รายงานการเมือง
กลายเป็นปมหน้าสงสัย! มีอะไรในก่อไผ่มากกว่าหน่อไม้หรือเปล่า? กรณีที่“สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” อนุมัติให้ กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับสมัครและคัดเลือกบุคคลภายนอกเพื่อบรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจ ซึ่งกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในแวดวง “สีกากี” ขณะนี้
เป็นรายการทิ้งทวน “ล็อกสเปก” ให้ใครหรือไม่ อย่างไร
กองสารนิเทศ ได้ทำหนังสือเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันที่ 28 มิ.ย. 2555 ขออนุมัติรับสมัครและคัดเลือกบุคคลภายนอก จำนวน 1 ราย เพื่อบรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจในสังกัด
จากนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีบันทึกลงวันที่ 10 กันยายน 2555 “อนุมัติหลักการและมอบให้ ผู้บังคับการกองสารนิเทศ รับสมัครและคัดเลือกบุคคลภายนอกผู้ มีวุฒิปริญญาตรีทางนิเทศศาสตร์ จำนวน 1 ราย เพื่อบรรจุแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจชั้นประทวน ชั้นยศ ส.ต.ต. รับอัตราเงินเดือน ระดับ ป.1 ชั้น 1 (4,870 บาท) ดำรงตำแหน่ง ผบ.หมู่ ฝ่ายสื่อสิ่งพิมพ์ กองสารนิเทศ โดยใช้วิธีการคัดเลือก
เมื่อผ่านการอบรมตามระเบียบแล้ว จึงแต่งตั้งเลื่อนชั้นเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ชั้นยศ ร.ต.ต.รับเงินเดือนตามคุณวุฒิ ดำรงตำแหน่ง รอง สว.ฝ่ายสื่อวิทยุโทรทัศน์และสื่อสารสนเทศ กองสารนิเทศ พร้อมทั้งยกเว้นการขาดคุณสมบัติกรณีสายตาผิดปกติ ซึ่งตรวจแบบเสนลเลน(ปกติ6/6) ให้เป็นประกรณีพิเศษเฉพาะราย
และกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการต้องปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร รับเงินเดือนตามคุณวุฒิ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี จึงจะมีสิทธิได้รับการพิจารณาแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่งอื่นได้...”
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นอย่างหนาหูในเรื่องนี้ เนื่องจากเกิดข้อสงสัยสเปคที่มีการอนุมัติ หลายประเด็น หลายคำถาม
เหตุใดใช้วิธีการ คัดเลือก ไม่ใช่การสมัคร สอบคัดเลือก เพราะวุฒิปริญญาตรี และสาขานิเทศศาสตร์ ที่ต้องการบรรจุแต่งตั้ง เป็นคุณวุฒิที่มีผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนอยู่เป็นจำนวนมาก และไม่ใช่วุฒิหรือสาขาเฉพาะทางที่หายาก จนต้องใช้วิธีคัดเลือกเข้ามา
เหตุใดต้องมีการ “ยกเว้น”การขาดคุณสมบัติกรณีสายตาผิดปกติ ให้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย เพราะแม้ฝ่ายที่มีการบรรจุจะไม่ใช่งานด้านการป้องกันปราบปราม ที่ต้องใช้สายตาในการปฎิบัติงาน แต่งานด้านสื่อสารทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อสารสนเทศ ก็ต้องทำงานข้อเกี่ยวกับการอ่าน การดู การสื่อสาร ก็น่าจะใช้ผู้ที่มีสายตาปกติตามระเบียบ ข้อบังคับ ข้อปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามปกติ
เหตุใดไม่แต่งตั้ง “เลื่อนไหล” จากตำรวจชั้นประทวนที่มีคุณสมบัติครบตามต้องการให้ขึ้นเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร โดยไม่ต้องรับสมัครจากบุคคลภายนอก ให้ยุ่งยากมากเรื่อง
และเหตุใดถึง “ไม่รอ” พิจารณาบุคคลที่เพิ่งสอบเข้ามาเป็นตำรวจชั้นประทวน ที่กำลังอยู่ระหว่างการสอบคัดเลือกบุคคลภายนอกผู้มีวุฒิ ม.6 เข้ามาเป็นข้าราชการตำรวจที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ว่ามีบุคคลใดมีคุณสมบัติตรงตามทีรต้องการหรือไม่ เพื่อนำมาเป็นตำรวจในสังกัดกองสารนิเทศ ซึ่งจะได้ผู้ที่ผ่านการสอบคัดเลือกที่มีคุณภาพ
ทั้งหมดทั้งมวล จึงเกิดข้อสงสัยมีรายการ “ทิ้งทวน” เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะการดำเนินการทุกอย่างเร่งรีบเพียงไม่กี่วัน ชนิดที่รอเวลาเลือกคนที่มีคุณภาพไม่ได้
ยิ่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องให้ข้าราชการตำรวจพ้นจากตำแหน่ง ประกาศระบุว่า มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการตำรวจ ซึ่งมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และต้องพ้นจากราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ้นจากตำแหน่ง จำนวน 5 ราย
ซึ่ง 1 ใน 5 ที่พ้นจากตำแหน่ง มีชื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร.อยู่ด้วย
เช่นเดียวกับ ตำแหน่ง ผู้บังคับการกองสานิเทศ (ผบก.สท.) ซึ่งพล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย ผบก.สท.คนปัจจุบัน ก็จะขยับจากตำแหน่ง ผบก.สท. ขึ้นไปดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล (รอง ผบช.สกพ.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป
เสียงวิพากษ์วิจารณ์จึงย่อมต้องเกิดขึ้น!!!
โดยเฉพาะเมื่อนำ “สเปก”ครั้งนี้ มาเปรียบเทียบกับการสอบคัดเลือกบุคคลภายนอกผู้มีวุฒิ ม.6 เข้าเป็นข้าราชการตำรวจชั้นประทวน ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ที่ล่าสุดผู้สอบผ่านข้อเขียนหลายราย ตรวจร่างกายไม่ผ่านจำนวนมาก ตามคำชี้แจงของ พ.ต.ท.แพทย์หญิง อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
“คณะแพทย์โรงพยาบาลตำรวจได้ไปตรวจร่างกายผู้ที่สอบผ่านข้อเขียนในทุกหน่วยสอบ ช่วงระหว่างวันที่ 2-7 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ผู้สอบผ่านข้อเขียนจำนวนมากไม่ผ่านการตรวจร่างกายไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากมีรอยสักตามร่างกาย รวมถึงมีการฉีดสารพาราฟิน หรือฝังสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในอวัยวะเพศ เช่น มุก หรือมีโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และมีภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่า 140/90 มิลลิปรอท ซึ่งไม่ควรพบในวัยหนุ่มสาว บางคนก็อดนอน ชมฟุตบอลดึกในวันที่มาตรวจร่างกายจนทำให้ร่างกายอ่อนแอมาก ซึ่งเข้าข่ายร่างกายไม่สมบูรณ์
จากกรณีนี้จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่จะสมัครสอบเป็นตำรวจครั้งต่อไป เตรียมความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจล่วงหน้า และศึกษาข้อห้ามข้อบังคับให้ดี เช่นรอยสัก ที่ต้องห้ามเด็ดขาด”
เงื่อนไขยิบยับคัดกรองกันถึงขนาด อดนอนดูฟุตบอลดึก ร่างกายอ่อนแอ ก็ไม่ผ่านการคัดเลือกเข้าเป็นตำรวจแล้ว แต่เหตุไฉนผู้ที่จะเข้ามาเป็นตำรวจทำงานเกี่ยวกับด้านสื่อสารถึงได้รับการยกเว้นการขาดคุณสมบัติกรณีสายตาผิดปกติให้เป็นกรณีพิเศษได้
นั่นไม่ใช่เพียงคำถาม ข้อสงสัยที่เกิดขึ้นภายในแวดวง “สีกากี” เท่านั้น เชื่อว่าหากสังคมรับรู้และรับทราบการดำเนินการเช่นนี้ ก็คงต้องเกิดคำถาม ข้อสงสัย
เป็นรายการทิ้งทวน “ล็อกสเปก” ให้ใครหรือไม่ อย่างไร????