วิปรัฐบาลจัดหนักผู้บริหาร กทม. ฉะดึงเกมช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม จี้ถามเงิน 753 ล้านบาทที่เหลือกั๊กไว้เพื่ออะไร ทำไมไม่จ่ายเยียวยา พร้อมแจงเหตุนำนักโทษลอกท่อ เพราะกทม.ปล่อยท่อตัน ระบบระบายน้ำแย่ ฝนตกทำน้ำท่วมขัง ทำรถติด
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.ในฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่าที่ประชุมวิปรัฐบาลได้สอบถามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบนถนน และ การแก้ปัญหาจราจรในช่วงที่มีฝนตกลงมาในกรุงเทพมหานคร ซึ่งตนในฐานะคณะทำงานติดตามการทำงานของ กบอ.ได้รายงานถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังบนถนนสายต่างๆ ในเขต กทม. และเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยน้ำท่วมเมื่อ ปี 2554 โดยรัฐบาลจะพิจารณาเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมให้กับจังหวัดต่างๆ เช่น จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา, นครปฐม และสมุทรสาคร
โดยในส่วนของกรุงเทพมหานครพบว่า ที่ผ่านมามีหลายเขตได้รับการเยียวยาไม่เป็นธรรม เช่น บ้านติดกันได้ 270 บาท อีกหลังได้ 16,000 เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลไม่เคยปฏิเสธความช่วยเหลือ กทม. แม้ กทม.จะมีเงินงบประมาณของตนเองกว่า 7 หมื่นล้านบาทก็ตาม แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าการพิจารณาให้ความช่วยเหลือของ กทม.ที่มีความบกพร่องเป็นเพราะอะไร เจ้าหน้าที่ไปดูบ้านประชาชนที่เสียหายจริงหรือไม่ ทำไมใน กทม. จึงเปิดการพิจารณาเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม ผู้บริหาร กทม.มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาข้อบกพร่องนี้หรือไม่
ขณะที่กระทรวงมหาดไทยได้ตรวจสอบเงินเยียวยาที่ให้ไปแล้วพบว่ามีเงินที่รัฐบาลให้ไปแล้วยังเหลืออีก 753 ล้านบาท เหตุใด กทม.จึงมาขอรัฐบาลเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่สามารถนำเงินก้อนนั้นไปจ่ายบรรเทาทุกข์ให้กับพี่น้อง กทม.ที่เกิดจากการพิจารณาผิดพลาดในการช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยของ กทม.ได้ก่อน แต่กลับปล่อยให้ประชาชนต้องออกมาปิดถนนและมาโยนให้รัฐบาลรับผิดชอบ
นายจิรายุกล่าวว่า เมื่อกระทรวงมหาดไทยได้สอบถามถึงเหตุผลดังกล่าว กทม.ระบุว่าเป็นเพราะรัฐบาลยังไม่อนุมัติ ซึ่งตนเองเห็นว่าไม่เกี่ยวกันเลย และหากรัฐบาลไม่ไห้ก็จะไปขอเงินจากสภา กทม.เอง ซึ่งสมาชิกสภา กทม.ซีกพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าเมื่อเปิดประชุมเรื่องนี้ก็จะสอบถามผู้บริหาร กทม.ในสภา กทม.เช่นกันว่าเหตุใดผู้บริหารจึงปล่อยให้เกิดปัญหาเช่นนี้ และเหตุใดจึงไม่ยอมใช้เงินจำนวน 753 ล้านบาท ก่อนนี้จ่ายไปก่อน
