xs
xsm
sm
md
lg

เขาถูกกล่าวหาว่า อยากเป็นประธานาธิบดี !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับเป็นครั้งที่สองแล้ว ที่ศาลอาญามีความเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีพฤติกรรมล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์และมีพฤติกรรมที่ทำให้มีผู้เข้าใจว่าเขาอยากจะกลับมาเป็นประธานาธิบดี

ครั้งแรก เมื่อสามปีที่แล้ว ในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2552 ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นโจทก์ฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จากการที่นายสุเทพต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 ว่า พ.ต.ท.ทักษิณคิดจะกลับมาเป็นประธานาธิบดีและยังได้กล่าวอภิปรายในสภาฯ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 ว่า

"ผมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณชอบระบอบประธานาธิบดี ในจิตใจส่วนลึกของ พ.ต.ท.ทักษิณอยากเป็นประธานาธิบดี"

ศาลเห็นว่า การกระทำของจำเลยคือนายสุเทพเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1)

ศาลวินิจฉัยเช่นนี้ หลังจากพิจารณาพยานหลักฐานที่นายสุเทพ ยกขึ้นอ้าง ซึ่งเป็นคำให้สัมภาษณ์ที่พาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตรย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณในวาระต่างๆ และความเชื่อมโยงระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณกับคนเสื้อแดง ซึ่งการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงหลายครั้ง มีพฤติกรรมดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ที่นำพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถติดไว้ที่ฉากหลังเวทีโดยมีข้อความที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง และการชุมนุมเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2552 ที่มีการมีการตั้งโต๊ะเสนอให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญาข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

รวมทั้งคำเทศนาของพระธรรมวิสุทธิมงคล หรือ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2548 ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณยังมีอำนาจอยู่ว่า "อย่าคิดอาจเอื้อมเป็นประธานาธิบดี” ซึ่งศาลเห็นว่า “จากพฤติการณ์ของโจทก์และกลุ่มคนเสื้อแดงย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่า มีเจตนาที่ส่อไปในทางที่สอดคล้องกับคำเทศนาของหลวงตามหาบัวญาณสัมปันโน”

ครั้งที่สองที่ข้อกล่าวหาว่า พ.ต.ท.ทักษิณอยากจะเป็นประธานาธิบดี ถูกพิสูจน์อีกครั้ง เมื่อศาลจังหวัดปทุมธานีมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง ยกฟ้องคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณฟ้องแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ในกรณีที่พันธมิตรฯ ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 4 /2551 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2551 คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างความผิดของตนเองและพวกพ้อง และแถลงการณ์ฉบับที่ 5/2551 วันที่ 2 เมษายน 2551 เรื่อง พร้อมต่อต้านอาชญากรประชาธิปไตยเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญ

หลังจากพิจารณาคำให้การของพยานบุคคล เอกสารที่ทั้งสองฝ่ายนำเสนอแล้ว ศาลมีความเห็นว่า

“โจทก์ไม่เคยมาศาลเพื่อเบิกความเป็นพยานยืนยันด้วยตนเองปฏิเสธข้อเท็จจริงนี้ เพื่อให้โอกาสทนายจำเลยถามค้านกระจายข้อเท็จจริงให้กระจ่างชัดตามสิทธิของจำเลย คงมีแต่นายพิชา ป้อมค่าย ฝ่ายผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความเป็นพยานบอกเล่าเท่านั้น น้ำหนักคำพยานฝ่ายโจทก์เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเองว่าไม่ได้มุ่งหวังผลตามแถลงการณ์ของกลุ่มพันธมิตรจริง ยังน่าเคลือบแคลงไม่หนักแน่นมั่นคง เพราะยังมีข้อครหาเกี่ยวกับการหลบหนีคดีความในชั้นศาลจริง ด้วยเหตุนี้พยานฝ่ายจำเลยจึงมีน้ำหนักและเหตุผลน่าเชื่อยิ่งกว่า

สามารถรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า การกระทำของโจทก์ต่างๆ ตามข่าวสารพอมีมูลให้ฝ่ายจำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า โจทก์มีเจตนากระทำการอย่างที่คัดค้านหรือต่อต้านไว้ ตามแถลงการณ์ฉบับที่ ๔/๒๕๕๑ และฉบับที่ ๕/๒๕๕๑ นั้น ถูกต้องเป็นความจริง ดังนั้น ประชาชนจึงมีสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รักษาผลประโยชน์ของชาติและปฏิบัติตามกฎหมาย”


นอกจากเรื่องแถลงการณ์ทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว ในคดีเดียวกันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณยังฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล เพิ่มอีกกระทงหนึ่งว่า กล่าวหาตัวเองอยากจะเป็นประธานาธิบดี ด้วยการให้สัมภาษณ์สื่อว่า “การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ดูให้ลึกๆ แล้ว ถ้าสามารถทำได้ นั่นคือ พื้นฐานเงื่อนไขข้อแรกของการนำไปสู่ระบอบประธานาธิบดี” และ “อีกหน่อยวันดีคืนดี ใครก็ตามเอาเงินมาซื้อเสียงเข้ามามีเสียงข้างมากในสภา อยากจะขอแก้รัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์บ้างละ ก็สามารถทำได้เช่นกัน ฯลฯ”

ฝ่ายจำเลยอ้างหลักฐานต่างๆ ที่เป็นภาพถ่าย คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่สะท้อนถึงความคิด รวมทั้งคำตักเตือนของหลวงตามหาบัวอีกครั้งหนึ่ง ให้ศาลพิจารณา หลักฐานบางชิ้น ศาลเห็นว่ายังไม่ชัดเจนว่าโจทก์มีเจตนาล้มล้างรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประธานาธิบดี

“แต่จำเลยที่ ๑ (นายสนธิ) ยังมีข้อเท็จจริงตามคำเทศนาของหลวงตามหาบัว เอกสารหมาย ล.๔๐ น่าเชื่อถือศรัทธาเป็นที่ประจักษ์บอกเล่าถึงโจทก์ที่หวังอาจเอื้อมเป็นประธานาธิบดี ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ ๑ นำเรื่องราวต่างๆ ของโจทก์มาประกอบรวมกันทั้งหมดแล้วจึงอาจทำให้เข้าใจไปได้ว่า โจทก์อาจต้องการล้มล้างรัฐธรรมนูญจริง จึงให้สัมภาษณ์ไปในสาธารณะเช่นนั้น คำให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ ๑ ยังพอถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ตามความเชื่อของตนว่าเป็นความจริง

ตามข่าวเอกสารหมาย ล.๒๕-ล.๒๘ ศาลตรวจอ่านดูแล้วทราบว่าโจทก์ให้สัมภาษณ์พาดพิงและล่วงละเมิดสถาบันเบื้องสูงอย่างรุนแรง และเป็นคำพูดที่ไม่เหมาะสมชี้ให้เห็นจุดประสงค์ที่แท้จริงของโจทก์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีข่าวว่าเหล่าทัพออกมาชี้แจงให้ผู้ใต้บังคับบัญชาระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเทิดทูนพระมหากษัตริย์

ข้อเท็จจริงตามข่าวสารดังกล่าวจึงมีมูลเหตุให้น่าเชื่อไปได้ว่า โจทก์มีพฤติกรรมดังกล่าวจริง สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของโจทก์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาของศาลอาญาซึ่งยกฟ้องโจทก์คดีหมิ่นประมาทเรื่องกลับมาเป็นประธานาธิบดี เอกสารหมาย ล.๒๙ ทำให้ข้อเท็จจริงต่างๆ ย้อนกลับไปยังให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ ๑ ขณะเกิดเหตุว่าอาจมีมูลความจริงตามที่เชื่อก็ได้ สมควรยกประโยชน์ในทางเป็นคุณให้แก่จำเลยที่ ๑


คดีรับฟังได้ว่า คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำโดยสันติวิธี ด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติ จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนในฐานะประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญมีสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามครองธรรมแล้ว จำเลยที่ ๑ จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ (๑)”
กำลังโหลดความคิดเห็น