รักษาการประธานวุฒิสภา ได้หนังสือถอด “สุเทพ” พ้น ส.ส.สุราษฎร์ แล้ว คาดนัดประชุมลงมติวุฒิสภา เพื่อถอดถอนหรือไม่ กลางเดือนกันยายนนี้ ชี้ ต้องมีเสียงไม่น้อยกว่า 89 ราย
วันนี้ (8 ส.ค.) ที่รัฐสภา มีรายงานจากวุฒิสภา ว่า นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ในฐานะรักษาการประธานวุฒิสภา ได้รับเอกสารกำหนดกรอบแนวทางขั้นตอนการดำเนินการของสำนักงานเลขาวุฒิสภา กรณีการถอดถอน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งตามข้อบังคับการประชุม
โดยเอกสารได้กำหนดกรอบเวลาการดำเนินการเบื้องต้น ดังนี้ ในวันที่ 8 ส.ค.จะเข้าสู่กระบวนการถอดถอนตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2551 หมวด 6 ว่าด้วยการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ โดยที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะมีหนังสือแจ้งให้สมาชิกวุฒิสภา และ นายสุเทพ (ผู้ถูกกล่าวหา) มารับสำเนารายงานการไต่สวน จากนั้นในวันที่ 10 ส.ค.จะดำเนินการแจกสำเนารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.จำนวน 110 แผ่น แก่สมาชิกวุฒิสภา และ นายสุเทพ (ผู้ถูกกล่าวหา) ไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนการประชุมนัดแรกในวันที่ 27 ส.ค.ทั้งนี้ ภายในวันที่ 22 ส.ค.นายสุเทพ (ผู้ถูกกล่าวหา) มีสิทธิยื่นคำร้องเพิ่มเติมพยานหลักฐานตามเงื่อนไขที่ข้อบังคับการประชุมกำหนดได้ก่อนการประชุมนัดแรกไม่น้อยกว่า 5 วัน
ส่วนการประชุมนัดแรกในวันที่ 27 ส.ค.เวลา 10.00 น.จะให้ที่ประชุมวุฒิสภากำหนดวันแถลงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ผู้ถูกกล่าวหา รวมถึงพิจารณาคำขอเพิ่มเติมพยานหลักฐานผู้ถูกกล่าวหา (ถ้ามี) ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการนัดประชุมครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 3 ก.ย.สมาชิกวุฒิสภามีสิทธิเสนอญัตติเกี่ยวกับประเด็นซักถามที่จะดำเนินการโดยคณะกรรมาธิการซักถามล่วงหน้าก่อนวันประชุม ครั้งที่ 2 โดยเบื้องต้นคาดว่า จะประชุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 4 ก.ย.เพื่อฟังคำแถลงปิดสำนวนของ ป.ป.ช.และคำแถลงคัดค้านของ นายสุเทพ (ผู้ถูกกล่าวหา) โดยไม่มีการซักถาม รวมถึงตั้งคณะกรรมาธิการซักถามขึ้น ทั้งนี้ การประชุมครั้งที่ 3 ในวันที่ 10 ก.ย.เวลา13.00 น.ซึ่งหากที่ประชุมมีมติให้มีการซักถามในประเด็นปัญหาใด ต้องกำหนดให้มีการประชุมวุฒิสภา เพื่อซักถามผู้เกี่ยวข้องภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ที่ประชุมมีมติ โดยจะเปิดโอกาสให้คู่กรณีมีสิทธิยื่นคำขอแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจา หรือหนังสือต่อที่ประชุมวุฒิสภา ภายใน 7 วัน นับแต่วันแถลงปิดสำนวนเสร็จสิ้น หรือระหว่างวันที่ 4-10 ก.ย.
อย่างไรก็ตาม ภายในวันที่ 16 ก.ย.จะเป็นการประชุมครั้งที่ 4 โดยประธานวุฒิสภา จะนัดประชุมเพื่อรับฟังคำแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำขอ สุดท้ายการประชุมครั้งที่ 5 ให้ประธานวุฒิสภา เรียกประชุมเพื่อลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนภายใน 3 วัน นับแต่วันแถลงปิดสำนวนด้วยวาจา หรือวันพ้นกำหนดให้ยื่นแถลงการณ์ปิดสำนวนเป็นหนังสือ ทั้งนี้ มติที่ให้ถอดถอนผู้ใดออกจากตำแหน่ง ให้ถือคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา คือ ไม่น้อยกว่า 89 คน และเมื่อวุฒิสภา มีมติ ก็ให้ประธานวุฒิสภา แจ้งมติโดยทันที ให้แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช.นายสุเทพ (ผู้ถูกกล่าวหา) เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง