ประธานสภา เผยคำวินิจฉัยไม่ชัดเจน ชี้ บอกไม่ได้เข้าใจง่ายกว่า พร้อมนำไปศึกษา และเตรียมฝ่ายกฎหมายประชุมเรื่องวาระ 3 ที่ค้างอยู่ รวมไปถึงข้อการแก้รายมาตรา เชื่อได้ข้อสรุปก่อนเปิดสภา ส่วนความเห็นศาลก้าวกายฝ่ายการเมือง ถือเป็นความเห็นส่วนบุคคล
วันนี้ (13 ก.ค.) ที่รัฐสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางเข้ามาฟังการอ่านคำวินิจของศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ที่ห้องทำงาน โดยหลังจากอ่านคำวิจฉัย นายสมศักดิ์ ได้หารือกับฝ่ายกฎหมายสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นเวลา 15.50 น.นายสมศักดิ์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตนได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายสภาได้ศึกษารายละเอียดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเท่าที่ฟังคำวินิจฉัยยังไม่ชัดเจนครอบคลุม ดังนั้น จึงต้องนำคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลการฯแต่ละท่านไปศึกษาด้วย และหาข้อสรุปว่า รัฐสภาจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป เมื่อถามว่า ร่าง พ.ร.บ.รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ยังค้างการลงมติในวาระ 3 ในสภาจะดำเนินการอย่างไร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ยังพอมีเวลา ขอให้ฝ่ายกฎหมายได้ประชุมหารือกันก่อน เพื่อกำหนดทิศทางว่ารัฐสภาจะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง
เมื่อถามว่า หากต้องยึดการแก้ไขรายมาตราจะต้องใช้เวลานานหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นจะต้องได้ข้อสรุปก่อนว่าฝ่ายกฎหมายเสนอแนวทางอย่างไร โดย 1.จะแก้ไขในร่างกฎหมายเดิมได้หรือไม่ หรือหากจะนำมาปรับปรุงจะมีกระบวนการปรับปรุงอย่างไร 2.แก้ไขใหม่ทั้งหมดโดยยกเลิกของเก่าทิ้ง โดยการยกร่างใหม่หมดเป็นรายมาตรา และ 3.ยกร่างตามมาตรา 291 เพียงแต่คงหมวด 1 และหมวด 2 ไว้ และตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้ร่างตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม เป็นเพียงจินตนาการของตนเท่านั้น โดยข้อสรุปจะต้องได้ก่อนการเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 1 ส.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ถือว่าดีในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เข้าใจในประเด็นการแก้ไขในรายมาตราว่า หมายความว่าอย่างไร ถ้าหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ตั้ง ส.ส.ร.ตนก็ยังไม่เข้าใจว่าจะออกมาในรูปแบบใด เมื่อถามว่ามี ส.ส.และ ส.ว.ยังเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญก้าวก่ายอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ประธานสภา กล่าวว่า ก็เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ต่อข้อถามว่า หากจะเดินหน้าลงมติในวาระ 3 จะทำได้หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ก็ต้องรอฝ่ายกฎหมายสรุปถึงแนวทางดำเนินการก่อน
“ส่วนตัวคิดว่า ถ้าศาลชี้ให้ชัดเจนกว่านี้ รัฐสภาก็จะเดินหน้าได้ง่ายกว่า แต่ชี้เพียงแค่ว่าแก้ไขทั้งฉบับไม่ได้ พูดแค่นี้ยังไม่ชัดพอ น่าจะชี้ไปเลยว่าการลงมติในวาระ 3 ว่าไม่ชอบเลย ถ้าชี้มาเราก็ไม่ต้องไปตีความ ถ้าไม่ชอบก็แปลได้เลยว่าเดินต่อไปไม่ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อมีคำวินิจฉัยก็โล่งใจได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องมาตีความคำวินิจฉัยกันอีก” นายสมศักดิ์ กล่าว