xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อร้านหนังสือขอเก็บ“แปะเจี๊ยะ”จากสำนักพิมพ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในต่างประเทศมีข้อห้ามการทำธุรกิจหนังสือผูกขาด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ กล่าวคือ ห้ามธุรกิจสำนักพิมพ์ เปิดร้านหนังสือ หรือ ทำสายส่ง ในทางกลับกัน ใครที่อยู่ในธุรกิจร้านหนังสือ จะไปเปิดสำนักพิมพ์ ทำสายส่งไม่ได้

หลายประเทศในยุโรป กำหนดส่วนลดราคาหนังสือ เช่น ฝรั่งเศส ห้ามลดราคาหนังสือเกิน 5% ของราคาปก บางประเทศห้ามลดราคาหนังสือใน 2 ปีแรกที่หนังสืออกวางจำหน่าย

การที่ประเทศต่างๆ มีข้อห้ามดังกล่าว ก็เพราะเห็นว่า หนังสือ เป็นสินค้าทางปัญญาที่จะช่วยเผยแพร่ความรู้ ปลูกฝังความคิด สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในชาติ หนังสือและร้านหนังสือนอกจากจะเป็นสินค้า และธุรกิจแล้ว จึงมีมิติที่มีสถานะเป็นสถาบันทางสังคมที่ไม่อาจปล่อยให้อยู่ภายใต้อำนาจของตลาดเสรีแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ปลาใหญ่กินปลาเล็กได้

ข้อห้ามการผูกขาดแบบครบวงจร และนโยบายการควบคุมการกำหนดราคา มีเป้าหมายเพื่อ คุ้มครอง สำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ ขนาดเล็กๆ ให้อยู่ได้ และกระจายกันอยู่ในทุกซอกทุกมุม ผลิตและขายหนังสือที่หลากหลาย ไม่ใช่ผลิตแต่หนังสือขายดี ที่ปั๊มชื่อเซเลบ ตามกระแสการตลาดเท่านั้น

ในโลกนี้ คงจะมีไม่กี่ประเทศ ที่ยอมให้ธุรกิจหนังสือ อยู่ภายใต้การผูกขาดของธุรกิจขนาดใหญ่ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น ที่มีธุรกิจหนังสือขนาดใหญ่ สองสามกลุ่มที่ ทำทั้งโรงพิมพ์ สำนักพิมพ์ สายส่ง และเครือข่ายร้านหนังสือ

การผูกขาดนี้ ทำให้ ธุรกิจร้านหนังสือขนาดใหญ่ มีอำนาจเหนือสำนักพิมพ์ ผู้ผลิตหนังสือ สามารถกำหนด กติกา ที่เป็นประโยชน์กับตัวเองได้ตามใจชอบ เพราะคุมช่องทางการจัดจำหน่ายคือ ร้านหนังสือเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์อยู่ในมือ

เรื่องที่กำลังเกิดขึ้นในธุรกิจหนังสือ คือ ธุรกิจร้านหนังสือยักษ์ใหญ่ คือ ซีเอ็ด และอมรินทร์ ขอเก็บ “แปะเจี๊ยะ” หรือ เงินกินเปล่า 1 % ของราคาหนังสือ ที่วางขายในร้านซีเอ็ดและร้านนายอินทร์ทำให้ผู้ประกอบการสำนักพิมพ์ และสายส่งรวมตัวกันคัดค้านเรื่องนี้

“เวียง” หรือ นายวัชระ บัวสนธ์ เจ้าของและบรรณาธิการ สำนักพิมพ์สามัญชน ได้เขียนจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาดูแล อย่าปล่อยให้ซีเอ็ด และอมรินทร์ เขียนกติกาตามใจชอบ


จดหมายเปิดผนึก

เรียน กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงศึกษาธิการ ท่านผู้อ่าน และเพื่อนสำนักพิมพ์ทั้งหลาย


สืบเนื่องมาจากสองผู้ประกอบการร้านค้าเครือข่ายยักษ์ใหญ่ในวงการหนังสือบ้านเรา คือซีเอ็ดกับอมรินทร์ ได้จับมือกัน ก่อนออกจดหมายลงวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ส่งไปยังผู้ข้องเกี่ยวต่างๆ อาทิ บริษัทจัดหน่าย หรือสายส่ง และสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เป็นต้น

