xs
xsm
sm
md
lg

ครม.แก้เกมอู่ตะเภา โหมจ้อสื่อหวังพลิกวิกฤตสังคม พุ่งเป้าอัดฝ่ายค้านแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (แฟ้มภาพ)
ครม.ถกเครียด “นาซาขอใช้อู่ตะเภา” หวั่น ปชป.ดึงเข้ามุมอับยื่น ป.ป.ช.เชือด “นายกฯ-ปึ้ง” ซ้ำรอย “สมัคร-นพดล” กรณีไทย-กัมพูชา” จนต้องไปทั้ง ครม. สั่งสกัดเกมคว่ำรัฐบาล โยนเผือกร้อนให้รัฐสภาถกให้จุใจตาม ม.179 พร้อมโยนระเบิดคืน ฝ่ายค้านอ้างเป็นตัวการทำลายโอกาสประเทศ เสียหายหนักหากชวดทำโครงการป้องกันน้ำท่วม จัดหนักสั่ง “นิวัฒน์ธำรง” เคลียร์คิวสื่อรัฐแจงทุกเวที รมต.โต้ได้ทุกคนทุกวัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ปรากฏว่าเมื่อถึงช่วงการพิจารณา เรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอการอนุญาตให้องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (นาซา) เข้ามาดำเนินโครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศไทยนั้น ปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้หารือนอกรอบร่วมกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.การต่างประเทศ เพื่อวางแนวทางแก้เกมการเมืองโยนเผือกร้อนกลับไปให้ฝ่ายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และฝ่ายที่คัดค้านโครงการนี้ให้ตกเป็นจำเลยของสังคมเสียเองในฐานะที่ทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสที่จะได้ข้อมูลจากการสำรวจบรรยากาศเพื่อใช้ในการพยากรณ์อากาศที่แม่นยำเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้น และที่สำคัญเป็นการปลดชนวนกระแสรุมเร้า ตัดเกมการเมืองที่ฝ่ายตรงข้ามพยายามเดินเกมล้มรัฐบาลนำประเด็นนี้ไปยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.เพื่อให้ดำเนินคดีอาญาต่อนายกฯ และรมว.การต่างประเทศ เหมือนเมื่อครั้ง ป.ป.ช.ตัดสินดำเนินคดีอาญาต่อนายสมัคร สุนทรเวช และนายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.การต่างประเทศ เกี่ยวกับแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา

แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม.เปิดเผยว่า นายสุรพงษ์ได้อธิบายชี้แจงรายละเอียดของการหารือร่วมกับทางสหรัฐอเมริกา ตลอดจนผลดีและประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากโครงการดังกล่าว โดยนายสุรพงษ์ได้เน้นย้ำว่า เรื่องนี้ทางกรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่าควรนำเสนอผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมรัฐสภา จากนั้นนายกฯ ได้ขอให้ตัวแทนฝ่ายนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์จากจิสดา นำโดย ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้กล่าวชี้แจงเกี่ยวกับความเป็นมาและรายละเอียดของโครงการ โดยสรุปว่าโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกับนาซามาตลอด 40 ปี และนักวิชาการของฝ่ายไทยก็ได้ร่วมทำงานกับนาซามาในช่วง 20 ปี ซึ่งถือเป็นโครงการที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติทั้งสิ้น โดยที่ฝ่ายไทยเองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ หากในครั้งนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ก็จะถือว่าประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสในทางวิทยาศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ จากนั้นนายกฯ ก็ได้เชิญให้บรรดานักวิชาการออกจากห้องประชุม และเปิดให้ ครม.ได้แสดงความเห็นกันต่อไป

แหล่งข่าวเปิดเผยต่อว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม ได้แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมาก็มีการใช้เครื่องบินของต่างประเทศอยู่แล้ว เพราะมีคนมาขออนุญาตทำการบินจากกระทรวงคมนาคมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่เรื่องนี้ก็ยังงงอยู่ว่าเรื่องไปผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศได้อย่างไร ส่วน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม กล่าวให้ทุกคนสบายใจเรื่องผลกระทบทางด้านความมั่นคง โดยเฉพาะข้อห่วงใยเรื่องการจารกรรมว่าไม่มีแน่นอน ทางทหารดูแลอยู่อย่างใกล้ชิด

แหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่า ทางด้าน ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า เรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนว่ามีความพยายามที่จะลากเอา ครม.เข้าไปสู่มุมอับ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนในสมัยนายสมัคร สุนทรเวช ที่ไปเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ทั้งที่ตนเตือนแล้วว่าอย่าเปิด เพราะไม่จำเป็นต้องไปเปิด และมันจะเข้าตัว ซึ่งนายสมัครไม่เชื่อ

“เรื่องนี้ผมบอกไว้เลยว่าเขาจะไม่ไปร้องต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่เขาจะไปร้องต่อ ป.ป.ช.ซึ่งง่ายและเร็วกว่า และเรื่องนี้เขามีการตั้งธงที่จะจัดการกับพวกเราให้สะเด็ดน้ำ เพราะฉะนั้นแม้ว่าโครงการนี้จะดีจริง มีประโยชน์จริง แต่ผมว่าไม่ควรทำ ต้องปล่อยไปอย่างนี้ ประเทศเรามันเป็นอย่างนี้ ก็ถือเป็นเวรกรรมของประเทศไทยก็แล้วกัน เพราะลำพังเราไม่ทำเรื่องนี้มันก็ยังมีอีกหลายคดีที่เขาคอยวินิจฉัยเราอยู่ ดังนั้น เราไม่ควรไปสร้างปัญหาเพิ่ม และขอชื่นชมรมว.การต่างประเทศที่ทันเกมและเข้าใจเกมการเมือง ที่เห็นชอบให้เสนอเรื่องนี้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา และต้องไม่เปิดสมัยวิสามัญอย่างเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลเสียเข้าตัว และเที่ยวนี้ถ้าฝ่ายค้านเขายื่น ป.ป.ช. เขาจะยื่นนายกฯ กับนายสุรพงษ์ ถ้านายกฯ ไปแล้วพวกเราจะอยู่ตรงไหนก็ต้องไปด้วย” แหล่งข่าวอ้างคำพูด ร.ต.อ.เฉลิม

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.การท่องเที่ยวฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา แสดงความเห็นเช่นกันว่า “รู้สึกอุ่นใจที่มีรองฯ เฉลิมอยู่ และอยากบอกว่าพรรคผมไม่เหลือใครแล้วนะ เหลือผมคนเดียวแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเรื่องนี้นำไปสู่การยุบพรรคอีก พรรคท่านก็ต้องระวังให้ดี ผมจะบอกเลยว่าโครงการนี้เป็นของดี ทุกคนในครม.เห็นตรงกันว่าเป็นของดีหมด เห็นกันอยู่ และคุณอภิสิทธิ์ก็พูดแล้วนี่ เขาก็รู้ว่าเป็นของดีมีประโยชน์ เขาก็ไม่ได้คัดค้าน เพราะฉะนั้นพอเราส่งลูกไปทางโน้นเขาก็จะเป็นจำเลยของสังคมทันที” ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวเสริมว่า สิ่งที่นายชุมพลพูดมันชัดเจน เขามีธงที่จะจัดการเรา ดังนั้น ตนขอเสนอแบบเข้มข้นเลย คือ เห็นด้วยกับแนวทางของนายกฯ ให้เสนอเข้าขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190 วรรคสอง

