“เฉลิม” เผยนายกฯ สั่ง 3 รองนายกฯ แก้ปัญหาชายแดนใต้ มั่นไม่มีปัญหาการสั่งงาน ตนลุยงานด้านการข่าว ยัน รบ.ไม่ปรับนโยบาย อ้างมีผู้ก่อการขอมอบตัว 40 คน พร้อมเงื่อนไข ชี้หากข้อหาไม่หนักอาจทำเหมือนผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เย้ย ปชป.เป็น รบ.ไม่มีใครมามอบตัว เล็งให้ทหารปลดประจำการ บรรจุเป็นตำรวจที่ขาดแคลน ยันภาคใต้ไม่ใช่แหล่งยาเสพติด-มั่นไม่มีวุ่นวาย วันตัดสินถอนประกันแกนนำแดง
วันนี้ (8 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวก่อนเข้าร่วมประชุมศูนย์ปฎิบัติการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันนี้ (8 ส.ค.) ว่า ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด การที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาโวยวายก็เป็นความเข้าใจผิด เพียงแต่เป็นการพัฒนาการแก้ไขปัญหามากขึ้น โดยที่ผ่านมา พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบหลัก แต่บางครั้งอาจมีข้อขัดข้องที่ฝ่ายทหารไปสั่งการอะไรไม่ได้ทั้งหมด หรือบางทีนายอำเภอตั้งด่านตรวจโดยที่กำลังมีน้อยก็สั่งให้ทหารมาช่วยไม่ได้ ส่วนตำรวจกับทหารส่วนมากประสานกันได้ เพราะว่าเป็นรุ่นน้องรุ่นพี่กัน
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวต่อว่า เมื่อพบปัญหาเช่นนี้ นายกฯจึงมอบหมายให้ตน และนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย มาร่วมอีกคน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาไปพร้อมกัน นอกจากนี้ นายกฯ เคยได้ไปตรวจเยี่ยมสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และเห็นว่าตนทำห้องควบคุมสั่งการได้ดี สามารถประสานกับทุกภาคส่วนได้ จึงสั่งให้ตนไปบูรณาการเรื่องการติดต่อสื่อสารเครื่องมือทั้งหมด ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตนจึงใช้พื้นที่ชั้นที่ 20 และของบประมาณเพิ่มเติมเพื่อบูรณาการงานทั้งหมด โดยเฉพาะด้านการข่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ปัญหาในพื้นที่จำเป็นต้องมีซีอีโอเป็นผู้ตัดสินใจได้ การตั้ง 3 รองนายกฯมาการทำงานอาจทำให้เกิดความสับสนในการสั่งการหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า การทำงานตอนนี้ก็มีการบูรณาการอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลพรรคเดียว อำนาจหลักอยู่ที่นายกฯ คำสั่งด้านยุทธการก็เป็นของกองทัพบกและ กอ.รมน.ภาค 4 เป็นผู้รับผิดชอบ
รองนายกฯ เปิดเผยด้วยว่า ในการประชุมวันนี้ตนจะแจ้งเรียนนายกฯ ทราบว่า มีแนวร่วมผู้ก่อการในพื้นที่ภาคใต้ประสานขอเข้ามอบตัวกับตน 40 คน โดยมีเงื่อนไข 3 ข้อ หลักๆ ก็เกี่ยวกับการดำเนินคดี การประกันตัว หรืออยู่ในที่ควบคุมในการต่อสู้คดี ซึ่งต้องมาดูก่อนว่าข้อหาที่กระทำผิดและมามอบตัวนั้น หน่วยความมั่นคงยอมรับได้หรือไม่ เพราะมีเหตุที่ทำให้ทหารตำรวจเสียชีวิตไปค่อนข้างมาก และจะมามอบตัวกันง่ายๆ จะทำได้หรือไม่ ซึ่งรายละเอียดเงื่อนไขทั้งหมดยังเปิดเผยไม่ได้ เพราะต้องให้ฝ่ายความมั่นคงไปพิจารณาวิเคราะห์เงื่อนไขทั้งหมดก่อน เบื้องต้นหากข้อหาไม่หนักมากก็อาจพิจารณาในลักษณะเดียวกับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยในอดีต
“คนที่ขอมอบตัวได้ส่งทนายมาพูดคุย ผมก็ให้ไปพบ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รอง ผบ.ตร. เพื่อพิจารณาก่อน โดยในวันที่ 10 ส.ค.ผมจะไปประชุมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้วฟังรายงานเรื่องนี้ หากยอมรับได้ก็จะเปิดทำเนียบฯ มาพูดคุยกันเลย อาจจะให้ญาติของผู้ต้องหา 100 คนจะมาพบก่อน ซึ่งผมก็จะบอกกับญาติเหล่านั้นว่าขออย่าให้ผู้ต้องหาหนีขอให้มามอบตัวกันเถอะ ซึ่งนี่เรียกว่าเป็นการทำงานเชิงรุก ซึ่งรัฐบาลที่แล้วไม่ได้ทำ สมัยที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลบอกว่าจะแก้ไขได้ภายใน 99 วัน ผ่านไป 2 ปี 8 เดือนก็ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้เหมือนกัน ถามว่าเคยมีใครติดต่อมามอบตัวไหม” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
เมื่อถามย้ำว่า เกรงว่าหากนำกลุ่มคนเหล่านี้มาจะกลายเป็นไส้ศึกสืบความลับราชการหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า แล้วเราปล่อยกันอย่างนี้มันมีอะไรดีขึ้น เราต้องรู้จักการปรับเปลี่ยนบ้าง
สำหรับปัญหากำลังเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ไม่เพียงพอนั้น ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า กำลังจะเสนอให้มีการนำทหารที่ปลดประจำการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาบรรจุในอัตราของตำรวจที่ขาดแคลน เบื้องต้นคาดว่าประมาณ 4,000 คน จากที่ตอนนี้คาดแคลนอยู่ราว 5,000 คน
ผู้สื่อข่าวยังถามถึงปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อาจมีส่วนในการก่อความสงบ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ที่ภาคใต้ไม่ใช่แหล่งผลิตยาเสพติด เพราะส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้จะเป็นใบกระท่อมกับกัญชา ซึ่งก่อนหน้านี้ตนได้สั่งการให้ไปกวาดล้างที่เขตหนองจอกและมีนบุรี กทม. ก็ทำให้มีน้อยลงไปบ้าง
รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงกรณีที่ศาลอาญาจะมีคำวินิจฉัยที่ตามที่มีผู้ยื่นคำร้องถอนประกัน 24 แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 9 ส.ค.ว่า เรื่องนี้คงไปยุ่งกับศาลไม่ได้ เพราะหากใครไปรุ่มร่ามไปก็มี
เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายมีการวิเคราะห์หรือไม่ว่าผลการพิจารณาของศาลเป็นอย่างไร รองนายกฯ ปฏิเสธที่จะตอบคำว่าโดยกล่าวว่า จะเป็นการละเมิดอำนาจศาล สำหรับความกังวลที่จะเกิดความวุ่นวายบริเวณศาลอาญานั้น เชื่อว่าคงไม่มี เพราะนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ในฐานะแกนนำ นปช.บอกแล้วว่าจะเคารพคำสั่งศาล และตนคิดว่าคงไม่มีใครที่จะกล้าไม่พอใจศาล เวลาศาลตัดสินทุกคนก็น้อมรับ