สาระสำคัญในจดหมายฉบับดังกล่าว มีอยู่ว่า นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม ศกนี้เป็นต้นไป ทั้งซีเอ็ดและอมรินทร์จะดำเนินการเรียกเก็บค่ากระจายสินค้าในอัตรา 1% ของมูลค่ารวมในใบส่งสินค้า

ต่อมา เมื่อวันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม เวลา 14.00 น. ที่ผ่านมา ได้มีการนัดหมายประชุมร่วมสามฝ่ายในเรื่องนี้ คือ ชมรมส่งเสริมการจัดจำหน่ายหนังสือ, สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ และตัวแทนร้านซีเอ็ดกับร้านนายอินทร์ (เครืออมรินทร์) จากนั้นวันรุ่งขึ้น นายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ในฐานะอุปนายกฝ่ายในประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ได้ออกจดหมายลงเวลา 11.00 น. แจ้งผลการประชุม โดยใช้คำว่า ‘มีมติ’ รวม 3 ข้อ ได้แก่

1. ให้ยกเลิกจดหมายของซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์และร้านนายอินทร์ ฉบับวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

2. เชิญเพื่อนสมาชิกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ร่วมรับฟังการเสวนาในเวทีกลาง เรื่อง ‘โครงสร้างอุตสาหกรรมหนังสือ จากวันนี้สู่อนาคต’ ในวันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 14.00 น. ณ ห้อง Meeting Room 3 และ 4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

3. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาเหตุผลและความจำเป็นในการเก็บค่า DC ตลอดจนแนวทางการพัฒนาประสิทธิภาพการส่งมอบและรับคืนสินค้าระหว่างสำนักพิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย และร้านหนังสือ ภายใน 1 เดือน โดยมี นายเสน่ห์ ดงยะโสภา เลขาธิการสมาคมฯ เป็นประธาน และมีนายทองนาค เพ็งชนะ, นายถนัด ไทยปิ่นณรงค์, น.ส. ศรีนวล ก้อนศิลา, นายวินัย ชาติอนันต์, น.ส. จิตรา อุเทนโภคา, น.ส. ฐาปนี โปร่งรัศมี และนายปัณณธร ไชยบุญเรือง เป็นอนุกรรมการ

ก่อนอื่น ผมเห็นจะต้องขออนุญาตเรียนอธิบายเพิ่มเติมสักนิดหนึ่ง กล่าวคือ หนังสือที่เราเห็นๆ วางขายอยู่ตามร้านค้าทั่วไปนั้น แต่ไหนแต่ไรมา ล้วนแล้วแต่ใช้ระบบฝากขายกันแทบทั้งนั้น หมายความว่า หน้าร้านอาศัยกินเปอร์เซ็นต์จากเล่มที่ขายได้ เล่มใดขายไม่ได้ ก็ไม่คิดตังค์จากสำนักพิมพ์หรือสายส่งแต่ประการใด

พูดอีกแบบก็คือ ข้อปฏิบัติดังกล่าวยังคงอยู่ แต่สองผู้ประกอบการร้านหนังสือเครือข่ายยักษ์ใหญ่อย่างซีเอ็ดกับอมรินทร์ ต้องการเรียกเก็บตังค์กินเปล่าเพิ่มอีก 1% ของยอดส่งสินค้าฝากขาย โดยผิวเผิน อาจดูเหมือนเป็นตัวเลขไม่สูงเท่าไร แต่ถ้าพิจารณาจากมูลค่าปกหนังสือที่ผลิตกันในช่วงปีปัจจุบัน ซึ่งมีการประเมินกันว่าไม่น่าจะต่ำกว่าสามหมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป เช่นนี้แล้ว หนึ่งเปอร์เซ็นต์ของยอดดังกล่าวที่จะไหลเข้ากระเป๋าของสองบริษัทมหาชนแบบเปล่าๆ ปลี้ๆ เป็นจำนวนเงินมากน้อยแค่ไหน ก็ลองคิดคำนวณกันเอาเองก็แล้วกัน