อย่างไรก็ตาม ทางนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แย้งว่า ทำไมครม.ไม่อนุมัติไปเลย เพราะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ และไม่เข้าข่ายมาตรา 190 วรรคสอง แต่ ร.ต.อ.เฉลิมได้กล่าวย้ำว่า คงทำเช่นนั้นไม่ได้ คุณอัชพรก็เคยนั่งอยู่ข้างตนสมัยรัฐบาลนายสมัคร “ผมเป็น รมว.มหาดไทย ตอนนั้นดีแค่ไหนอย่างไร เราก็ไปต่อไม่ได้” แต่นายอัชพรก็ยังยืนยันว่า แม้จะตีความอย่างไรเรื่องนี้ก็ไม่ถือว่าเข้าข่ายมาตรา 190 วรรคสอง ถ้าอย่างนั้นเราก็เอาเข้ารัฐสภาแค่ตามเงื่อนไขมาตรา 179 อภิปรายเป็นการทั่วไปโดยไม่ลงมติก็พอ แต่ ร.ต.อ.เฉลิมยังคงยืนยันว่าควรเสนอเข้าตามมาตรา 190 วรรคสองเลย เพราะถึงอย่างไรก็ไม่ทันอยู่แล้ว เรื่องนี้เป็นโครงการที่ดี ถ้าทำก็ดี แต่ไม่ทำจะดีกว่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม นายอัชพรยังคงยืนยันตามหลักกฎหมายว่าในเมื่อมันไม่เข้า จะไปตีความให้เข้ามาตรา 190 วรรคสองไม่ได้ จน ร.ต.อ.เฉลิม ต้องอธิบายว่าทำไมจะไม่ได้ ในกรณีที่ไม่เข้า แต่พวกนั้นยังเอาเข้าจนได้ แต่ครั้งนี้เราจะให้มันเข้าเองไม่ง่ายกว่าหรือ อย่างไรก็ตาม เลขาฯ กฤษฎีกาแย้งว่า มันก็จะเกิดปัญหาว่าสิ่งที่เราเคยอนุมัติไปก่อนหน้านี้แล้ว หากมีการไปย้อนหลังว่าเข้าข่ายมาตรา 190 หมด เพราะมีมาตรฐานไว้แล้ว ทุกอย่างเมื่อไปสู้กันในข้อกฎหมายมันจะมีธงคำตอบเป็นมาตรฐานไว้แล้ว มันจะเป็นอันตราย ดังนั้น ร.ต.อ.เฉลิมจึงยอมลดราวาศอกลงให้เสนอเข้ารัฐสภาตามมาตรา 179 เท่านั้น

“ผมต้องขอโทษนักปราชญ์ราชบัณฑิต นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ผมไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย แต่ยังรู้เลยว่าเป็นของดี แต่ประเทศเราก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องยอม เพื่อที่จะรักษานายกฯ เอาไว้ ในทางการเมืองผมบอกให้ก็ได้ว่าเรื่องนี้เราไม่ได้แพ้ รมว.การต่างประเทศทำมาดีแล้ว ขีดกรอบให้มันชัดดีแล้ว ให้ฝ่ายค้านต้องตอบเป็นจำเลยสังคม ที่เหลือเป็นหน้าที่ของผมแล้วและผมอาสา รับผิดชอบในการที่จะเป็นผู้นำในสภา พร้อมจะตอบชี้แจงต่อรัฐสภา” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวในที่ประชุม ครม.

แหล่งข่าวเปิดเผยต่อว่า ขณะที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ได้แสดงความเห็นว่า เรื่องนี้ตนขอร่วมด้วยเพราะได้ทำมาก่อนมีมติ ครม. ตนขอด่ามันด้วย ขออย่าห่วงตน ต่อจากนี้ตนจะเดินหน้าด่ามันทุกวัน และเห็นด้วยว่าเรื่องนี้ในทางการเมืองเราไม่ได้แพ้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายนายกฯ ได้มอบหมายให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกฯ กำกับดูแลสื่อของรัฐไปดูแลจัดรายการผ่านสื่อของรัฐทุกช่องทาง โดยนำนักวิทยาศาสตร์ไปออกรายการเพื่อชี้แจงว่าเป็นโครงการที่ดี แต่ทำไม่ได้ เพราะฝ่ายค้านขัดขวางทำให้ประเทศชาติเสียโอกาส เพื่อล้อมกรอบให้สังคมชี้ไปที่ฝ่ายค้านว่าเป็นคนทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย
กำลังโหลดความคิดเห็น