xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ ปัดสองมาตรฐานวินิจฉัยคำร้อง “กษิต-ณัฐวุฒิ” ชี้ข้อเท็จจริงต่างกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ตรวจการแผ่นดิน รับเคยพิจารณาคำร้อง “กษิต” แต่ที่ออกมาปฏิเสธตอนแรกเพราะระบบสืบค้นของสำนักงานฯ ไม่สมบูรณ์จนเกิดความผิดพลาด พร้อมปัดสองมาตรฐาน วินิจฉัย “กษิต-ณัฐวุฒิ” ไม่เหมือนกัน เหตุข้อเท็จจริงต่างกัน

วันนี้ (27 มิ.ย.) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงชี้แจงถึงการทำหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทำงานสองมาตรฐาน ว่า ผู้ตรวจฯ ยืนยันว่าปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ทุกประการ ส่วนกรณีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการแต่งตั้งรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีการแต่งตั้งนายกษิต ภิรมย์ เป็น รมว.ต่างประเทศ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็น รมช.เกษตรฯ ซึ่งถูกร้องเรียนในเรื่องจริยธรรมการในดำรงตำแหน่งทางการเมืองจากกรณีการขึ้นเวทีปราศรัยทางการเมือง แต่ผู้ตรวจฯ กลับมีความเห็นออกมาแตกต่างกันนั้น เรื่องดังกล่าวข้อเท็จจริงแตกต่างกัน

โดยในกรณีของนายกษิต ทางผู้ตรวจการแผ่นดินในสมัยที่ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร เป็นประธาน เห็นว่า ข้อมูล ณ ขณะนั้น ทางสำนักงานตรวจแห่งชาติชี้แจงเรื่องอยู่ระหว่างดำเนินการ ยังไม่ขึ้นสู่ศาล เมื่อศาลยังไม่มีการพิจารณาเป็นข้อยุติว่าการที่นายกษิตขึ้นเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นความผิด ผู้ตรวจการฯ จึงวินิจฉัยว่าการปราศรัยเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง และมีคำสั่งยุติเรื่อง

ขณะที่ในส่วนของนายณัฐวุฒินั้น ข้อมูลที่ผู้ตรวจฯ ได้รับพบว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งว่าการชุมนุมเป็นการกีดกั้น ขัดขวางการปราศรัยเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเกินกว่าที่กฎหมายห้าม อีกทั้งยังมีคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล และอัยการสูงสุดอีก 3 คดี รวมถึงศาลเคยมีคำสั่งคุมขัง ทางผู้ตรวจฯ จึงเห็นว่ากรณีอย่างนี้นายกรัฐมนตรียังไม่ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาในการแต่งตั้ง

“กรณีของนายณัฐวุฒิมีคำสั่งศาลเป็นข้อยุติ แต่ของนายกษิตนั้นยังไม่มีคำสั่งของศาลว่าเป็นความผิด ตรงนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำผู้ตรวจฯ จึงมีคำวินิจฉัยใน 2 กรณีนี้แตกต่างกัน ไม่ใช่เป็นเพราะผู้ตรวจฯแต่อย่างใด”

ส่วนที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าผู้ตรวจฯ ระบุว่าไม่มีเรื่องร้องเรียนนายกษิตเข้าสู่การพิจารณานั้น ผู้ตรวจฯ ไม่สบายใจและสั่งให้สำนักงานดำเนินการตรวจสอบโดยละเอียด จนพบว่ามีการร้องเรียนจริงเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2552 แต่ที่ผู้ตรวจฯ ให้ข้อมูลไปก่อนหน้านั้นว่าไม่เคยมีการร้องเรียนเข้ามา เกิดจากความไม่สมบูรณ์ของระบบสืบค้น ทำให้สำนักงานฯ ไม่พบข้อมูลว่ามีการร้องเรียนเข้ามา และทำให้มีการรายงานไปยังผู้ตรวจฯ ผิดพลาด ซึ่งผู้ตรวจฯ ขอน้อมรับข้อผิดพลาดและได้สั่งให้สำนักงานตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและรายงานผลภายใน 15 วันนับแต่มีคำสั่ง โดยขอยืนยันว่าการให้สอบข้อเท็จจริงไม่ใช่การโยนความรับผิดชอบให้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งการสอบก็จะดูด้วยว่ามีการกลั่นแกล้งทำให้เสียหายหรือเปล่า และจะมีพิจารณาโทษตามระดับชั้น แต่ทั้งนี้จะสามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่ได้ถึงระดับไหนต้องรอการสอบสวนก่อน โดยจะมีการชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบอีกครั้ง

ส่วนที่ นายศรีราชา เจริญพานิช ขณะนั้นเป็นเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และเป็นผู้เซ็นหนังสือแจ้งให้คู่กรณีทราบถึงผลการวินิจฉัย ได้แสดงความรับผิดชอบอย่างไรหรือไม่นั้น นายรักษเกชากล่าวว่า ขณะนั้นนายศรีราชาไม่ได้เป็นผู้ตรวจฯ ที่ร่วมพิจารณาวินิจฉัยกรณีนายกษิต แต่นายศรีราชาก็ได้ยอมรับว่าเป็นผู้เซ็นหนังสือแจ้งคู่กรณีไป แต่เมื่อมีการไปสืบค้นข้อมูล มันไม่ปรากฏชื่อว่าเรื่องนี้เคยมีการร้องเรียน จนต้องไปสืบค้นจากเอกสารแล้วพบ ซึ่งต้องเข้าใจว่าเรื่องร้องเรียนที่มีเข้ามายังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมีจำนวนมาก และเมื่อเซ็นหนังสือคำวินิจฉัยแจ้งไปให้คู่กรณีทราบแล้วก็อาจจะหลงลืมได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าคำชี้แจงต่างๆ คิดว่าจะทำให้คนเสื้อแดงพอใจหรือไม่ นายรักษเกชากล่าวว่า ตรงนี้เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งเมื่อผู้ตรวจฯ ตรวจสอบแล้วพบว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นก็มาชี้แจง ไม่ได้เล่นแร่แปรธาตุ แต่เมื่อชี้แจงแล้วคนเสื้อแดงยังมีข้อสังสัยมันก็ห้ามลำบาก
กำลังโหลดความคิดเห็น