ย้อนกลับไปดูสิ่งที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เรียกว่า ‘มติ’ ทั้งสามข้อข้างต้นอีกครั้งกันดีกว่า หากไม่มีข้อสองและสามผูกพ่วงตามมา ย่อมแสดงว่าผลการประชุมวันนั้นได้ข้อยุติเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้วในแง่ที่สำนักพิมพ์ทั้งหลายไม่ต้องจ่ายค่ากินเปล่าให้กับซีเอ็ดกับอมรินทร์ (ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นร้านค้าปลึกหนังสือระดับยักษ์ใหญ่อย่างไม่ต้องสงสัยในวันนี้) แต่ถ้าอ่านความหมายในข้อสามให้ดีๆ ก็จะพบว่า แท้แล้วเป็นเพียงการเลื่อนเวลาในการพิจารณาความประสงค์ของสองผู้ประกอบการฯออกไปอีกหนึ่งเดือนเท่านั้น โดยระหว่างนี้ได้จัดให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมา เพื่อเจรจาหารือกันให้จบภายในเวลาดังกล่าว

ส่วนในข้อสองนั้น ถ้าคาดการณ์ไม่ผิด คงมีตัวแทนของซีเอ็ดกับนายอินทร์ออกมาอรรถาธิบายถึงความจำเป็นสารพัดสารพัน ในการเรียกเก็บเงินเก็บทองจากสำนักพิมพ์หรือบริษัทจัดจำหน่ายหนังสือทั้งหลายนั่นแหละ

(ขอความกรุณาเถอะครับ ทั้งซีเอ็ดและนายอินทร์ ได้โปรดอย่ามาอ้างให้เปลืองน้ำลายเลยว่า ในการดำเนินธุรกิจร้านหนังสือทุกวันนี้ มีค่าใช้จ่ายจิปาถะ ทั้งรังแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขยายสาขาที่มีมาตลอดต่อเนื่อง ก็สะท้อนให้เห็นอยู่ทนโท่แล้วว่า ผลประกอบการธุรกิจด้านนี้เป็นเช่นไร)

เอาละมาดูกันว่า สิ่งซึ่งจะตามมาในเรื่องนี้ มีอะไรอย่างนั้นหรือ?

1.หากสำนักพิมพ์หรือสายส่งใดไม่ยอมรับเงื่อนไข คุณก็ไม่มีสิทธิ์ส่งหนังสือมาวางขายในร้านซีเอ็ดกับนายอินทร์ ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่า ลำพังหนังสือที่พวกเขาผลิตเองก็เหลือเฟือ แทบไม่มีที่วางขายอยู่แล้ว พูดกันตามประสาชาวบ้านก็คือ ไม่มีความจำเป็นจะต้องไปมีไมตรีกับใครหน้าไหนก็ได้

ต่อกรณีนี้ ถ้าธุรกิจร้านหนังสือในบ้านเราไม่ถูกผูกขาดด้วยอำนาจเงินลงทุนที่เหนือกว่าของสองผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ หายนะอันจะเกิดแก่สำนักพิมพ์ทั่วไป และผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อย อาจยังมาไม่ถึง ชั่วๆ ดีๆ ความหลากหลายทางชีวภาพของหนังสิอก็ยังพอมีอยู่

2.ถ้าสำนักพิมพ์ยอมรับเงื่อนไข ก็เท่ากับมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยปริยาย ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมุติสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งผลิตหนังสือในปี 2556 มูลค่ารวมหนึ่งร้อยสิบล้าน ถือเสียว่า ส่งไปวางร้านค้าอื่นที่ไม่มีข้อกำหนดแบบซีเอ็ดกับอมรินทร์สักสิบล้าน เหลืออีกหนึ่งร้อยล้าน จัดส่งไปยังสองเจ้ายักษ์ใหญ่ สำนักพิมพ์นี้จะต้องเตรียมเงินไปใส่พานถวายเปล่าๆ ปลี้ๆ (โดยไม่มีหลักประกันอันใดว่าจะขายหนังสือได้ขั้นต่ำเท่าไร) รวมแล้วหนึ่งล้านบาทเนื้อๆ นะครับ

