xs
xsm
sm
md
lg

แถจนถลอก! บก.ประชาไท อ้างร่วม “ทัวร์ค้อนปลอม” รำลึก “ฮิลส์โบโร” เทียบ “ม็อบแดงตาย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทความ “ทริปพาสื่อไปอังกฤษ..‘ซื้อใจตบรางวัล’ หรือ ‘ดูงาน’ ด้วยภาษีประชาชน?” ของนายประวิตร โรจนพฤกษ์
สื่อปีกแดงถลกขนกันเอง “ประวิตร” นักข่าวเนชั่น ถามทัวร์ค้อนปลอม ใช้ภาษีประชาชนติดสินบนสื่อหรือไม่ ตกลงไปดูงาน หรือท่องเที่ยว “ชูวัส” ฉุนโต้ อ้างรัฐสภาควรมีหน้าที่เปิดโอกาสให้การศึกษาสื่อมวลชน ลั่นไม่ได้ไปเที่ยว แถไปดูบอล คือ การดูงาน หยิบรำลึกเหตุการณ์ฮิลส์โบโร 96 ศพ โยงราชประสงค์ หน้าตาเฉย อ้างไปดูงานบีบีซีเรื่องธรรมดา แต่ชื่นชมศิลปะ บอกคนไทยห่างชั้น

เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์มีเดียอินไซด์เอาท์ ได้ตีพิมพ์บทความ “ทริปพาสื่อไปอังกฤษ..‘ซื้อใจตบรางวัล’ หรือ ‘ดูงาน’ ด้วยภาษีประชาชน?” ของ นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น โดยกล่าวถึงกรณีที่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ใช้งบประมาณกว่า 7 ล้านบาท พาคนใกล้ชิด พร้อมคณะสื่อมวลชน และคอลัมนิสต์ชื่อดัง ไปทัวร์ยุโรป ได้แก่ ประเทศอังกฤษ, ฝรั่งเศส และ เบลเยียม ระหว่างวันที่ 19-27 ก.ย.ตามโครงการดูงานรัฐสภา สื่อ และวิชาการ โดยอ้างถึงคำถามจากผู้ใช้นามแฝง @PongYing ในทวิตเตอร์ ที่ว่า “ทำไม [ประธานรัฐสภา] เชิญแต่สื่อค่ายประชาไท วอยซ์ทีวี ทำไมไม่เชิญสื่อค่ายผู้จัดการ แนวหน้า ไทยโพสต์ ไม่จริงใจนี่หว่า”

ทั้งนี้ นายประวิตร ถามว่า การจัดเดินทางท่องเที่ยวดูงานแบบนี้ ถือเป็นการพยายามตบรางวัลหรือติดสินบนสื่อ โดยใช้เงินภาษีประชาชนหรือไม่? ถึงแม้รัฐสภาจะมีงบที่สามารถจัดสรรนำมาใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ทริปนี้ที่มีสื่อมวลชนเข้าร่วมกว่าสามสิบชีวิต มีลักษณะผิดปกติอย่างน่าสังเกต เริ่มจากที่ว่าจำนวนสื่อที่อยู่ในลิสต์เชิญ 25 คน จาก 37 คนที่อยู่ในลิสต์ เป็นสื่อจาก Voice TV ซึ่งเป็นสื่อที่ถูกจัดอยู่ในฝ่ายที่เห็นใจสนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แถมเป็นสื่อของ นายพานทองแท้ ชินวัตร ลูกชาย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึง 4 คน อาทิ น้ำเพชร เชื้อชม, คมกริช สินภูมิศักดิ์, ชาคริต อ่อนน้อม และ ชัยธัช รัตนจันทร์ นี่ยังไม่รวมผู้ที่ไปจัดรายการ Wakeup Thailand ที่ Voice TV สองคน คือ ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บก.สำนักข่าวประชาไท และ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ แต่ไม่ใช่ลูกจ้างประจำ

และที่น่าสนใจ ไม่มีสื่อจากองค์กรไหนที่เป็นฝ่ายที่สังคมมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ไม่ว่า ไทยโพสต์ ASTV ผู้จัดการ หรือแม้กระทั่งโพสต์ทูเดย์ อยู่ในลิสต์รับเชิญ ส่วน อ.พิชญ์ ที่ถูกลิสต์ว่าเป็นคอลัมนิสต์ของคมชัดลึก ก็ได้ออกมาปฏิเสธผ่าน Facebook ว่า ไม่ได้ไปในนามหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ซึ่งเขาไม่ได้เป็นลูกจ้างประจำ หากไปในฐานะอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งเดียวในองค์กรสื่อที่ถูกจัดว่ามาจากองค์กรที่ถูกมองว่าไม่สนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือ นายนพภัฒน์จักร อัตตนนท์ จากเนชั่นทีวี - อย่างไรก็ตาม นายนพภัฒน์จักรตัดสินใจไม่ร่วมเดินทาง โดยอธิบายไว้ในทวิตเตอร์ @noppatjak ในวันที่ 21 กันยายนว่า: ‘ตอนแรกก็มองว่า น่าจะพอ “ได้งานกลับมา” เพราะจะได้ไปสภาและออกซฟอร์ด แต่พอเห็นตารางเต็มๆ ว่า มีพักผ่อนเยอะ เลยไม่ไป’ นี่ยังไม่รวมคำถามที่ว่า ถ้าเป็นทริปที่ใช้งบรัฐสภา ทำไมถึงไม่เชิญนักข่าวรัฐสภาไป? ที่สำคัญคือ กระบวนการเลือกเชิญสื่อ ไม่ชัดเจน ดูเหมือนมีการเลือกเชิญที่เน้นไปยังกลุ่มสื่อที่ถ้าไม่เชียร์ ก็เป็นมิตรกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์และเสื้อแดง

