“นิพิฏฐ์” ส่งหนังสือถึงอธิบดีศาลอาญา จี้ถอนปล่อยตัวชั่วคราว “ก่อแก้ว” หลังขู่จับศาล ชี้สุดก้าวร้าว สร้างความอันตรายต่อสังคม วอนทบทวนคำสั่ง ด้าน “เทพไท” แถลงหลังศาล รธน.วินิจฉัย เชื่อทุกฝ่ายรับได้ ชู ถ้ายกเลิกทั้งฉบับต้องทำประชามติก่อน สอดคล้องไม่สามารถทำได้โดยสภา แถมเปิดทางแก้รายมาตรา คาด สถานการณ์คลายลง แต่ติงถ้าเดินหน้าวาระ 3 เท่ากับไม่ยอมรับคำวินิจฉัยชัด
วันนี้ (13 ก.ค.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำหนังสือส่งถึงอธิบดีศาลอาญา เพื่อขอให้พิจารณาถอนการปล่อยตัวชั่วคราว (ประกัน) นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เนื่องจาก นายก่อแก้ว ได้ตกเป็นจำเลยต่อศาลอาญาในฐานความผิดร้ายแรง หลายฐานความผิด ต่อมาศาลอาญาได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวไปจากศาลระหว่างการพิจารณาคดี แต่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา นายก่อแก้ว ได้แถลงต่อผู้สื่อข่าวที่รัฐสภา ระบุตอนหนึ่งว่า “หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างการปกครอง ขอให้คนเสื้อแดง ร่ำลาคนในครอบครัวได้เลย และยังระบุว่า จะไม่ฟังคำตัดสิน และพร้อมกับจะจับกุมศาล” ซึ่งตนเห็นว่า เป็นพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ส่อใช้ความรุนแรง เป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หาก นายก่อแก้ว ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวต่อไป สังคมอาจไม่เป็นปกติสุข จึงขอความกรุณาให้ศาลทบทวนยกเลิกคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว และนำตัว นายก่อแก้ว มาควบคุมไว้ระหว่างการพิจารณาคดีต่อไป
ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช แถลงภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวิจิฉัยยกคำร้องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ว่า เป็นคำวินิจฉัยที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับได้ เป็นไปตามที่หลายคนคาดการณ์แบบวิน-วิน ทุกฝ่ายสามารถยอมรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 จะทำโดยการยกเลิกทั้งฉบับและตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาใหม่จะต้องกลับไปทำประชามติก่อน ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของหลายฝ่าย ว่า ไม่สามารถทำได้โดยมติของรัฐสภา แต่ก็สามารถเปิดทางให้แก้ไขได้เป็นรายมาตรา ส่วนกรณีข้อหาล้มล้างการปกครองนั้น หากศาลวินิจฉัยตามคำร้องอาจจะเกิดการเผชิญหน้าความรุนแรงได้ แต่เมื่อมีการยกคำร้องเชื่อว่ากลุ่มที่ต่อต้านยุติพฤติกรรมที่เคยประกาศไว้ และจะทำให้สถานการณ์การเมืองคลายความตึงเครียดลงระดับหนึ่ง
ส่วนที่ นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล ประกาศจะเสนอให้สภาเดินหน้าลงมติในวาระ 3 นั้น นายเทพไท กล่าวว่า ถ้าทำจริง ก็เท่ากับไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า หากจะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะต้องผ่านการทำประชามติก่อน เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผูกพันทุกองค์กร จะมาอ้างว่า อำนาจนิติบัญญัติไม่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ ดังนั้น หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะต้องไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ด้วยการทำประชามติ เท่ากับว่า ร่างที่ค้างอยู่ในวาระการประชุมถือว่าตกไปโดยปริยาย