xs
xsm
sm
md
lg

“อยากเป็นประธานาธิบดี” ชนักปักหลังทักษิณ ชินวัตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ว่า หมิ่นประมาทตน ด้วยการให้สัมภาษณ์สื่อว่า คิดจะกลับมาเป็นประธานาธิบดีและยังได้กล่าวอภิปรายในสภาฯ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 ว่าในจิตใจส่วนลึกของ พ.ต.ท.ทักษิณอยากเป็นประธานาธิบดี ยิ่งทำให้ ข้อกล่าวหาดังกล่าว มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น และเป็นชนักปักหลัง ที่ยากจะถอนออกได้

เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ที่ให้ยกฟ้องนายสุเทพ ด้วยหุตผลว่า

“สำหรับจำเลยซึ่งนอกจากจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้ว ยังเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงอีกด้วย และจำเลยจะต้องปฏิญาณตนก่อนรับหน้าที่สมาชิกผู้แทนราษฎรว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 123 และเมื่อเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี จำเลยจะต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ว่าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 175

เมื่อพฤติการณ์ของกลุ่มคนเสื้อแดงและตัวโจทก์ทำให้จำเลยและประชาชนเห็นว่ามีเจตนาส่อไปในทางที่สอดคล้องกับคำเทศนาของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ จำเลยจึงจะมีสิทธิอันชอบธรรมทั้งในฐานะประชาชนที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ที่จะแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวินิจฉัยของประชาชนย่อมกระทำทั้งในฐานะผู้แทนราษฎรและในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีสิทธิแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริตในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่พนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) และ(2) ตามลำดับ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท คดีโจทก์ไม่มีข้อมูล ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยคดีโจทก์ไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นฟ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน”

สำหรับพฤติการณ์ของกลุ่มคนเสื้อแดงและตัวโจทก์ที่ศาลเห็นว่า ทำให้จำเลยและประชาชนเห็นว่ามีเจตนาส่อไปในทางที่สอดคล้องกับคำเทศนาของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ตามที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้นั้น ปรากฎในคำพิพากษา ตัวอย่างเช่น

“ วันที่ 25 ธันวาคม 2548 โจทก์ได้แสดงออกถึงพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมต่อองค์พระมหากษัตริย์ โดยโจทก์พูดถึงกลุ่มบุคคลที่มาชุมนุมที่อินดอร์สเตเดี้ยมหัวหมาก ถึงความจงรักภักดีของโจทก์ต่อองค์พระมหากษัตริย์ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 โจทก์พูดในรายการนายกฯทักษิณคุยกับประชาชนทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย คลื่นเอฟเอ็ม 92.5 เรื่องการออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของโจทก์โดยใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม วันที่ 29 มิถุนายน 2549 โจทก์พูดขณะเป็นประธานการประชุมมอบนโยบายปฏิบัติราชการให้แก่หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด และข้าราชการระดับ 10 ขึ้นไป ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลว่า มีบุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญเข้ามาวุ่นวายองค์กรที่มีในระบบรัฐธรรมนูญมากเกินไป คำพูดของโจทก์เช่นนี้ทำให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ว่าคำพูดของโจทก์ดังกล่าวทำให้ประชาชนคลางแคลงใจว่าโจทก์ไม่ปกป้องสถาบัพระมหากษัตริย์ ตามหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 5 กรกฎาคม 2549 และหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 5 กรกฎาคม 2549 “

ศาลยังอ้างถึงพฤติกรรมของคนเสื้อแดง และความเชื่อมโยงระหว่าง พ.ต.ท ทักษิณ กับคนเสื้อแดงด้วยว่า

“ ในการชุมนุมของคนเสื้อแดงแต่ละครั้ง ผู้ที่ขึ้นพูดบนเวทีมักจะกล่าวพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างเช่น การชุมนุมเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 วันที่ 10 มิถุนายน 2551 วันที่ 15 สิงหาคม 2551 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ได้มีการนำพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาติดที่ฉากหลังของเวทีซึ่งมีข้อความที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งปรากฏอยู่ รายละเอียดปรากฏตามหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 30 ธันวาคม 2551

และต่อมาเมื่อมีการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2552 แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมได้ขึ้นปราศรัยว่าการต่อสู้ครั้งนี้เป็นการชิงบ้านชิงเมืองคืนและว่าจะร่วมกันจัดตั้งสถาบันคนเสื้อแดงเพื่อเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยของประเทศไทยใหม่ และในการชุมนุมครั้งนี้ปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีการตั้งโต๊ะเพื่อรวบรวมรายชื่อเสนอให้มีการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รายละเอียดปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 และหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 1 กุมภาพันธ์ 2552

พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร เขียนบทความ ว่าพฤติการณ์ของคนไทยบางคนที่ลบหลู่หรือดูหมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์เป็นแผนการล้มการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขรายละเอียดปรากฏตามหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 17 มีนาคม 2552 พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ ให้สัมภาษณ์ ว่าการต่อสู้ของโจทก์เป็นการจ้องล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ รายละเอียดปรากฏตามหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 4 เมษายน

เมื่อมีคำท้วงติงจากพลเอกพิจิตร ดังกล่าวแล้ว โจทก์น่าจะหยุดกระทำการที่ส่อไปในทางอันเป็นการละเมิดองค์พระมหากษัตริย์ แต่โจทก์หาได้หยุดกระทำการการกระทำดังกล่าวไม่ ในทางกลับกันโจทก์กลับให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบเรื่องแผนการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 อีกทั้งยังให้การสนับสนุนกลุ่มเสื้อแดงโดยออกมาชักชวนให้ประชาชน ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน ออกมาชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 8 เมษายน 2552 และว่าการชุมนุมในวันดังกล่างอาจจะเป็นการปฏิวัติโดยประชาชน รายละเอียดปรากฏตามหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 4 เมษายน 2552 จนนำไปสู่การเกิดจลาจลในเขตกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 12 และ 13 เมษายน 2552 การก่อการจลาจลดังกล่าว แม้นายอุดม โปร่งฟ้า จะปฏิเสธว่าไม่ใช่เกิดจากการเกิดจากการกระทำของกลุ่มคนเสื้อแดงก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ปรากฏชัดเจนว่าคนที่ก่อการจลาจลโดยส่วนใหญ่ต่างใส่เสื้อสีแดง รายละเอียดปรากฏตามหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 13 เมษายน 2552”

คดีที่ศาลอุทธรณ์ ยืนตามศาลชั้นต้น มีข้อกำหนด ห้ามฎีกา ให้ถือว่าคดีถึงที่สุด ยกเว้น จะมีองค์คณะผู้พิพากษาเจ้าของคดีในศาลชั้นต้น คนหนึ่งคนใด อนุญาต จึงจะฎีกาได้

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลอาญาได้ยกฟ้องแกนนำพันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คดีที่ถูก พ.ต.ท.ทักษิณ ฟ้องหมิ่นประมาท กรณีออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 4 และ 5/2551 และฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่กล่าวหาว่า ตนอยากเป็นประธานาธิบดี ด้วยเหตุผลในทำนองเดียวกันว่า พฤติการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่อไปในทางที่ทำให้คนเชื่อได้ว่า อยากเป็นประธานาธิบดี
กำลังโหลดความคิดเห็น