xs
xsm
sm
md
lg

อ้าง “บิ๋กจิ๋ว” โผล่ลากไส้ศาล ประหลาดใบ้เลข 68-77-7 ซัดเอาผิดล้มล้างไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองเลขาฯ พรรคความหวังใหม่ส่งอีเมลแอบอ้าง “บิ๊กจิ๋ว” ชี้เพื่อนสนิทใบ้เลขมหัศจรรย์ 68-77-7 แต่ไม่เห็นด้วย ทำมาโอดครวญมีผู้แพ้-ประเทศแพ้ ถามกลับจะสู้ไปเพื่ออะไร ซัดกลับผู้ร้องร้องผิด ต้องให้ศาลพิสูจน์ทราบก่อนว่าปกครองระบอบอะไร ขู่ตัดสินผิดเข้าทางเผด็จการทันที จี้รับผิดชอบ ลากไส้ศาล ไม่มีกฎหมายรองรับ คำพิพากษาออกมาย่อมไม่มีผลผูกพัน

วันนี้ (8 ก.ค.) นายอนุสรณ์ สมอ่อน รองเลขาธิการพรรคความหวังใหม่ ส่งอีเมลถึงสื่อมวลชน โดยอ้างว่าเป็นความเห็นของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ โดยเอกสารนี้จัดทำมาจากริเวอร์ไรน์คอนโด ซึ่งเป็นหนึ่งในเซฟเฮาส์ของ พล.อ.ชวลิต โดยเนื้อหาส่วนสำคัญระบุว่ามีเพื่อนคนหนึ่งกระซิบว่าคำตอบสุดท้ายในปัญหานี้คือตัวเลขมหัศจรรย์ 3 ตัว 68, 77, 7 ซึ่งไม่เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว เห็นใจบรรดาท่านที่ทำหน้าที่ในศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไรคงไม่ทำให้ฝ่ายใดชนะหรือได้เปรียบ จะมีแต่ผู้แพ้และประเทศก็จะแพ้และสูญเสียอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ ความขัดแย้งคงจะปะทุขึ้นอีกเหมือนเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา ลูกหลานในยุคนี้ไม่เคยได้สัมผัสและทราบถึงความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับคนไทยทุกคน น้ำตาคนไทยต้องไหลรินนองแผ่นดิน เราทุกคนยังจำเหตุการณ์วันนั้นกันอย่างไม่รู้ลืม เห็นใจฝ่ายรัฐสภาและรัฐบาลรวมทั้งผู้เกี่ยวข้องในสถานการณ์ที่ต้องมาตกอยู่ในความขัดแย้งกันเองภายในชาติ เอกสารฉบับนี้มุ่งหวังชี้ให้ท่านที่เคารพเห็นว่าเราจะต่อสู้กันไปเพื่ออะไรในเมื่อสิ่งที่เราต้องการไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นผลมาจากชัยชนะในครั้งนี้เลย เป็นการต่อสู้ที่ผิดวัตถุประสงค์เป้าหมาย เป็นการต่อสู้ที่ไร้เหตุผล เป็นการต่อสู้ที่ผิดพลาดซ้ำซากมาตลอด 80 ปีในประวัติศาสตร์ชาติไทยเรา ขออภัยด้วยถ้ามีผู้เห็นต่าง แต่กรุณาเถิดพี่น้องที่เคารพ กรุณาช่วยกันสร้างสันติ ความสงบสุขให้เกิดขึ้นในแผ่นดินเราด้วยเถิด

พล.อ.ชวลิตอ้างว่าปัญหาในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 โดยช่วงแรกย้อนไปถึงคณะราษฎรได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วสร้างการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นในประเทศไทย โดยเห็นว่ารัฐธรรมนูญจะทำให้ชาติเจริญ คือเครื่องมือสร้างประชาธิปไตยและคือประชาธิปไตย เมื่อคิดว่ารัฐธรรมนูญคือสิ่งดังกล่าวจึงคิดสร้างรัฐธรรมนูญเป็นการใหญ่ เพราะคิดว่าเป็นการสร้างประชาธิปไตยที่จะทำให้ชาติเจริญ แต่รัฐธรรมนูญไม่ใช่ประชาธิปไตย จึงได้แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้ประชาธิปไตย อันเป็นต้นเหตุของการแก้ไขหรือการฉีกรัฐธรรมนูญแล้วร่างกันใหม่เพื่อให้ได้ประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ได้ประชาธิปไตยได้แต่รัฐธรรมนูญทุกครั้งไป จึงเกิดปรากฏการณ์ร่ำรวยรัฐธรรมนูญ แต่ยากจนประชาธิปไตยในที่สุดคือมีรัฐธรรมนูญถึง 18 ฉบับ

ส่วนปัญหารัฐธรรมนูญมาตรา 68 ที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติวาระ 3 และกำลังนำไปสู่คำตัดสินวินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรีและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีการกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ โดยแท้จริงแล้วยังไม่มีระบอบประชาธิปไตย จะมีการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอย่างไร ผู้ร้องจึงร้องผิด ศาลรัฐธรรมนูญก็ตัดสินไม่ได้ หรือถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินก็จะต้องมาทำการพิสูจน์ทราบเสียก่อนว่าการปกครองของประเทศขณะนี้เป็นการปกครองระบอบอะไร เป็นการปกครองระบอบเผด็จการระบบรัฐสภาหรือระบอบประชาธิปไตย กระบวนการพิสูจน์ทราบว่าระบอบปัจจุบันคือระบอบอะไร จะทำการพิสูจน์ทราบอย่างไร มีระเบียบวิธีปฏิบัติอย่างไรจึงจะได้ความถูกต้องไม่ผิดพลาด จะเกิดความเสื่อมเสียแก่ศาลรัฐธรรมนูญเอง และจะเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน

ทั้งนี้ จะทำการพิสูจน์ทราบอย่างไรว่าการปกครองที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญกับการปกครองจริงในประเทศเป็นอันเดียวกัน หรือเป็นคนละระบอบกัน โดยความเป็นจริงแล้วการปกครองที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญกับการปกครองจริงในประเทศ หรือการปกครองในแผ่นกระดาษกับการปกครองในแผ่นดินเป็นคนละสิ่งกันอย่างสิ้นเชิง ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจและหน้าที่จะพิจารณาวินิจฉัยตัดสินว่าระบอบใดเป็นระบอบอะไร จึงจะไปสู่ปัญหาต่อมาคือ ปัญหาทำลายล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ

“ถ้าศาลรัฐธรรมนูญยืนยันตัดสินผิดพลาดจะเกิดปัญหาใหญ่ตามมาใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะสูญเสียความเป็นสถาบัน กลายเป็นการรักษาความเห็นผิดมิจฉาทิฏฐิ และรักษาระบอบเผด็จการรัฐสภาไว้ต่อไปอย่างไม่มีเจตนาเพราะเข้าใจผิดว่าระบอบเผด็จการรัฐสภาคือระบอบประชาธิปไตย ศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นเครื่องมือของระบอบเผด็จการรัฐสภาอย่างไม่มีเจตนา ทั้งๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญก็มีเจตนาดีต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างยิ่ง เมื่อตัดสินพิพากษาเรื่องใดๆ ย่อมจะมีผลผูกพันต่อองค์กรอำนาจอธิปไตยทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ถ้าตัดสินถูกต้องจะส่งผลให้เกิดความดีงามต่อชาติและประชาชนอย่างยิ่ง แต่ถ้าตัดสินผิดพลาดก็จะส่งผลในทางเลวร้ายอย่างยิ่ง” เนื้อหาช่วงหนึ่งระบุ

