xs
xsm
sm
md
lg

ที่ประชุม ครม.เผย “มือเท้าปาก” ยังอยู่อีก 6 สัปดาห์ - ยันคว่ำบาตรเกาหลีเหนือไม่เกี่ยว ม.190

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รัฐบาลล้อมคอก เตรียมแผนปีหน้า “บิ๊กคลีนนิงเดย์” โรงเรียนก่อนเปิดเทอม “วิทยา” ชี้สถานการณ์ “มือเท้าปาก” ยังอยู่อีก 6 สัปดาห์ ครม.ไฟเขียวกำหนดค่าตอบแทน คอ.นธ. พร้อมตั้ง “ที่ปรึกษาพิเศษ-กรรมการ” ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศยกชุด อีกด้านเห็นชอบขยายเวลาปราบปรามโจรสลัดชายฝั่งโซมาเลีย คว่ำบาตรคองโก ส่วนการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือยืนยันไม่เกี่ยวข้องมาตรา 190

วันนี้ (24 ก.ค.) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานในที่ประชุม ครม.ถึงสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ว่า เป็นเพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้คนเจ็บป่วย และเมื่อเทียบตัวเลขกับประเทศอื่นมีผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก มากกว่าประเทศ และปีนี้ไทยมีผู้ป่วยน้อยกว่าทุกปี ซึ่งตอนนี้สถานการณ์จะเป็นอย่างนี้ไปอีก 6 สัปดาห์ แต่ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ลดความรุนแรงลงไป ซึ่งเรื่องการดูแลสุขลักษณะ จะมีส่วนช่วยให้เด็กเล็กห่างไกลจากการติดเชื้อ โรคมือ เท้า ปาก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็พร้อมที่จะให้ข้อมูลทุกช่องทาง และไม่มีความจำเป็นต้องปกปิดอะไร รวมถึงการออกมาตรการ 17 ก.ค.ที่เป็นการบูรณาการรวมกันทั้งหมด ทั้งนี้ในปีหน้าจะการทำบิ๊กคลีนนิงเดย์ก่อนการเปิดภาคเรียน ซึ่งเป็นการทำความสะอาดโรงเรียนทั้งโรงเรียนก่อนที่เด็กจะมาเรียน

ทั้งนี้ นายวิทยาได้รายงานว่ายังไม่พบการกลายพันธุ์ของเชื้อ และยังไม่พบสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อให้เกิดความรุนแรงที่ผิดปกติแต่อย่างใด ซึ่งจังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ จ.พะเยา จ.เชียงราย จ.ภูเก็ต จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.ระยอง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ทำงานทุกพื้นที่อย่างเต็มที่ โดยช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาสถานการณ์ดีขึ้นมาก ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ฝากให้ประชาสัมพันธ์กับประชาชนได้รับทราบ เพราะว่ารัฐบาลนี้ไม่มีการปกปิดอะไร และเรายังได้รับคำชมจากหลายหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเรามีการเฝ้าระวังในขั้นปฏิบัติการคือ เมื่อมีผู้ป่วยก็เฝ้าระวังเต็มที่ รวมถึงมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วกว่า 1,000 หน่วยทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน ครม.เห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ในสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ และสำนักงานปลัดกระทรวงทุกกระทรวง และให้รองปลัดสำนักนายกฯและรองปลัดกระทรวงทำหน้าที่เป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอีกตำแหน่งหนึ่ง และห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตฯในส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง โดยให้รองหัวหน้าส่วนราชการทำหน้าที่เป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอรัปชันอีกตำแหน่งหนึ่ง

นายอนุสรณ์เปิดเผยด้วยว่า ที่ประชุมเห็นชอบการรกำหนดค่าตอบแทนขของคณะอนุกรรมการและที่ปรึกษาคณะกรรมการในคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยกำหนดให้ประธานอนุกรรมการเดือนละ 5,000 บาท อนุกรรมการ 4,000 บาท ที่ปรึกษา คอ.นธ.8,000 บาท เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการได้ครั้งละ 500 บาท โดยให้จ่ายเฉพาะเดือนที่มีการประชุมหรือมีการประชุม แต่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมให้งดจ่าย ทั้งนี้ อัตราค่าตอบแทนที่กำหนดขึ้นดังกล่าวสอดคล้องกับอัตราค่าตอบแทนของคณะกรรมการอื่นๆ ที่มีอำนาจหน้าที่และภารกิจใกล้เคียงกันของกระทรวงยุติธรรม สำหรับงบประมาณเพื่อเบิกจ่ายเป็นค่าตอบแทนนั้น ให้สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 รายการค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการดำเนินงานของ คอ.นธ.ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว จำนวน 27,827,800 บาท

นายอนุสรณ์กล่าวด้วยว่า ครม.ยังได้อนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งที่ปรึกษาพิเศษในคณะที่ปรึกษาพิเศษ จำนวน 6 คน และประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการบริหารศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) จำนวน 6 คน เนื่องจากที่ปรึกษาพิเศษ ประธานกรรมการและกรรมการชุดเดิมได้ดำรงตำแหน่งมาครบกำหนดวาระแล้ว โดยมีรายชื่อ ดังนี้ 1. แต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาพิเศษในคณะที่ปรึกษาพิเศษจำนวน 6 คน ดังนี้ (1. นายศรีภูมิ ศุขเนตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด การบริหารและศิลปกรรม (2. นายสมพล เกียรติไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด การบริหารและศิลปกรรม (3. นางอรนุช โอสถานนท์ ผู้แทนศูนย์ศิลปาชีพบางไทร (4. น.ส.กฤษณา รวยอาจิณ ผู้แทนศูนย์ศิลปาชีพบางไทร (5. นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (6. นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

