xs
xsm
sm
md
lg

กระแสต้าน “แม้ว” ตกผลึกถ้าไม่รับผิด-ติดคุกก็ปรองดองยาก!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทักษิณ ชินวัตร
ผ่าประเด็นร้อน

สำหรับ ทักษิณ ชินวัตร คงคาดไม่ถึงว่าการเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาคราวนี้จะเจอกระแสต่อต้านจากคนไทยที่นั่นจำนวนมากมาย เพราะไม่ว่าจะพิจารณาจากสายตาของฝ่ายไหนไม่ว่ารักหรือเกลียดเขาก็ต้องปฏิเสธความจริงไม่พ้นว่ามีจำนวนคนไทยที่ออกมาหนาตาจริงๆ และเชื่อว่าจะกลายเป็นกระแสเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หาก ทักษิณ ยังอยู่ในที่นั่น

ขณะเดียวกัน กระแสต่อต้านดังกล่าวในสหรัฐอเมริกา เชื่อว่าได้ทำให้ ทักษิณ ต้องเสียหน้าไม่น้อย เพราะที่ผ่านมาเขามักโอ้อวดว่าได้รับการสนับสนุนจากคนไทยจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเป็นคนเสื้อแดง และพิสูจน์ให้เห็นผ่านการเลือกตั้ง ที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย วลี “ทักษิณคิดเพื่อไทยทำ” สามารถนำไปใช้ในการรณรงค์หาเสียงจนประสบความสำเร็จ ทำให้น้องสาวของตัวเอง คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ไร้เดียงสาทางการเมือง นั่นคือ มีประสบการณ์ทางการเมืองแค่ 49 วันก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และสามารถอยู่ได้ยาวนานอีกไม่กี่วันก็จะครบ 1 ปีเต็มแล้ว

ด้วยกระแสความนิยมที่พิสูจน์ผ่านทางการเลือกตั้ง และมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลทำให้ ทักษิณ ได้เครดิตในทางการเมืองระหว่างประเทศ เพราะสามารถเดินทางเข้าประเทศในยุโรปทั้ง เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ และล่าสุดก็ได้รับอนุญาตเข้าสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประเทศดังกล่าวปฏิเสธการออกวีซ่าเข้าประเทศ

ที่ผ่านมาในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย ทักษิณ แทบจะไม่มีการต่อต้านที่รุนแรงเหมือนกับที่กำลังเกิดขึ้นจากคนไทยในสหรัฐฯ มาก่อน ทำให้คาดไม่ถึง เกิดความย่ามใจ และคิดว่าการเดินทางเข้าสหรัฐฯ คราวนี้จะเป็นการ “ตบหน้า” ฝ่ายที่ยังต่อต้านให้เห็นว่า “กระแสโลก” ได้พลิกกลับมาที่เขาหมดแล้ว ต้องการแสดงให้เห็นว่าไม่มีใครติดใจเรื่องข้อหาทุจริตคอรัปชั่นที่ถูกศาลตัดสินจำคุกและยึดทรัพย์ไปแล้ว อีกทั้งยังต้องการแสดงให้เห็นว่าเขาถูกกลั่นแกล้งจากพวกอำมาตย์ที่ทำรัฐประหารโค่นล้มเขา แต่กลายเป็นว่ากระแสต่อต้านกลับรุนแรง เป็นระบบและมีจำนวนมากกว่าที่คิด มิหนำซ้ำยังติดตามไปทุกที่เขาเดินทางไป

ที่น่าจับตาก็คือการต่อต้านคราวนี้ของคนไทย ยังเป็นการประท้วงอย่างเป็นทางการไปถึงรัฐบาลวอชิงตัน ส่งสัญญาณไปถึงโอบามาและพรรคเดโมแครตว่าหากยังอนุญาตให้ ทักษิณ เข้าประเทศโดยละเลยสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน พวกเขาก็จะไม่เลือกเป็นประธานาธิบดีในการเลือกตั้งปลายปีนี้ แม้ว่าในภาพรวมอาจไม่ได้กระทบกระเทือนในทางการเมืองสำหรับประเทศนี้ แต่ก็ได้สื่อให้เห็นถึงการต่อต้านในเชิงสัญลักษณ์ออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน

ขณะเดียวกัน ในโลกออนไลน์กกระหึ่มไม่แพ้กัน ทั้งในสถานทูตสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย ก็ถูกคนไทยจำนวนมากแสดงความคิดเห็นตำหนิติเตียนอย่างรุนแรง

ที่สำคัญหลายคนเชื่อว่า การการอนุญาตให้ทักษิณเข้าสหรัฐอเมริกาครั้งนี้มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางการธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจด้านพลังงาน ที่สหรัฐฯ ต้องการใช้ทักษิณเป็น “นายหน้า”ในการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน

ด้วยกระแสต่อต้านที่รุนแรงและมีพลังดังกล่าวนี่เองที่ทำให้เครือข่ายของ ทักษิณ ต้องออกมา “เปลี่ยนเกม” ใหม่ โดยฉวยโอกาสเสนอ “ขอปรองดอง” ทันที แม้รู้ดีว่านี่คือ “เล่ห์หลายชั้น” แต่เป้าหมายก็เพื่อให้ทักษิณ พ้นผิดก็ตาม แต่ที่น่าสังเกตก็คือท่วงทำนองในการเสนอไม่แข็งกร้าวเหมือนแต่ก่อน

เริ่มจาก ทักษิณ ที่ส่งสัญญาณอีกรอบว่าต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเสนอร่างพระราชบัญญัติปรองดองแห่งชาติ (กฎหมายลบล้างความผิด) ต่อไปโดยไม่ต้องถอนร่างออกมา ถัดมาก็มาร่างของลูกชาย พานทองแท้ ชินวัตร ในสนามเฟซบุกส์ ขอให้คนไทยปรองดองเช่นเดียวกัน โดยชี้ให้เห็นว่าหากกระแสเกลียดชังของคนทั้งสองฝ่ายที่มีจำนวนมากอยู่แบบนี้ก็ยากที่จะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ โดยเสนอให้หา “คนกลาง” เข้ามาไกล่เกลี่ย ท่าทีแบบนี้ยังส่งผ่านมายังมวลชนคนเสื้อแดง ที่แสดงออกมาทาง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในเวลาไล่เลี่ยกันว่าถึงเวลาที่ต้องปรองดองกัน

แน่นอนว่าท่าทีที่เกิดขึ้นดังกล่าวหากสังเกตให้ดีก็จะเห็นว่า ผ่านการเรียบเรียงมาได้ถูกจังหวะเหมือนกัน โดยอ้างกรณีที่ ทักษิณ ถูกต่อต้านในสหรัฐฯ รวมทั้งมีคนไทยจำนวนมากในประเทศที่ยังเกลียดชังโดยเสนอให้ปรองดอง แต่นั่นก็หมายความว่าปลายทางก็คือ ทักษิณ ได้พ้นผิดไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่าถึงอย่างไรก็ไม่มีทางสำเร็จ เพราะทางหนึ่งกลุ่มคนที่เกลียดชังได้รับรู้ข้อมูลจนตกผลึกแล้ว และพร้อมที่จะปกป้องความถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรม หากยังดึงดันที่จะเสนอกฎหมายโดยอ้างว่าเพื่อต้องการ “ล้างไพ่” ใหม่รับรองว่าจะต้องเจอกับแรงต้านอย่างขนานใหญ่ และแน่นอนว่าย่อมส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาล “หุ่นเชิด” ของตัวเองนั่นแหละ

ดังนั้นยังมีหนทางเดียวที่ ทักษิณ มีวิธีปรองดองได้ก็คือ ต้องสำนึกผิดและกลับมารับโทษตามกฎหมาย ตามกระบวนการยุติธรรมเหมือนคนอื่น มีทางนี้ทางเดียวเท่านั้นจริงๆ!!
กำลังโหลดความคิดเห็น