คำถามต่อมา คือ ตกลงเป็นทริปดูงานหรือท่องเที่ยว? ข่าวลงอย่างครึกโครมว่าทริปที่ใช้ภาษีประชาชนไป 7 ล้านบาท หรือประมาณ 180,000 บาทต่อหัวนี้ รวมถึงกินอาหารหรูๆ แถบ Bloomsbury และพักโรงแรมหรูสี่ดาว อย่าง Park Plaza Westminster ที่เห็นวิว Big Ben และรัฐสภาอังกฤษ รวมถึงมีเตียงที่ใช้ผ้าฝ้ายอียิปต์อย่างดีปู และราคาค่าที่พักในอินเทอร์เน็ต ณ วันที่ 24 กันยา 2555 ระบุว่า ราคาห้องตกคืนละ 9,516 บาท (ข้อมูลจากเว็บ hotel.com)

การนำคณะเข้าชมการแข่งขันฟุตบอล Premier League ถึงแม้จะมีการอ้างว่าเงินไม่ได้มาจากส่วนที่เป็นภาษีประชาชน เพราะมาจากเงินบริษัทเอกชน ก็ยังไม่เหมาะสม เพราะคนเหล่านั้นไปอังกฤษ และนอนพักด้วยเงินภาษีประชาชน และถึงแม้จะมีการเยี่ยมชมรัฐสภา สำนักข่าวบีบีซี และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด แต่เป็นการเยี่ยมชมแบบไม่กี่ชั่วโมง และไม่แน่ใจว่าจะเกิดประโยชน์คุ้มค่าเงินภาษีประชาชนได้อย่างไร นี่ยังไม่รวมการทานอาหารล่องแม่น้ำเซนน์ การเข้าชม The Louvre Museum แบบไม่กี่ชั่วโมง ที่ปารีส และการเยี่ยมชม Atomium ที่บรัสเซลล์ ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรเลยกับกิจการรัฐสภา จึงไม่มีอะไรรับประกันว่าภาษีประชาชนจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงได้อย่างไร

ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า การจัดท่องเที่ยว ‘ดูงาน’ อย่างอู้ฟู่ และฉาบฉวยเช่นนี้ เป็นการใช้งบแผ่นดินจากภาษีประชาชนอย่างไม่คุ้มค่า และขาดความโปร่งใส และเป็นธรรมต่อสื่อฝั่งที่ต่อต้านรัฐบาลและต่อนักข่าวสายรัฐสภา เข้าข่ายเป็นทริปตบรางวัล ติดสินบน หรือไม่ก็ซื้อใจสร้างความเกรงใจสื่อ สมควรที่องค์กรรัฐอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน จะตรวจสอบ และสมควรที่องค์กรสื่อและสมาคมสื่อที่เกี่ยวข้องควรตรวจสอบและมีรายงานต่อสาธารณะเช่นเดียวกัน

อนึ่ง ผู้เขียนตระหนักดีว่าทุกวันนี้ การเมืองและสื่อมีการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างชัดเจน แต่นั่นก็มิได้หมายความว่า สื่อที่ถูกวิพากษ์ไม่สมควรที่จะต้องสำรวจตนเองว่าทริปไปอังกฤษนี้เข้าข่ายรับสินบนหรือไม่ พร้อมทั้งสมควรมีคำอธิบายต่อสาธารณะว่า ตนและองค์กรตน รับไปทริปแบบนี้ได้อย่างไร และเพราะอะไร หรือมองต่างอย่างไร เหตุการณ์ครั้งนี้ควรนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานที่ชัดเจนว่าทำอย่างไรจึงจะมีระบบที่ชัดเจนที่จะนำเงินจากภาษีประชาชนไปจัดให้สื่อไปทัศนศึกษา และควรมีกระบวนการโปร่งใสตรวจสอบได้ เป็นธรรมกับสื่อทุกองค์กรโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และเหมาะสมคุ้มค่ากับเงินภาษีประชาชนที่ใช้ไป

เงิน 7 ล้านบาท ถ้าใช้เป็นทุนคัดเลือกนักข่าวสายรัฐสภาดีเด่น ไปเรียนต่อ หรือฝึกอบรมเกี่ยวกับการทำข่าวรัฐสภาในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย และสื่อมีบทบาทสูงเป็นระยะเวลาครึ่งปีหนึ่งปี คงจะให้ทุนได้ปีละอย่างน้อยหนึ่ง หรือสองทุนอย่างสบายๆ และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวนักข่าว องค์กรสื่อ รัฐสภา และสังคม มากกว่าการจัดรายการ “ดูงานกึ่งให้รางวัลท่องเที่ยวอย่างฉาบฉวย” ที่ก่อให้เกิดคำถามต่อรัฐสภาและสื่อ มากกว่าความรู้จากการเดินทาง ในขณะเดียวกัน องค์กรสื่อและสมาคมสื่อทั้งหลายก็ควรมีระเบียบที่ชัดเจนว่านักข่าวและบรรณาธิการ รวมถึงเจ้าของสื่อมีหลักอย่างไรในการรับหรือไม่รับคำเชิญไป ‘ดูงาน’ ต่างประเทศ และควรมีการนิยามให้ชัดเจนว่า ทริป ‘ดูงาน’ แบบไหนจึงยอมรับได้ เหมาะสม และไม่ถือว่าเป็นการเบียดเบียนภาษีประชาชน พร้อมทั้งแสดงระเบียบข้อกำหนดเหล่านั้นให้สาธารณะดูได้อย่างชัดเจนในเว็บไซด์ของแต่ละองค์กร

• “ชูวัส” แถ! ถามกลับสวมวิญญาณ ปชป.เมื่อไหร่ อ้างรัฐสภาควรให้การศึกษาสื่อมวลชน

ต่อมา นายประวิตร ได้ลงบทความบางส่วนใน เว็บไซต์ประชาไท กระทั่ง นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท ได้กล่าวตอบกลับ นายประวิตร ระบุว่า

“ผมได้อ่านบทความของ คุณประวิตร โรจนพฤกษ์ ในมีเดียอินไซด์เอาท์ เรื่อง “ทริปพาสื่อไปอังกฤษ..‘ซื้อใจตบรางวัล’ หรือ ‘ดูงาน’ ด้วยภาษีประชาชน?” แล้วชอบมาก และชื่นชมในจุดยืนชูธงจริยธรรมสื่อของคุณประวิตรอย่างปราศจากข้อสงสัย