ในเอกสารดังกล่าวบอกอีกว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และความรับผิดชอบใช้อำนาจหรือปกครองหรือปฏิบัติหรือตัดสินตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ คือศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องตัดสินให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย จะไปตัดสินแบบเผด็จการตามระบอบเผด็จการไม่ได้อย่างเด็ดขาด การตัดสินผิดคือเผด็จการ การตัดสินถูกคือประชาธิปไตย อีกทั้งการก่อกำเนิดศาลรัฐธรรมนูญของไทยชุดนี้เป็นการก่อกำเนิดมาจากวิธีการเผด็จการ คือการรัฐประหาร แต่ศาลรัฐธรรมนูญของไทยตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ไม่มี พ.ร.บ.รองรับแต่อย่างใดตั้งแต่ก่อตั้งศาลฯ จนถึงบัดนี้

แม้ว่าในมาตรา 300 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2549 จะกำหนดบังคับไว้ว่า ในระหว่างที่ยังมิได้มีการตรา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยได้ แต่ทั้งนี้ต้องตรา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ แต่ก็ต้องสิ้นผลบังคับไป ตามหลักนิติธรรมที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 วรรคสองของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ย่อมให้ผลบังคับทันที เพราะเป็นบทบัญญัติที่มีผลบังคับก่อนทางกฎหมายของบทบัญญัติมาตรา 3 ที่เป็นหลักการใหญ่ของการแบ่งแยกอำนาจทั้ง 3 คือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่เป็นข้อห้ามขาดและให้ผลบังคับตามมาตรา 6

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ย่อมส่งผลไปบังคับทันทีแก่มาตรา 300 วรรคที่ 5 ดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งไม่มีกฎหมายลูก (พระราชบัญญัติ) ที่ออกมารองรับให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญที่จะใช้อำนาจให้กระทำการเช่นนั้นได้ตามหลักการและวิถีปฏิบัติของศาลรัฐธรรมนูญอันเป็นหลักสากล การออกข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 300 วรรคที่ 5 ทำไม่ได้อย่างเด็ดขาดเพราะขัดต่อหลักสากลที่เขาใช้กันโดยแพร่หลายในศาลรัฐธรรมนูญทั่วโลก ด้วยเพราะอยู่ภายในเงื่อนไขของระบอบเผด็จการรัฐสภาอันจำกัดและเป็นอุปสรรคขวางกั้น จึงทำให้การร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่มาจากธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2549 เกิดลักษณะเผด็จการไม่เป็นไปตามลักษณะของประชาธิปไตยดังกล่าว คือตามมาตรา 300 และไม่สามารถออก พ.ร.บ.รองรับได้

อีกทั้งการฟ้องคดีหรือการนำข้อพิพาทไปสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไทยครั้งนี้นั้นยังไม่มีความเป็นคดีและข้อพิพาทในทางคดีที่จะก่อให้เกิดอำนาจในการนำคดีดังกล่าวไปสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นวิธีการฟ้องคดีหรือนำเสนอการร้องขอปลดเปลื้องทุกข์ที่ไม่อาจใช้วิธีอื่นใดได้ต้องนำเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญไทยเท่านั้น เมื่อไม่เป็นไปตามหลักการและวิธีปฏิบัติทางสากล การจะบังคับตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปัจจุบันในมาตรา 261 วรรคที่ 5 ย่อมไร้ผลอยู่ในตัว คือไม่มีผลผูกพันรัฐสภา รัฐบาล และศาล และองค์กรอื่นๆ ของรัฐแต่อย่างใดทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐสภาชุดนี้มีที่มาจากการเลือกตั้งอันเป็นผลมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ชอบด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา165 (1)(2) เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญตกเป็นโมฆะ การเลือกตั้งที่มีผลมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยตรงในสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้นรัฐสภาชุดนี้ไม่มีสิทธิ์ที่จะเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีอำนาจที่จะออกกฎหมายใดๆ และทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้แต่อย่างใดทั้งสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น