“ชวนนท์” ซัด “ปลอด-รอยล” ทดสอบระบบป้องกันน้ำท่วม กทม.แค่สร้างภาพ เหตุปล่อยน้ำน้อยพิสูจน์อะไรไม่ได้ แต่กลับทำเมืองกรุงเก่าท่วม ดักอย่าหนีความรับผิดชอบ แฉ 30 บาทรักษาทุกโรครายได้เข้ารัฐน้อย ชี้ทำเพราะเป็นเครื่องหมายการค้า รบ.แม้ว ย้อนจริงใจให้ลดค่าประกันสุขภาพ
วันนี้ (9 ก.ย.) นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการซ้อมระบบระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าเปรียบเสมือนกับการสร้างภาพเท่านั้น เพราะการปล่อยน้ำมีปริมาณน้อยจนไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าระบบระบายน้ำของกรุงเทพสามารถได้ผลจริงหรือไม่ อีกทั้งกรณีการเกิดน้ำท่วมพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยาในช่วงที่มีการทดสอบน้ำ รัฐบาลไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลระบุเองว่ามีการทดสอบการปล่อยน้ำในฝั่งตะวันออก โดยใช้เส้นทางจากแม่น้ำป่าสัก เข้าคลองชัยนาท ผ่านคลองระพีพัฒน์แยกตก คลองสอง และคลองลาดพร้าว ดังนั้น เหตุการณ์น้ำท่วมที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทดสอบการระบายน้ำอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามแม้รัฐบาลจะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง แต่สำหรับความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลปฏิเสธไม่ได้ และต้องบรรเทาความเดือดร้อนโดยเร็ว
“ขอท้าไปยังนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และนายรอยล จิตรดอน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำใน กบอ. แสดงความรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น หรือถ้าจะยืนยันว่าเหตุการณ์น้ำท่วมดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของรัฐบาลจริง หากมีหลักฐานพิสูจน์บุคคลทั้งสองจะแสดงความรับผิดชอบหรือไม่” นายชวนนท์กล่าว
ส่วนกรณีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่กระทรวงสาธารณสุขยกเป็นหนึ่งในผลงานที่จะแถลงในวันครบรอบการทำงาน 1 ปีนั้น นายชวนนท์กล่าวว่า นโยบายนี้ไม่ได้สร้างความสำเร็จจนต้องนำมาเป็นผลงานแต่อย่างใด เพราะไม่ได้ต่างจากนโยบายรักษาฟรีในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ การนำเอาโครงการ 30 บาทฯ มาใช้นี้ไม่มีสาระอะไรนอกจากเป็นเครื่องหมายการค้าของของรัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ตนมีข้อมูลว่า การเก็บเงินค่ารักษา 30 บาทต่อการรักษานั้นสามารถเก็บเงินรายได้เข้ารัฐที่ปีละ 1-2 พันล้านบาท ซึ่งคิดได้ไม่ถึงร้อยละ 1 ของงบประมาณสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มีงบประมาณที่ .09แสนล้านบาท ดังนั้นการเก็บเงินเพื่อคงไว้ซึ่งเครื่องหมายการค้ามีความจำเป็นหรือไม่
“หากรัฐบาลมีความจริงใจที่จะช่วยเหลือประชาชนในประเด็นเรื่องการักษาสุขภาพจริงเหตุใดถึงมีการปรับลดงบประมาณรายหัวระบบประกันสุขภาพ จากปีละ 2895.60 บาทต่อปี เหลือ 2795.60 บาทต่อปี นอกจากนี้ มติคณะรัฐมนตรียังมีระบุการตัดงบประมาณในส่วนของ สปสช.ในปี 2556 ถึง 5 หมื่นล้านบาทด้วย” นายชวนนท์กล่าว