แต่ผมคิดว่ายังไม่ถึงเวลา และยังเลือกที่จะไม่ตอบตอนนี้ (ตอบได้แน่นอน ไม่ต้องห่วงครับ) หรืออาจจะไม่ตอบเลยก็ได้ อันนี้ขอคิดอีกที แต่จะขอตั้งคำถามสองสามข้อต่อคุณประวิตร ผู้ชูธงจริยธรรมสื่อ ว่า ไอ้จริยธรรมสื่อนี่ ได้รวมถึงการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข่าว ซึ่งออกมาจากสำนักปั่นข่าวหรือไม่ หรือมันไม่ใช่จริยธรรม แต่มันคือหลักการขั้นพื้นฐานของ “คนข่าว”

ถ้า คุณประวิตร เลือกที่จะเชื่อข่าวจากสำนักปั่นกระแส และอ้างอิงอย่างไม่มีคำ หรือภาษาที่แสดงถึงความปราศจากข้อสงสัย กระทั่งตัดสินพิพากษา ผมก็สงสัยว่า ทำไมคุณประวิตรถึงไม่เชื่อสำนักปั่นกระแสแห่งนี้คราวเชื้อเชิญให้มีการรัฐประหาร หรือคุณประวิตร เห็นด้วยกับการเมืองใหม่ เห็นด้วยกับ 70:30 เห็นด้วยว่า เรากำลังจะสิ้นชาติ เห็นด้วยว่า เรากำลังต่อสู้ครั้งสุดท้าย แล้วก็คงเห็นด้วยว่ามีขบวนการล้มเจ้า แต่ผมมั่นใจว่า คุณประวิตร ไม่เชื่อเรื่องเหล่านี้ คุณประวิตร รังฟังสำนักข่าวแห่งนี้แน่ แต่คุณประวิตรต้องมีคำถาม มีข้อสงสัย แต่ทำไมคราวนี้คุณประวิตร จึงเชื่อ แล้วเชื่ออย่างปราศจากข้อสงสัย

คุณประวิตร รู้จักผมดี คุณประวิตร ย่อมรู้ว่า ระหว่างผมกับสำนักข่าวปั่นกระแสนี้ ใครน่าเชื่อถือกว่ากัน

เพื่อความเป็นธรรมกับคุณประวิตร คุณประวิตรอาจจะไม่ได้เชื่อแหล่งข่าวเดียวก็ได้นะครับ อาจจะมาจากข่าวของสำนักข่าวต้นสังกัดเองด้วยก็ได้ หรือฟังจากไทยโพสต์ หรืออาจจะอ่านจากแนวหน้า ฯลฯ (ผมเข้าใจว่า มติชน ปูดข่าวเรื่องนี้เป็นฉบับแรกด้วยพาดหัวว่า “ลือสะพัด...” หลังจากนั้น ไม่รับเป็นเจ้าภาพข่าวนี้อีกเลย) แต่ก็นั่นแหละครับ เมื่อคุณประวิตรเชื่อ ผมว่าคุณประวิตรก็น่าจะยังไม่หลุดพ้นกับดักการสร้างความไม่เป็นธรรมอย่างเป็นระบบอยู่ดี และจนบัดนี้คุณประวิตร ยังไม่มีอีเมลมาถามอะไรผมสักคำเลยครับ หรือว่าเราไม่รู้จักกัน แต่ผมไม่ได้มีปัญหากับบทความนี้ แม้ไม่มีเสียง และข้อเท็จจริงจากคนที่ไปนะครับ มันเป็นเสรีภาพ...ผมเข้าใจ

ยกตัวอย่างเรื่องพื้นๆ เลยครับ ผมมาที่ลอนดอน ไม่ได้เกี่ยวกับวอยซ์ทีวี ไม่ได้เกี่ยวกับประชาไท ผมไม่เห็นว่าที่ลอนดอนมีหอไอเฟลเลย พูดง่ายๆ ไม่มีโปรแกรมข้ามจากเกาะอังกฤษไปไหน และโรงแรมที่คุณว่า มีผ้าทอจากอียิปต์อะไรนั่น มันคืออะไรหรือครับ มันกลายเป็นจุดขาย หรือจูงใจให้มาทริปนี้ หรือเป็นเหตุผลที่แสดงว่าทริปนี้ผลาญเงินรัฐตรงไหน (ในฐานะ บก.ที่มีโอกาสอีดิตงานให้คุณประวิตร อยากถามว่า ใส่มาทำไมข้อความนี้ ดราม่าชัดๆ และทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม)

แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญหรอกครับ ประเด็นก็คือ ผมไม่เห็นคนจากวอยซ์ทีวีในทริปนี้เลยครับ หากไม่นับผม กับ อ.พิชญ์ ซึ่งเป็นคนนอกวอยซ์ ผมเข้าใจว่า คนเหล่านี้อาจจะมีรายชื่อในฉบับดำริ ร่าง เมื่อปีมะโว้ หรือวีซ่าไม่ผ่าน หรือกลับใจ หรือเสกขึ้นมา หรืออย่างไรไม่ทราบ แต่ชื่อเหล่านี้ถูกเอามาปั่นเสียจนเกินจริง

คิดว่า คุณประวิตร อาจจะไม่ทราบว่าบุคคลในรายชื่อเหล่านั้นไม่ได้มาด้วย แต่ผมสงสัยว่า ถ้าคุณประวิตรทราบ คุณประวิตรจะอธิบาย หรือพยายามหาคำตอบไหมว่า เขาอาจจะรู้สึกไม่ชอบมาพากลเหมือนน้องเนชั่นที่คุณประวิตรอ้างถึงก็ได้ เขาควรจะได้เป็นฮีโร่เช่นเดียวกัน