2. แต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการบริหาร ศ.ศ.ป.ในส่วนของภาคเอกชนจำนวนทั้งสิ้น 6 คน ดังนี้ (1. นายการุณ กิตติสถาพร ประธานกรรมการ (2. นายวิชัย อัศรัสกร ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กรรมการ (3. นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการ (4. พล.ต.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ ผู้แทนศูนย์ศิลปาชีพบางไทร กรรมการ (5. นายสมาน คลังจัตุรัส ผู้แทนศูนย์ศิลปาชีพบางไทร กรรมการ (6. น.ส.พจนา สีมันตร ผู้แทนศูนย์ศิลปาชีพบางไทร กรรมการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. 2555 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดเดิมได้ดำรงตำแหน่งมาครบกำหนด 3 ปีตามวาระ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2555 แล้ว โดยมีรายชื่อดังต่อไปนี้ นายมนตรี จุฬาวัฒนทล ประธานกรรมการ และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นายสุพจน์ หารหนองบัว นายณรงค์ ปั้นนิ่ม นายประสาท สืบค้า นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ นายทรงศักดิ์ เปรมสุข นายช่วงโชติ พันธุเวช นางประคอง กลิ่นจันทร์ ครูผู้สอนด้านวิทยาศาสตร์ ภาคเหนือ นางรำเพย ภาณุสิทธิกร ครูผู้สอนด้านวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายสมประสงค์ สิงคชาติ ครูผู้สอนด้านวิทยาศาสตร์ ภาคกลาง นางศิริวรรณ ตรีพงศ์พันธุ์ ครูผู้สอนด้านวิทยาศาสตร์ ภาคใต้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. 2555 เป็นต้นไป

ด้าน นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอรับรองการดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ 2020 (ค.ศ. 2011) เกี่ยวกับการปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นโดยใช้อาวุธบริเวณน่านน้ำนอกชายฝั่งโซมาเลีย โดยขยายเวลาการดำเนินมาตรการจนถึงวันที่ 21 พ.ย. 2555 เพื่อเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ไทยมีต่อสหประชาชาติโดยสอดคล้องกับกฎหมายภายในของไทย

ทั้งนี้ มอบหมายให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรมสำนักงานคณะกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงคมนาคม กรมประมง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่ประเทศไทย ถือปฏิบัติและแจ้งผลการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้กระทรวงการต่างประเทศทราบเพื่อรายงานต่อสหประชาชาติต่อไป

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอรับรองการดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ 2021 (ค.ศ. 2011) เกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเพื่อเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ไทยมีต่อสหประชาชาติ โดยสอดคล้องกับกฎหมายภายในของไทย ทั้งนี้ขยายเวลาการดำเนินการมาตรการคว่ำบาตรสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกออกไปจนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2555 เพื่อสนับสนุนการเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค

โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทย ถือปฏิบัติและแจ้งผลการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ กต. ทราบเพื่อประโยชน์ในการรายงานต่อสหประชาชาติต่อไป

ขณะเดียวกัน ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอเรื่องการดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1718 (ค.ศ. 2006) เกี่ยวกับการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ โดยเห็นชอบรับรองประกาศรายการสิ่งของและรายชื่อคณะบุคคลเพิ่มเติม ตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่มีมาตรการเกี่ยวกับการดำเนินการตามข้อมติดังกล่าวเพิ่มเติม

โดยมอบหมายให้ส่วนราชการเกี่ยวข้องของไทย ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่ชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ การท่าเรือแห่งประเทศไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ให้ปฏิบัติตามข้อมติดังกล่าวและปรับปรุงฐานข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เป็นไปตามประกาศล่าสุดของสหประชาชาติ

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศมีความเห็นว่า การดำเนินกาตามข้อมติ UNSC เป็นสิ่งที่ไทยในฐานะสมาชิกสหประชาชาติปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอดตามมติ ครม.ภายใต้กฎหมายไทยปัจจุบัน สำหรับข้อมติที่ 1718 และข้อมติที่ 1874 (ค.ศ.2009) ที่กำหนดมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเพิ่มเติม ที่ผ่านมาหน่วยงานไทยปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อส่งเสริมบทบาทไทยด้านความมั่นคงในเวทีสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามข้อมติที่ 1718 (ค.ศ. 2006) เป็นพันธกรณีที่ไทยในฐานะรัฐสมาชิกสหประชาชาติมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามอยู่แล้วซึ่งเป็นไปตามข้อ 25 ของกฎบัตรสหประชาชาติ และไม่มีความเกี่ยวข้องกับมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอรับรองการดำเนินการตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ 2045 (ค.ศ. 2012) เรื่องการปรับและขยายเวลาการดำเนินมาตรการเกี่ยวกับโกตดิวัวร์ออกไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2556 เพื่อเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ไทยมีต่อสหประชาชาติ โดยสอดคล้องกับกฎหมายภายในของไทย โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทย ถือปฏิบัติและแจ้งผลการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้กระทรวงการต่างประเทศทราบ เพื่อประโยชน์ในการรายงานต่อสหประชาชาติต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น