ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ชี้ผู้ตรวจการฯ วินิจฉัยตอกย้ำความผิด “สุรพงษ์” ออกหนังสือเดินทางให้ “ทักษิณ” เย้ยคงไม่ทบทวน จนท.ไม่กล้าแตะ โวเป็นประโยชน์ในการร้อง ป.ป.ช.สอบสวน เตรียมยื่นประกอบหลักฐานเพิ่มเติม ชี้พยานหลักฐานชัดเจน ประชาชนสนใจ เตือนระวังจะตายน้ำตื้น
วันนี้ (16 ก.ย.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน (Green Politics) กล่าวถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินระบุคำวินิจฉัยว่าการออกหนังสือเดินทาง หรือพาสปอร์ตให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องหาหนีคดีอาญาแผ่นดิน เป็นการกระทำที่ขัดระเบียบว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 ของกระทรวงการต่างประเทศนั้น ถือเป็นการตอกย้ำความผิดการทุจริตในหน้าที่เป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.กระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระทรวงจะต้องรับผิดชอบ
“นายสุรพงษ์คงไม่ทบทวน และเจ้าหน้าที่ในกระทรวงก็คงไม่มีใครกล้าดำเนินการ เพราะการคืนพาสปอร์ตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ถือเป็นภารกิจสำคัญที่นายสุรพงษ์อาสา แม้สุ่มเสียงกับคุกแต่ก็ยอมเพื่อแลกกับตำแหน่ง รมว.และถ้านายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สั่งทบทวนเพิกถอนก็ถือเป็นนโยบายรัฐบาลที่จะหนีความผิดไปไม่ได้ คำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินครั้งนี้ จะเป็นประโยขน์ต่อคำร้องกล่าวโทษของกลุ่มกรีน ที่ได้ไปร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. สอบสวนกรณีรัฐบาลไม่ดำเนินการประสานงานกับทางการสหรัฐเพื่อจับกุมตัวกรณีที่ พ.ต.ท.เดินทางเข้าสหรัฐฯ ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งตอกย้ำว่ารัฐบาลชุดนี้มีนโยบายช่วยเหลือผู้ตองหาหนีคดีหนีหนีหมายจับ” นายสุริยะใสกล่าว
ผู้ประสานงานกลุ่มกรีนกล่าวว่า สัปดาห์หน้ากลุ่มกรีนจะส่งคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้กับ ป.ป.ช.เพื่อนำไปเป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติ่มในการสอบสวนเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และมีนโยบายช่วยเหลือผู้ต้องหาหนีคดีอาญาแผ่นดิน ซึ่งกลุ่มกรีนได้ไปยื่นกล่าวโทษไว้ที่ ป.ป.ช.เมื่อสันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่ง ป.ป.ช.จะต้องเร่งสอบสวนเรื่องนี้เพราะพยานหลักฐานชัดเจนในตัวอยู่แล้ว และเรื่องนี้เป็นที่สนใจของประชาชนอยู่ด้วยจึงไม่ควรให้เงียบหายไป ทั้งนี้ นายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ จะมองว่าคำวินิจฉัยของผู้ตรวจฯ เรื่องพาสปอร์ตเป็นเรื่องเล็ก ไม่ต้องสนใจก็ได้นั้น ระวังรัฐบาลจะตายน้ำตื้น เพราะผู้ตรวจฯ เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐทุกระดับ แม้จะไม่มีอำนาจเอาผิดชี้ขาดได้ แต่ก็ถือว่าคำวินิจฉัยผู้ตรวจฯ เป็นการริเริ่มนับหนึ่งให้องค์กรอิสระอื่นที่มีอำนาจมากกว่าต่อยอดตรวจสอบเอาผิดได้ เข่น ป.ป.ช. ศาลปกครอง หรือศาลอาญา