หรืออาจจะเป็นเหตุผลอื่น เช่น คุณประวิตร ได้ถามน้องเนชั่นคนนั้นด้วยไหมว่า คำตอบแรกๆ ของเขาหลังจากข่าวนี้ถูกปั่นคืออะไร ก่อนจะมาเป็นคำตอบนี้ รบกวนถามด้วยนะครับว่า พาสปอร์ตเขาได้คืนจากสถานทูตที่ขอวีซ่าหรือยัง แต่ผมไม่ได้ว่าอะไรน้องเขานะครับ ใครอยู่ในสภาพนั้นก็น่าเห็นใจทั้งนั้น (คนร่วมทริปยังแทบอ้วก)

คุณประวิตร เคยดูงานไหมครับ เดินทางไปต่างประเทศด้วยเงินคนอื่นบ่อยไหมครับ คนออกเงินให้เขามีผลชี้นำความคิดคุณประวิตรไหมครับ ถ้ามีผล คนทริปนี้ก็คงเหมือนกัน ถ้าไม่มีผล ก็คงไม่มีผลกับคนทริปนี้เหมือนกัน เพราะเราเป็นคนเท่ากัน ไม่มีใครเป็นสื่ออำมาตย์ ไม่มีใครเป็นสื่อไพร่ เรื่องแบบนี้ผมจึงไม่ได้ว่าอะไรใครเลยครับ การดูงานในบ้านเมืองที่เจริญเป็นระบบกว่า เป็นทัศนศึกษาที่สำคัญ ผมสนับสนุนเต็มที่ และเป็นเหตุผลประการหนึ่งของการร่วมเดินทางในทริปนี้ด้วย และผมก็เชื่อมั่นด้วยว่า ความคิดก้าวหน้าของคุณประวิตร ที่ผมนับถืออยู่นั้น ไม่ได้มาจากดีเอ็นเอ แต่มาจากการได้มีโอกาสได้เจอโลกกว้างของคุณประวิตร เมื่อเราต่างทำงานที่มีผลทางความคิดต่อสาธารณะ แต่ผมซึ่งอาจเรียกได้ว่า มีโอกาส “ดูงาน” เป็นครั้งแรกในชีวิตเหมือนกับคนจำนวนมากในคณะ ที่วันๆ เอาแต่ทำงาน ไม่เคยได้มีโอกาสโลกกว้าง หรือเคยก็นานเต็มที จัดรายการ เขียนหนังสือ ก็พูดเขียนซ้ำๆ เดิมๆ หัวเก่าลงๆ ไปทุกที ไม่ค่อยได้มีโอกาสเหมือนคุณประวิตรเลยครับ

คุณประวิตร สวมวิญญาณพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่เมื่อไร ถึงเที่ยวชี้นิ้วด่าไพร่และใครต่อใครว่าซื้อเสียง โดยไม่ได้มองตัวเองเลยว่า ตัวเองยืนอยู่บนโอกาสและความมั่งมีอยู่แล้ว แต่หลักคิดแบบนี้ ตรระกะแบบนี้ คุณประวิตรต้องไม่พลาดสิครับ

ผมอาจจะยกตัวอย่างและชี้ประเด็นอะไรที่ออกนอกประเด็น ดูเหมือนฟูมฟาย หรืออาจจะดูเหมือนเบี่ยงประเด็นไปสักหน่อย ก็ด้วยความตั้งใจครับ แต่ผมไม่ได้พูดแทนตัวผม นี่คือ ปัญหาในเชิงหลักการ หลักคิด เจตนาก็คือ ต้องการท้วงติงกันไว้ (พูดกันในฐานะเพื่อนและภาษาแบบเพื่อน ก็คือ กลัวเพื่อนจะเป็นสลิ่ม)

ส่วนเรื่องเงินรัฐ หรือไม่มีใช่เงินรัฐ อันนี้เป็นทัศนะครับ คิดเห็นแตกต่างกันได้ แต่อย่าลืมหลักพื้นฐาน คือ รัฐต้องสนับสนุนการศึกษาให้ประชาชน ผู้สื่อข่าวซึ่งแม้จะเป็นเอกชน แต่ทำงานกระทบกับสาธารณะ ควรจะได้รับ “อภิสิทธิ์” นี้หรือไม่

เพราะหากการเปิดหูเปิดตา ดูบ้านเมืองอื่นเป็นเรื่องจำเป็นหรือสำคัญ เมื่อเจ้านายคุณไม่เคยออกตังค์ให้พนักงานไปดูบ้านเมืองอื่น รัฐก็ต้องสนับสนุนเรื่องนี้ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “รัฐสภา” ไม่เช่นนั้น รัฐสภาจะกำหนดไว้ในงบประมาณของคณะ กมธ.ของรัฐสภารวมกว่าห้าสิบคณะ กว่าหนึ่งร้อยครั้งต่อปี โดยดำเนินการต่อเนื่องมาทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลไปทำไม ไม่เช่นนั้น เราคงหลงอยู่ว่า บ้านเมืองเรานั้นดีนักหนา จะไปยึดเขมรเมื่อไรก็ได้ ยิ่งถ้าจะไปดูงานประชาธิปไตยในประเทศพม่า เหมือนที่เจ้านายคุณเสนอ (กรุณาอ่านบทความของเจ้านายคุณ) อันนี้คงยิ่งเสริมอีโก้ของชาติเข้าไปกันใหญ่

คุณประวิตร นี่ก็แปลกนะครับ ทางหนึ่งก็กลัวประโยชน์ทับซ้อน ระหว่างนักข่าวกับนักการเมือง แต่บางย่อหน้าของคุณประวิตร ก็สนับสนุนให้ทุนการศึกษาเฉพาะกับนักข่าวสายรัฐสภา อันนี้ผมก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมจะต้องจำกัดให้เฉพาะนักข่าวสายรัฐสภา หลักคิดของคุณประวิตรคืออะไร

ผมย้ำทัศนะของผมนะครับว่า รัฐสภาควรมีหน้าที่เปิดโอกาสให้การศึกษาสื่อมวลชน เพื่อเป็นกลไกหนึ่งสร้างความมั่นคงของประชาธิปไตย แต่ประเด็นว่า จะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส คุ้มค่ากับเงินของรัฐ และสมควรกับอภิสิทธิ์ที่ได้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง (ผมอยากจะบอกด้วยว่า ทริปนี้เราถกกันเรื่องนี้ และเก็บรับข้อมูลถึงทางปฏิบัติจริงไปได้มากพอสมควร แต่ยังต้องดูไปก่อนว่า รัฐสภาจะเอาจริงแค่ไหน)

มาถึงตรงนี้ก็ต้องบอกด้วยครับว่า ผมอ่านบทความของ คุณสุทธิชัย หยุ่น แล้ว และก็ชอบเช่นเดียวกัน จุดยืนในการชูธงจริยธรรมสื่อนี่ชัดเจนเด่นเป็นสง่ามากเลยครับทั้งสามท่าน

เพียงแต่เวลาชูธง ธงมันคงอยู่สูงเกินไป เลยเห็นแต่หน้าคนชู ไม่เห็นธงสักทีว่าหน้าตามันเป็นอย่างไร ลงชื่อ ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ผู้ร่วมทริปคนที่ 13 ผู้เข้าชมฟุตบอลอังกฤษคู่แดงเดือด ฟุตบอลนัดประวัติศาสตร์ “ความจริงและความยุติธรรม 96 ศพ” ป.ล.ขออภัย ผมหาที่แสดงความคิดเห็นในเว็บมีเดียอินไซด์เอาท์ไม่พบ จึงขออนุญาตประชาไท โพสต์ในพื้นที่เปิดแห่งนี้”

• “ประวิตร” ทวงถามใบเสร็จให้ชัด ยันคิดว่าหรูไป-“ชูวัส” อ้างอีกไม่ได้ไปเที่ยว

ต่อมา นายประวิตร ได้ตอบกลับข้อความของนายชูวัส ระบุว่า “ถึง ชูวัส ขอบใจชูวัสที่อย่างน้อยที่สุด ก็มิได้สงสัยว่าเราไปรับเงินใครมาเขียนวิจารณ์ทริปอังกฤษ ส่วน Voice TV หากไม่ได้มีคนไปร่วม 4 คน จาก 25 คนดังที่ปรากฏเป็น list แพร่หลาย ผมก็อยากให้ชูวัสช่วยเผยแพร่ลิสต์ให้สาธารณะทราบ เพื่อความโปร่งใส และเพื่อที่ผมจะได้แก้ข่าวและขออภัยที่พาดพึงถึงทาง Voice TV โดยคลาดเคลื่อน ส่วนประเด็นอื่นๆ ผมจะรับไปพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ผมอยากเห็นชูวัส หรือทางประชาไท มี statement เรื่องนี้ออกมาให้ชัดๆ และถ้าจากนี้ไป เราสามารถช่วยกันให้มีการใช้เงินภาษีประชาชนเพื่อสนับสนุนสื่ออย่างจริงจังและคุ้มค่าได้ ผมยินดีร่วมแสดงความเห็นและผลักดันเสมอ ส่วนผ้าฝ้ายอียิปต์ที่ใช้ปูเตียง ดังที่ผมอ้างจาก website ของโรงแรมนั้น ผมยังยืนยันว่า ผมคิดว่ามันหรูไป +พักโรงแรม 2 ดาว 3 ดาว ก็พอ

ชูวัสคงทราบดีว่า ผมมีเจตนาดีต่อประชาไทเพียงไร และอยากเห็นประชาไทเป็นตัวอย่างของความโปร่งใส ตรวจสอบวิพากษ์ได้ อ่อ และไม่ต้องห่วงว่าผมจะกลายเป็น “สลิ่ม” เพราะทุกวันนี้ผมพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่เป็นเสื้อสีอะไรทั้งนั้น เที่ยวให้สนุก และเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพนะ ลงชื่อ ประวิตร โรจนพฤกษ์”

อย่างไรก็ตาม นายชูวัส ได้ตอบกลับมาว่า “ผมไม่ได้มาเที่ยว เพราะที่ที่ผมอยู่แล้วมีความสุข คือ การได้อยู่กับคนที่ผมรัก และที่ทำงาน ไม่ใช่การมาเที่ยว ตอนนี้ผมไม่ได้ห่วงว่าคุณจะเป็นสลิ่มแล้วครับ แต่ห่วงว่า คุณจะพยายามเป็น หรือพยายามไม่เป็นอะไรนี่แหละ ส่วนเรื่องที่พัก คุณประวิตรเคยมาแล้วหรือครับ ไอ้โรงแรมผ้าฝ้ายอียิปต์นี่น่ะ สำหรับผมธรรมดามากๆ ประมาณห้องละพันห้า แถวห้วยขวาง ค่าครองชีพที่นี่น่ะเบอร์เกอร์ชิ้นล่ะ 250 นะครับ และถ้าคุณประวิตรเคยจ่ายเงินจองโรงแรมเอง แล้วจ่ายตามราคาในเว็บก็บ้าแล้ว เอาเป็นว่า ผมเห็นว่าโรงแรมนี้ธรรมดาสำหรับผม นอนก็สองคน ห้องก็ไม่ใหญ่ ผมยืนยันเท่านั้น ส่วนแพงไม่แพง ผมไม่ได้จอง หรือตัดสินใจเอง แต่อย่าเชื่อโฆษณามากไป”

นายประวิตร ได้ตอบกลับว่า “ถึง ชูวัส โอเค คุณยืนยันว่าไป “ดูงาน” ผมก็จะใช้คำว่า “ดูงาน” ไปก่อนก็แล้วกัน แต่ประเด็นหลักของผม คือ ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ของกระบวนการจัดทริป “ดูงาน” ต่างประเทศด้วยภาษีประชาชน ว่า มีความเป็นธรรมกับสื่อทุกฝ่าย กับได้ประโยชน์แก่สังคม และใช้เงินไปอย่างคุ้มค่าเพียงไร และอีกอย่าง ผมคาดหวังให้ประชาไท ในฐานะสื่อทางเลือกที่ประกาศตัวชัดเจนว่ายืนหยัดเพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม เป็นตัวอย่างที่ดี มีมาตรฐานเหนือกว่าสื่อกระแสหลักทั้งหลาย ที่เป็นบรรษัทสื่อ (corporate media) อย่างที่เขาพูดกันในภาษาอังกฤษ “I expect no less from prachatai.com”