ถามต่อไปว่า สำนักพิมพ์จะไปหาค่าใช้จ่ายที่งอกเพิ่มขึ้นฉับพลันทันทีนี้จากที่ไหน หากไม่ไปแอบขึ้นราคา ขูดรีดเอาจากผู้อ่านให้มาช่วยกันจ่ายเงินกินเปล่าแก่ซีเอ็ดและอมรินทร์ (แต่ยิ่งขึ้นราคามากเท่าไร ใช่ว่าจะช่วยให้หนังสือขายได้มากขึ้นเสียที่ไหน ส่วนใหญ่เป็นตรงกันข้ามด้วยซ้ำ) ทว่าการเพิ่มต้นทุนการอ่าน โดยผลักภาระให้ผู้อ่านต้องมาร่วมแบกรับเคราะห์กรรมเช่นนั้น ยิ่งพลอยส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่กระเป๋าของสองเจ้านี้มากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะตัวเลขหนึ่งเปอร์เซ็นต์จากค่ากระจายสินค้านั้น ผูกติดสนิทแน่นอยู่กับราคาหนังสือโดยตรง

ตรงนี้แหละครับ ที่ผมอยากเรียกร้องให้ผู้ข้องเกี่ยวที่มีจริยธรรมและปัญญาในระดับภาครัฐ ควรลงมาติดตามการเจรจาหาทางออกเรื่องนี้ชนิดอย่ากะพริบตา เพราะถ้าขืนปล่อยให้สองผู้ประกอบการฯเป็นฝ่ายกำหนดเงื่อนไขตามอำเภอใจอยู่ข้างเดียว เรียนตามตรง ผมยังไม่เห็นแววว่าคณะกรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ได้แสดงออกให้อุ่นใจสักนิดตรงไหน


3.สำนักพิมพ์จำนวนไม่น้อยจะถูกต้อนเข้าคอกซีเอ็ดกับอมรินทร์ด้วยไม้เรียวที่มีชื่อว่า ‘เงื่อนไขพิเศษ’ กล่าวคือ จะไม่เรียกเก็บค่ากระจายสินค้าหนึ่งเปอร์เซ็นต์นั้น แต่ต้องส่งหนังสือให้เขาเป็นตัวแทนจัดจำหน่าย เพื่อแลกกับเงื่อนไขดังกล่าวสักระยะ ก่อนเรียกเปอร์เซ็นต์ค่าจัดจำหน่ายเพิ่มในขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงข่าวที่กระเส็นกระสายมาว่า สำนักพิมพ์บางแห่งพร้อมสนับสนุนแนวทางของซีเอ็ดกับอมรินทร์ เพราะเชื่อว่าตัวเองสามารถเจรจาต่อรองได้ จนไม่ต้องถูกเรียกเก็บค่ากระจายสินค้าในอัตราที่ว่า กล่าวอีกนัยก็คือ น้อยกว่าสำนักพิมพ์ทั่วไป

พูดกันอย่างตรงไปตรงมา เหตุที่ผมจำเป็นต้องเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ขึ้นในนามส่วนตัว ไม่ใช่เพราะชักชวนเพื่อนพ้องมิตรสหายในแวดวงสำนักพิมพ์ให้มาร่วมลงนามด้วยไม่ได้ หรือเป็นเพราะอยากเด่นอยากดังโดยลำพังแต่ประการใด หากแต่พอเล็งเห็นอยู่ว่า กำลังหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัว ชนิดมีสิทธิ์ทำให้ทั้งซีเอ็ดและอมรินทร์เหม็นขี้หน้า จนไม่อยากรับหนังสือหนังหาของสามัญชนไปวางขายในร้านอีกต่อไป

ทว่าเมื่อเทียบกับปัญหาที่จะส่งผลกระทบตามมาเป็นลูกโซ่ต่อเพื่อนสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ และโดยเฉพาะก่อให้เกิดการเพิ่มต้นทุนการอ่านอย่างสามานย์ ถ้าสำนักพิมพ์สามัญชนจะถูกบอยคอยจากการนี้ ก็ช่างหัวมัน! แต่คนอย่างผมคงรู้สึกผิดบาปสิ้นดี ถ้าไม่พูดเรื่องนี้เอาเสียเลย

ด้ ว ย นั บ ถื อ โ ด ย แ ท้
เวียง-วชิระ บัวสนธ์
บรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชน
กำลังโหลดความคิดเห็น