นายจิรายุกล่าวว่า ที่รัฐบาลระดมสรรพกำลังทุกอย่างให้กับ กทม.เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมนั้น ขอยืนยันว่ารัฐบาลคงไม่รอการทำงานของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เพียงอย่างเดียวเท่านั้นเพราะประเมินแล้ว กทม.อาจรับมือไม่ไหว เพราะจากที่ผ่านมาฝนตกเพียงเล็กน้อยก็ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมถนน รถติดเป็นเวลานาน เมื่อคิดเป็นค่าเศรษฐกิจประเทศสูญเสียจากน้ำท่วมใน กทม. แค่ฝนตกไปหลายพันล้านบาททั้งๆ ที่ลงทุนป้องกันในระบบต่างๆ ไปหลายหมื่นล้าน เช่น อุโมงค์ยักษ์, เรดาร์น้ำฝน ฯลฯ แต่ถ้าใช้งานได้เพียงแค่นี้อาจถือว่าไม่คุ้มค่า
นายจิรายุกล่าวว่า นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ประธาน กบอ.ได้ฝากตนแจ้งวิปรัฐบาลว่ารัฐบาลโดย กบอ.ไม่ปล่อยให้ กทม.ใช้ปากทำงานอย่างเดียว รัฐบาลต้องลงมือทำทันทีเพื่อแก้ปัญหา ทั้งการสั่งการให้ลอกคลอง ลอกท่อช่วย กทม. และการแก้ปัญหาจราจร อีกทั้งสั่งการให้กรมราชทัณฑ์ไปเพิ่มการลอกท่อในถนนสายหลักกว่า 30 สายที่ถูกระบุว่าเพียงแค่ฝนตกท่อก็ตันน้ำก็ท่วม เช่น ถ.สุขุมวิท, ถ.วิภาวดีรังสิต, ถ.ศรีอยุธยา, ถ.พหลโยธิน, ถ.ศิรินธร, ถ.พระราม 1, ถ.ร่มเกล้า, ถ.รามอินทรา และซอยใหญ่ที่เป็นทางลัดต่างๆ และไม่ถือเป็นการซ้ำซ้อน แต่เป็นการแก้ปัญหาที่รัฐบาลเมินเฉยไม่ได้ นอกจากนี้ รัฐบาลได้สั่งการให้ตำรวจ บช.น.และ บก.จร.เพิ่มกำลังอำนวยการจราจร และรายงาน จุดที่มีปัญหาน้ำท่วมขังอย่างหนัก ซึ่งพบว่าหลายจุดเป็นจุดที่ กทม.มาลอกท่อแล้วบ้างจริง แต่กลับระบายน้ำไม่ได้ ฝนตกน้ำก็ไม่ไหลไป และเมื่อ กรมราชทัณฑ์ไปเปิดฝาท่อก็พบว่าระบายน้ำไม่ดีจึงสั่งให้ลอกท่อซ้ำอีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนทันที
นายจิรายุกล่าวว่า แม้นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษกของกรุงเทพมหานคร จะออกมาระบุว่า รัฐบาลแซกแทรง กทม.ไปช่วยลอกท่อโดยไม่แจ้ง กทม. เพราะเกรงข้าราชการ กทม.จะเสียขวัญกำลังใจนั้น ตนในฐานะ ส.ส.กทม.ขอเรียนว่าวันนี้ผู้บริหาร กทม.บางคนต้องไม่เล่นการเมืองไม่ต้องกลัวเสียคะแนนเลือกผู้ว่าฯ กทม. เพราะยังอีกหลายเดือน เอาให้ผ่านหน้าฝนไปก่อน จึงเห็นด้วยที่รัฐบาลต้องลงมือทำทันที เพื่อคนกรุงเทพฯทุกคนเพราะมีศักยภาพ มีเครื่องมือ มีกำลังพล
นายจิรายุกล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาคณะทำงานติดตามงานการป้องกันอุทกภัย (อนุ กบอ.ภาค กทม.) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบระดับน้ำในคลองลาดพร้าว พบว่า ทหารช่างได้ขุดลอกเสร็จแล้ว แม้จะติดปัญหาที่ กทม.ต้องดำเนินการเอง ก็คือสิ่งขวางทางน้ำ เช่นการปลูกสิ่งปลูกสร้างบุกรุกลำคลองลาดพร้าวตลอดสาย ซึ่งวันนี้ทหารช่างใช้วิธีขุดลอกกลางคลองเป็นหลักเพื่อเพิ่มความลึกของคลอง ส่วนระดับน้ำรอบๆ กทม.เช่น ที่ประตูระบายน้ำ คลองสามวา พบว่าระดับน้ำใน กทม.สูงขึ้นแต่ยังควบคุมน้ำได้ มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งบ้างเป็นบางพื้นที่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำของ กทม.เอง ซึ่ง กบอ.ยืนยันชัดเจนว่าไม่มีการปล่อยน้ำผ่าน กทม.แต่เป็นเพียงปริมาณน้ำฝน และระบบท่อระบายนน้ำที่มีปัญหาของ กทม.เอง