ตกลงมีชูวัสจะช่วยเอา list สื่อที่ไปร่วม “ดูงาน” ทั้งหมดมาลงตรงนี้ได้ไหม? ทุกคนจะได้เห็นและตัดสินกันเองว่าเป็นอย่างไร และผมก็จะได้ขอโทษทาง Voice TV ที่อาจได้ลงข้อมูลคลาดเคลื่อนในบทความ ส่วนเรื่องบรรดาสื่อที่ชูวัสบอกว่าไม่น่าเชื่อถือนั้น เราก็พึงฟังหูไว้หู และคงไม่ได้หมายความว่า ทุกอย่างที่มาจาก ASTV ผู้จัดการ หรือ ไทยโพสต์ แนวหน้า จำต้องเป็นความเท็จไปเสียทั้งหมด ขอให้ชูวัสถือเสียว่า การตรวจสอบของผมต่อเรื่องทริป “ดูงาน” เป็นประโยชน์กับความน่าเชื่อถือของประชาไทเอง เพราะคงจะแทบหาสื่อไหนในไทยไม่ได้ที่จะยอมลงบทความให้คนนอกวิจารณ์ตนเองเช่นนี้

ผมยังเชื่อมั่นในเจตนาดีของชูวัสต่อสังคม และอุดมการณ์คุณ และก็เชื่อว่า ชูวัสเข้าใจดีว่า บทความที่ผมเขียน คือ ความพยายามในการเปิดประเด็นตรวจสอบ หากคลาดเคลื่อนอะไรบ้างก็ต้องขออภัย ด้วยความปราถนาดีจากหนึ่งในสปอนเซอร์ทริป “ดูงาน” อังกฤษของคุณ ผ่านทางการจ่ายภาษี +กลับบ้านให้ปลอดภัยนะ ลงชื่อ ประวิตร โรจนพฤกษ์”

• แถรำลึก “ฮิลส์โบโร” เทียบราชประสงค์ 98 ศพ บีบน้ำตาลิเวอร์พูลแพ้

อย่างไรก็ตาม นายชูวัส ได้กล่าวแสดงความเห็น ระบุว่า “ใช้เงินรัฐ ภาษีประชาชนไปดูงาน สมควรหรือไม่ ผมได้ชี้แจงไปแล้วว่า เป็นเรื่องแล้วแต่ทัศนะและมุมมอง แต่ผมสงสัยจริงๆ ว่า แม้การดูบอลจะเป็นวันหยุดเสาร์อาทิตย์ มีสปอนเซอร์ แต่ทำไม เวลาอยากจะโจมตีใคร ก็ใช้เหตุผลว่า วันหยุดดูบอล การกินการนอนก็คือเงินของรัฐ แต่กลับไม่ยอมนับรวมว่า การดูบอลก็คือ การดูงานประเภทหนึ่ง

การวิจารณ์แบบนี้ จึงเต็มไปด้วยอคติ ตกอยู่ภายใต้กระแส และไม่เป็นตัวของตัวเอง เพียงเพราะการจัดประเภท ว่า บอลเป็นเพียงแค่ความบันเทิง

ขอโทษนะครับความบันเทิงที่คุณไม่นับว่าเป็นการดูงานนี้ สร้างเงินหมุนเวียนขนาดร้อยละ 1.8 ของประเทศอังกฤษ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าประเทศไทยหลายเท่านะครับ

รู้ไหมครับว่า การไปนั่งดูบอลได้อะไร มันคือตำราขนาดใหญ่ ไม่ใช่ลูกกลมๆ และสกอร์ที่เห็นด้วยตา คุณไม่มีทางเห็นจากข่าวที่บอกคุณแค่ผลได้เสียของการแข่งขัน หรือชีวิตความเป็นอยู่ของดารานักเตะเท่านั้น

คุณเห็นอะไรที่สนามแอนฟิลด์ไหม...คุณไม่มีทางเห็นหรืออ่านได้หากไม่สัมผัส คุณไม่มีทางรู้ได้ว่าการต้องลุกยืนลุกยืนนับร้อยๆ ครั้งตลอดการแข่งขันมันบ่งบอกอะไร คนที่นี่เขาไม่รำคาญกันเลยนะครับที่ต้องลุกยืนกันเป็นว่าเล่น เมื่อมีคนขอลุกออกจากแถวที่นั่งไปฉี่หรือไปไหน หรือเมื่อคุณต้องลุกตามเมื่อแถวหน้าลุก คุณรู้ไหมทำไม...ผมว่าอย่ารู้เลยครับ มันก็แค่ความบันเทิง

แต่ถ้าคุณรู้และรู้ต่อไปด้วยว่า ตั๋วปีหรือที่เรียกว่า ซีซันทิกเก็ต คืออะไร และทำหน้าที่อะไรในทางสังคมวิทยา คุณจะรู้ว่าทำไมฟุตบอลอังกฤษถึงได้รับความนิยมขนาดนี้ อยากรู้ไหมครับว่าทำไม...อย่ารู้เลยครับ ก็แค่ความบันเทิง

คุณรู้ไหมเขาเล่นพนันบอลกันอย่างไร และผมจะอธิบายอะไรในประเทศที่กาสิโนและโต๊ะบอลถูกกฎหมายมีอยู่เต็มไปหมด แต่อาชญากรรมกับน้อยกว่าประเทศไทย...อย่ารู้เลยครับ ก็แค่ความบันเทิง

บังเอิญจริงๆ ครับ อ้อไม่ใช่สิ จะบอกว่าบังเอิญเดี๋ยวก็จะไม่เชื่อกันอีก คงเป็นความตั้งใจของนายกฯ และผู้นำฝ่ายค้านอังกฤษ ที่เอ่ยคำขอโทษแฟนบอลลิเวอร์พูล และญาติของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ฮิลส์โบโร 96 คน ก่อนที่จะมีการแข่งขันไม่กี่สัปดาห์ คงเอ่ยคำขอโทษเพื่อให้พวกเราซึ่งจะไปเยือนได้สัมผัสถึงหัวใจของแฟนบอลที่เรียกร้องความจริงและความยุติธรรมมั้งครับ

คุณรู้ไหมแฟนบอลลิเวอร์พูลในสนามเขาตะโกนอะไร และตะโกนอย่างนั้นมา 23 ปีแล้ว มีสำนักงานที่รณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง เราโชคดีครับที่ไปในช่วงที่เหตุการณ์นี้คลี่คลายพอดี แต่ข่าวนี้คุณอาจจะเห็นในข่าวต่างประเทศก็ได้ แต่ก็นั่นแหละ คุณจะไม่มีทางรู้เลยว่า เขาจัดพิธีกันอย่างไร และคุณ “อ่าน” อะไรได้จากตรงนั้น

คุณรู้ไหม ลูกโป่งไว้อาลัยไม่ทันพ้นสายตา บอลก็เตะแล้ว คุณรู้ไหมว่ามันสะท้อนถึงอะไร

ขณะที่เก้าอี้นั่งทุกตัวในสนามพร้อมใจกันแปรอักษรอย่างร่วมมือร่วมใจ โดยไม่จำเป็นต้องขอความร่วมมือเชิญชวนมันหมายถึงอะไร ไม่มีใครฟูมฟาย หรืออวดอ้างว่าฉันต่อสู้เพื่อความยุติธรรม และไม่จำเป็นต้องมีใครเป็นฮีโร่ แต่สิ่งเหล่านี้มันหมายถึงอะไร อย่าไปสนใจเลยครับ มันก็แค่ความบันเทิง

ขอโชว์ให้ผมดูเป็นผู้มีจริยธรรมสักหน่อยนะครับว่า ผมแทบน้ำตาตกที่วันนั้นลิเวอร์พูลแพ้ให้กับแมนยูฯ 1-2...เปล่าครับ ผมดูบอลไม่เป็น (เหมือนคนร่วมทริปที่ 80% ไม่ดูบอล...นี่เรื่องจริงนะครับ ดังนั้น ผิดอีกแล้ว ถ้าคิดว่า งานนี้จัดขึ้นเพื่ออยากไปดูบอล) แต่ผมนึกถึง 96 ศพ และ 98 ศพในบ้านเรา

ผู้ร่วมเดินทางราวๆ 20 คน (เอ ผมคงนับผิดไป เชื่อข่าวที่เมืองไทยก็ได้ครับ 37 คน คุณกำหนดความจริงนี่ ไม่ใช่ผม) ไม่ใช่ทุกคนที่สนใจในทุกเรื่อง พูดตามจริงนะครับ การดูงานบีบีซีในแง่ของการทำข่าว สำหรับผมนั้นธรรมดา เพราะรู้มาพอสมควร และจะรู้ให้ลึกกว่านี้ก็คงไม่ได้ เพราะรบกวนภาษีประชาชนได้เท่านี้ แต่ผมเชื่อว่าผู้บริหารสื่อระดับกลางๆ และผู้ร่วมทริปหลายคนน่าจะได้แรงบันดาลใจอะไรไปไม่มากก็น้อย

สำหรับผมแล้ว การได้แอบชื่นชมงานศิลปะและสถาปัตยกรรมในรัฐสภา (ที่ต้องแอบเพราะเขาบรรยายเรื่องการเมือง) ชนิดที่ว่า หากศิลปะคือหนทางสู่พระเจ้าแล้ว เราคนไทยคงห่างชั้นหลายขุม ซึ่งเป็นความประทับใจหนึ่งแล้ว ก็มี “ความบันเทิง” ที่ได้ดูบอลนี่แหละครับ ที่เป็นเนื้อเป็นหนังที่สุด ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ

ขณะที่คุณๆ เรียกมันว่า ความบันเทิง สำหรับผมแล้ว นี่คือ ขุมความรู้เล่มใหม่สำหรับผม ต้องขอขอบคุณ รัฐสภาให้ที่หลับที่นอนวันเสาร์อาทิตย์กับผม และผมก็ตระหนักว่า นี่คือ ภาษีประชาชน เหมือนที่ผมตระหนักเมื่อครั้งเป็นนักศึกษา เป็นอภิสิทธิชนเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยของรัฐ

ต้องขอขอบคุณด้วยความประทับใจยิ่งกับทีมงานสยามสปอร์ต ที่ทำให้เรารู้จักฟุตบอลว่ามันไม่ใช่ลูกกลมๆ และสกอร์บนกระดาน ต้องขอบคุณที่ทำให้เรารู้จักว่า ทีมข่าวที่ฝังตัวทำงานอยู่ที่นั่น ทำงานอย่างไร แต่ผมไม่เล่านะครับ...มันอาจเป็นแค่เรื่องบันเทิง

สุดท้ายสำหรับวันนี้ ขออภัยที่ใช้ลีลาการเขียนแบบประชดประชันไปหน่อย แหม..เวลาเขียนมันก็ต้องมีลีลาชวนให้คนอ่านคนเถียงกันบ้าง ลงชื่อ ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข อภิสิทธิ์ชนท้ายแถว”

อนึ่ง สำหรับเหตุการณ์ที่ฮิลส์โบโร่นั้น เป็นกรณีที่อัฒจันทร์ของสโมสรฟุตบอลเชฟฟิลด์ เวนสเดย์ ถล่ม ในช่วงการแข่งขันฟุตบอลเอฟเอ คัพ รอบรองชนะเลิศ ระหว่างลิเวอร์พูล กับ น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2532 ทำให้กองเชียร์ลิเวอร์พูลเสียชีวิต 96 คน การที่นายชูวัส อ้างว่า ชวนให้นึกถึง 98 ศพที่เสียชีวิตระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงนั้น จึงไม่น่าจะสมเหตุสมผลแต่อย่างใด

• “นภพัฒน์จักษ์” ยันวีซ่าผ่าน แต่บอกคนเชิญไม่ไปแล้ว ลั่นไม่ได้อยากเป็นฮีโร่

ด้าน นายนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเนชั่น โพสต์ข้อความชี้แจงถึงนายชูวัส และ นายประวิตร ระบุว่า “คุณชูวัส คุณประวิตร ครับ ขอตอบนะครับ เพราะรุ่นน้องเนชั่นที่คุณชูวัสพูดถึง ก็คงเป็นผมนี่แหละ ที่ผ่านมา ผมพยายามชี้แจงแบบกระชับที่สุด เพราะไม่อยากให้ไปกระทบกระทั่งใคร โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้เป็นบุคคลสาธารณะ จึงอาจทำให้มีคนไม่เข้าใจทั้งหมดอยู่บ้าง

ผมอ่านดูแล้วที่คุณชูวัสเขียนก็ไม่ได้มีเจตนาว่าร้ายอะไรผม แต่ผมขอตอบคำถามที่มีการยกขึ้นมาเพื่อความชัดเจนครับ “พาสปอร์ตเขาได้คืนจากสถานทูตที่ขอวีซ่าหรือยัง?” ตอนนี้ยังไม่ได้พาสปอร์ตครับ เข้าใจว่า วีซ่าก็ยังไม่ได้ด้วย ที่ได้ยินมา คือ มีปัญหาในการทำวีซ่า วุ่นวายพอสมควร ซึ่งตั้งแต่ผมตัดสินใจไม่ไปร่วมทริปนี้ ผมก็ไม่ได้สนใจตามเรื่อง ตามวีซ่า ตามพาสปอร์ตเท่าไหร่นัก ตั้งใจว่า อีกซัก 2-3 สัปดาห์ จะไปตามกลับมา

ขอชี้แจงเพราะกลัวว่าคนอ่านที่คุณชูวัสเขียนมาแล้วจะเข้าใจผมผิด ที่ต้องย้ำคือผมตัดสินใจไม่ไปร่วมทริปนี้เองครับ ผมตัดสินใจตั้งแต่เช้าวันวันพุธ วันที่ทุกคนเดินทางกันตอนค่ำแล้ว ซึ่งตอนเที่ยง ผมก็ยังได้รับคำตอบจากคนที่เชิญผมอยู่ว่าผมได้รับวีซ่าแล้วล้านเปอร์เซ็นต์ (อันนี้ไม่รู้ว่าเขามั่นใจได้ยังไง) แต่ในนาทีนั้น ในการรับทราบของผม ผมได้รับวีซ่าแล้วครับ แต่ผมก็ได้บอกคนเชิญไปทันทีตอนนั้นเลยว่าผมตัดสินใจไม่ไปแล้ว โดยให้เหตุผลไปว่าคุณแม่ป่วย ปฏิเสธไม่ไปตั้งแต่ก่อนที่จะมีข่าว และมีการวิพากษ์วิจารณ์

ซึ่งเหตุผลจริงๆ ที่ผมไม่ไป ก็มีหลายข้อครับ ทั้งแม่ป่วย ทั้งห่วงงาน และที่สำคัญคือ ไม่สบายใจที่จะไปครับ แต่ผมเลือกที่จะบอกคนเชิญไปแค่สาเหตุเดียว คือ แม่ป่วย ซึ่งอาจจะเป็นความผิดของผมเองที่ไม่บอกให้ครบทุกสาเหตุ แต่ตอนนั้นผมก็เลือกคำตอบที่เกิดการกระทบกระทั่งให้น้อยที่สุด แต่ปฏิเสธได้เด็ดขาดที่สุด คือ เรื่องคุณแม่ ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นความผิดของผมเอง

หลังจากที่ผมตัดสินใจไม่ไปแล้ว ผมก็จำเป็นจะต้องชี้แจง เพราะในข่าวยังมีชื่อของผมอยู่ในรายชื่อเดินทางอยู่ การชี้แจงก็ทำในพื้นที่ส่วนตัว เจตนาก็เพื่อชี้แจงส่วนของตัวเองจริงๆ ไม่ได้อยากไปพาดพิงถึงใคร ไม่ได้อยากจะเป็นฮีโร่ หรือต้องการคำสรรเสริญเยินยออะไร และผมก็ย้ำบ่อยๆ ว่า ผมไม่ได้ไปตัดสินพี่ๆ สื่อที่ไปอังกฤษว่าเป็นสื่อที่ไม่ดีอะไร ดังที่เห็นในพื้นที่สาธารณะที่ผมแสดงความเห็น เช่น ในการเสวนาของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่ผมบอกว่า (ขอลอกเนื้อหามาจากสำนักข่าวอิศรา) “นายนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ ผู้สื่อข่าวภาคสนาม สำนักข่าวเนชั่น กล่าวว่า ตนเองเป็นคนหนึ่งที่เกือบจะตัดสินใจร่วมไปทัวร์ยุโรปในครั้งนี้ แต่รู้สึกถึงความไม่ถูกต้องบางอย่างจึงปฏิเสธไม่ไป แต่ไม่อยากให้ตัดสินว่าสื่อมวลชนที่ร่วมไปกับทริปนี้ว่าเป็นสื่อที่ไม่ดี แต่ควรพิสูจน์กันในระยะยาว ว่า สื่อมวลชนเหล่านั้นกลับมาแล้วนำเสนอข่าวจากที่ได้ไปมาอย่างไรบ้าง หรือท่าทีและมาตรฐานการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของสื่อนั้นๆ เปลี่ยนไปอย่างไร”

เท่านี้แหละครับ หวังว่า จะตอบทุกข้อสงสัยและชัดเจนพอแล้ว อย่าให้ถึงขั้นที่ผมต้องไปเอาคนที่เชิญผมไปมาร่วมชี้แจงด้วยเลยครับ ด้วยเคารพพี่ๆ สื่อทั้งสองท่าน ลงชื่อ นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์”
นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข (ภาพจากแฟ้ม)
กำลังโหลดความคิดเห็น