อบจ.สุรินทร์ เตรียมต้อนรับนายกฯ เยี่ยมคชศึกษา ระหว่างทัวร์ครม.สัญจร เล็งของบ 300 ล้านช่วยพัฒนาศูนย์ช้าง พร้อมเตรียมพิธีเซ่นไหว้ศาลปะกำให้ด้วย ตามรอย "พี่ชาย" สมัยนั่งนายกฯ หวังช่วยคนเลี้ยงแก้ปัญหาช้างเร่ร่อน ผุดโลกของช้างดึงดูดนักเที่ยว
วันนี้ (28 ก.ค.) ที่จ.สุรินทร์ นายสุริยะ ร่วมพัฒนา รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ กล่าวถึงการเตรียมรับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะโอกาสมาเยี่ยมชมศูนย์คชศึกษาว่า ศูนย์แห่งถือเป็นหมู่บ้านที่เลี้ยงช้างใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งวันนี้ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดและองค์การสวนสัตว์ได้เริ่มจัดโครงการช้างคืนถิ่นและพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวให้ชาวบ้านจังหวัดสุรินทร์มีรายได้ เพื่อให้ช้างกับคนสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยกิจกรรมที่จะนำเสนอ และโอกาสที่นายกฯมาเยี่ยมชมศูนย์จะบรรยายสรุปให้ทราบถึงปัญหาแหล่งอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญรวมถึงค่าตอบแทน เพื่อให้นายกฯช่วยผลักดันเกี่ยวกับเรื่องงบประมาณในการพัฒนาด้านต่างๆทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย แหล่งน้ำ การปลูกป่า เพื่อให้ความเจริญเกิดขึ้นประชาชนจะมีความเป็นอยู่ที่ดี โดยงบประมาณที่จะขอมาดำเนินโครงการตั้งไว้ประมาณสามร้อยกว่าล้าน เพราะลำพังงบทางจังหวัดไม่เพียงพอ
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานที่ตั้งศูนย์คชศึกษาแห่งนี้จะเป็นที่ตั้งศาลปะกำโดยในอดีตจะใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อโบราณของชาวส่วยหรือชาวกูย ซึ่งเชื่อกันว่า ศาลปะกำถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิ่งจูงที่ทำให้จิตใจเข้มแข็ง เมื่อใครได้เซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะคุ้มครองตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อนายกฯมาเยี่ยมชมจึงได้จัดเตรียมให้นายกฯประกอบในพิธีกรรมนี้ด้วย ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เคยมานั่งช้างและร่วมประกอบพิธีเซ่นไหว้ศาลพระปะกำทำให้พ.ต.ท.ทักษิณ ตอนนั้น มีบารมีเป็นที่ยอมรับจนถึงปัจจุบัน หากนายกฯมาแล้วได้ชมและได้เซ่นไหว้จะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้นายกฯสามารถปฏิบัติหน้าที่เจริญรุ่งเรืองและต่อสู้อุปสรรค์ต่อไปได้ นี่คือความเชื่อของชาวบ้านเมืองช้าง
รองนายกฯ อบจ.สุรินทร์ กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาช้างเร่ร่อนมีหลายจังหวัด เราไม่สามารถรับได้หมด แต่เมื่อองค์การสวนสัตว์เข้ามาช่วยเหลือคาดว่าต่อไปช้างเร่ร่อนจะไม่มีอีก และเวลานี้ศูนย์มีช้างประมาณกว่า 200 เชือกและองค์การสวนสัตว์รับไว้อีกกว่า 130 เชือกรวมทั้งจังหวัดสุรินทร์ประมาณ 600-700 เชือก โดยบางส่วนไปหากินอยู่ที่สวนนงนุชพัทยา ดังนั้นอยากให้นายกฯสนับสนุนอาชีพคนเลี้ยงช้างเพื่ออนุรักษ์สัตว์คู่บ้านคู่เมืองไว้ให้คนรุ่นหลังและแก้ปัญหาช้างเร่ร่อน
ด้านนายกิตติภัทร รุ่งธนเกียรติ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนขึ้นอยู่กับรัฐบาล เพราะโครงการ Elephant World โลกใหม่ของช้างเราสามารถดูแลช้างได้ประมาณ 500 เชือก ซึ่งโครงการนี้จะประกอบด้วยโรงพยาบาล อาหาร แหล่งน้ำให้ช้าง โดยมีแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีเป็นศูนย์กลาง หากคนกับช้างลงเล่นน้ำไปจะเป็นไฮไลท์ของชาวต่างชาติที่จะมาเที่ยมชม ดังนั้นถ้ารัฐบาลอนุมัติโครงการอีเลฟเฟ้นท์เวิร์ลด์ออกมาต่อไปช้างจะมารวมกันมากขึ้น และในอนาคตเราอาจนำช้างมอบให้สวนสัตว์แต่ละประเทศสานสัมพันธไมตรี เช่นเดียวกับหมีแพนด้า ปัญหาวันนี้ควานช้างและช้างอยู่ไม่ได้ขาดอาหาร กลายเป็นช้างเร่ร่อน คนเลี้ยงช้าง ช้างเลี้ยงคน ดังนั้นการใช้งบประมาณด้วยเงิน 2 - 3 ร้อยล้านแก้ปัญหาและเพื่อหน้าตาของประเทศไม่ใช่เรื่องมาก ถือเป็นการแก้ปัญหาแบบครบวงจรพร้อมกันนี้ต้องการให้จังหวัดสุรินทร์เป็นศูนย์กลางอีสานใต้แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมขอมด้วย จึงเสนอโครงการ Elephant World ในที่ประชุมครม.สัญจรครั้งนี้ และจะให้ ครม.พิจารณาช่วยเหมือนเรื่องราคาข้าวหอมมะลิจังหวัดสุรินทร์ด้วย โดยสรุปทางจังหวัดจะเสนอให้ครม.พิจารณาเรื่องท่องเที่ยว คมนาคม และข้าวหอมมะลิเป็นหลัก