ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องกรณีอดีตหนุ่มออฟฟิซผู้ต้องหาคดีโพสต์ข้อความหมิ่นเบื้องสูงยื่นตีความบางมาตราใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ชี้มาตราที่ยื่นสอดคล้องว่ามุ่งคุ้มครองความมั่นคง เป็นไปตามหลักนิติธรรม คำโต้แย้งของจำเลยจึงไม่เป็นสาระ
วันนี้ (13 ก.ย.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่เอกสารข่าวระบุถึงผลการพิจารณาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกรณีศาลอาญาส่งคำโต้แย้งของจำเลย คือนายคธา ปาจริยพงษ์ อดีตพนักงานบริษัทเอกชน ที่ได้โพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันเบื้องสูงบนเว็บไซต์แห่งหนึ่งช่วงระหว่างวันที่ 22 เม.ย. 52 และ วันที่ 14-15 ต.ค 52 จนถูกดำเนินคดีฐานผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550
โดยนายคธาแย้งว่า ถ้อยคำในมาตรา 14 (2) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ระบุว่า “....โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน...” จากบทบัญญัติเต็มที่ว่า การนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน มีโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี นั้น เป็นบทบัญญัติที่ขาดความชัดเจนอันขัดหลักกฎหมายอาญาและเปิดช่องให้ผู้มีอำนาจใช้ดุลพินิจที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับจำเลยจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (3) ที่รับรองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมโดยบัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะให้คดีของตนได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม
ซึ่งการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 14 (2) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้นมุ่งคุ้มครองความมั่นคงประเทศ และความสงบเรียบร้อยของประชาชนโดยส่วนรวม ซึ่งเป็นไปตามหลักนิติธรรม และการกำหนดความผิดทางอาญาแก่บุคคลตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ถูกต้องและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (3) คำโต้แย้งของจำเลยจึงไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211 ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย