อธิบดีกรมชลประทาน เผยผลประชุม กบอ.นายกฯ ไปบางบาลพรุ่งนี้ ดูสถานีประเมินการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา รับถ้าระบายน้ำเกิน 2.5 พัน ลบ.ม.ต่อวินาที กทม.เสี่ยงแน่
วันนี้ (12 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.00 น.การประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เพื่อประเมินสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.สุโขทัย และพระนครศรีอยุธยาต่อเนื่องในช่วงบ่าย โดยนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมว่า ในพื้นที่จุดเสี่ยงจากการระบายน้ำในเบื้องต้นจะแสดงให้เห็นว่าการระบายน้ำในปริมาณเท่าไรในเขื่อนเจ้าพระยา จะมีพื้นที่เสี่ยงที่ได้รับผลกระทบกี่แห่ง โดยในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่บริเวณโรงเรียนประชากรรังสฤษฏ์ ต.บางหลวง อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งตรงจุดนี้จะมีการตั้งสถานีข้อมูลเพื่อประเมินว่าการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาพื้นที่นี้บริเวณจะได้รับผลกระทบอย่างไร ให้ทราบว่าน้ำอยู่ที่ระดับใดเพื่อเป็นข้อมูลแจ้งประชาชนในบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะมีการตั้งสถานนี้ในรูปแบบนี้เพื่อเป็นข้อมูลต้นแบบในอีกหลายจุดที่คาดว่าเป็นจุดเสี่ยง
“เนื่องจากคลองบางบาลค่อนข้างยาว ถ้าพรุ่งนี้นายกฯ ไปเห็นเราจะแสดงข้อมูลลักษณะนี้ ถ้านายกฯ เห็นชอบ ทาง ปภ.จะไปดูว่าจุดไหนควรเป็นจุดที่ให้ข้อมูล และจะทำตัวอย่างจากจุดนี้มาทำจุดต่างๆ สมมติว่าคลองบางบาลยาว 10 กิโลเมตร อาจจะประมาณ 3-4 กิโลเมตร มีจุดลักษณะเดียวกัน ที่มาเฝ้าสังเกตได้ว่าน้ำมาถึงระดับไหนอย่างไร” นายเลิศวิโรจน์กล่าว
นายเลิศวิโรจน์กล่าวต่อว่า ส่วน กทม.จะมีจุดเสี่ยงเมื่อระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาเกิน 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ที่อาจมีปริมาณน้ำเข้า กทม.ประมาณ 3,500 ลบ.ม.เนื่องจากมีน้ำหลายสาขาที่ไหลมาเติม เช่น แม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำป่าสัก ซึ่งตรงนี้จะเป็นหน้าที่ของ กบอ.ที่จะต้องเข้ามาดูแล โดยในส่วนของกรมชลประทานบริหารน้ำอยู่ 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาทีของเขื่อนเจ้าพระยา