐบาลไม่สามารถจะชดเชยได้ถึงร้อยละ 40 ของความเสียหายที่เสียไป เนื่องจากบางรายมีความเสียหายในหลักร้อยล้าน หรือพันล้าน โดยในส่วนของการเยียวยาผู้ประกอบการนี้ ปคอป.เตรียมขออนุมัติงบประมาณจาก ครม.เพื่อดำเนินการจำนวน 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ให้เร็วที่สุด