xs
xsm
sm
md
lg

กลัววืดรมต.-เข้าคุกรอบสอง “จตุพร”เจอร้องถอนประกัน

เผยแพร่:   โดย: นกหวีด

จตุพร พรหมพันธ์
ข่าวปนคนฯ

นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกมาบอกกรณีที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไปยื่นเรื่องต่อศาลอาญาเพื่อให้พิจารณาเพิกถอนประกันตัว จตุพร พรหมพันธ์ แกนนำนปช.และอดีตส.ส.เพื่อไทย

ว่าทางตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ทราบเรื่อง ไม่ใช่มติของที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไปดำเนินการเอง

ฟังแล้วก็ต้องเชื่อ เพราะคนอย่าง วสันต์ สังคมรู้กันดีว่า เป็นคนเปิดเผยตรงไปตรงมา อะไรที่ใช่ก็บอกว่าใช่ ทำก็บอกว่าทำ ไม่ใช่พวกนักการเมืองที่ขาวก็ยังบอกว่าดำ ดำก็บอกว่าขาว

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายนายจตุพร ดูเหมือนจะร้อนรนอย่างมากกับการยื่นเรื่องครั้งนี้ ทั้งที่เหลือเวลาอีกนานกว่าจะถึงวันที่ศาลอาญาได้ออกหมายเรียกให้นายจตุพรมาชี้แจงข้อเท็จจริงในวันที่ 23 ก.ค.นี้แล้ว ซึ่งกว่าจะถึงตอนนั้น น่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีก่อนเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฏร 1 สิงหาคมกันแล้ว

เหตุสำคัญที่ทำให้จตุพรร้อนรนอย่างมาก ก็เพราะคงหวั่นใจว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญทำแบบนี้ จะเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ตัวเองไม่ได้เป็นรัฐมนตรี เพราะฝ่ายทักษิณและยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คงคิดหนักหากจะปรับครม.ในเร็วๆนี้โดยการตั้งจตุพรเป็นรัฐมนตรีแล้วต่อมาเกิดอะไรขึ้นกับรัฐมนตรีของตัวเองหากถูกศาลเพิกถอนประกันตัว

ทั้งที่การยื่นคำร้องดังกล่าวเป็นสิทธิของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มองว่า จตุพร ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีก่อการร้ายและฝ่าฝืนพรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นคดีความอยู่ที่ศาลอาญา ได้ทำผิดเงื่อนไขสัญญาประกัน เพราะมีพฤตการณ์หลายต่อหลายครั้งที่จะนำไปสู่การถอนประกันนั้น

โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญทั้งการให้สัมภาษณ์ การแถลงข่าว การขึ้นเวทีปราศรัยในลักษณะปลุกปั่นยุยงและให้สัมภาษณ์พาดพิงศาลรัฐธรรมนูญอยู่เนืองๆ ตั้งแต่ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง จนกระทั่งสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งทำให้หลุดจากส.ส.และมาหนักสุดก็ตอนหลังศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ใช่แค่จตุพรคนเดียว แต่บรรดาแกนนำเสื้อแดงหลายคนก็มีพฤติการณ์เช่นเดียวกับจตุพร

อย่างเช่นกรณี เจ๋ง ดอกจิก หรือยศวริศ ชูกล่อม ซึ่งไปขึ้นเวทีเสื้อแดงที่หน้ารัฐสภาเมื่อตอนชุมนุมล่าชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็ไปบอกที่ตั้งบ้านพักอาศัย-เบอร์โทรศัพท์บ้านของตุลาการออกทีวีเสื้อแดงและเชิญชวนให้คนเสื้อแดงไปข่มขู่ตุลาการ

พฤติกรรมทำนองนี้ จตุพรและแกนนำนปช.ทั้งหลาย ทำอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากแม้แต่ในการแถลงข่าวของเสื้อแดงประจำสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อ 22 มิถุนายน 2555 และวันเดียวกัน แต่ที่เวทีปราศรัยย่อยของเพื่อไทยย่านดอนเมืองเขตเลือกตั้งของการุณ โหสกุล ก็มีทั้งการให้สัมภาษณ์และปราศรัยถึงศาลรัฐธรรมนูญอย่างเผ็ดร้อน

สำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญในฐานะหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ย่อมมีสิทธิที่จะยื่นเรื่องต่อศาลอาญาเมื่อเห็นว่าพฤติกรรมของจตุพรที่เป็นจำเลยคดีอาญาอาจขัดต่อเงื่อนไขสัญญาที่ให้ศาลไว้หรือไม่ เพราะมีการให้สัมภาษณ์พาดพิงและปราศรัยศาลในทางที่ไม่เป็นความจริง ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเข้าใจผิดถึงกระบวนการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ จึงยื่นเรื่องต่อศาลอาญาไปเมื่อ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา

ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว แม้ไม่มีใครร้อง แต่หากข้อเท็จจริงของจำเลยหรือผู้ต้องหาไม่ว่าคดีไหนได้ปรากฏต่อศาลว่าขัดเงื่อนไขสัญญาประกันตัว ศาลก็สามารถที่จะเพิกถอนการประกันนั้นได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ใครมายื่นคำร้อง เพียงแต่แต่คำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญเสนอมาถ้าศาลเห็นว่าการที่จตุพรไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขประกันตัวและไปแสดงออกซึ่งพฤติกรรมหรือการเคลื่อนไหวใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสังคม ศาลอาญาก็สามารถพิจารณาคำร้องได้

ด้วยเหตุนี้ ถึงศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ยื่นเรื่อง ศาลอาญาก็มีสิทธิเรียกตัวจตุพรมาสอบสวนได้ แต่สุดท้ายถ้าศาลเห็นว่าตัวจตุพรไม่มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายเป็นเหตุผิดเงื่อนไขสัญญาประกันที่ให้กับศาลอาญาไว้ ศาลก็อาจไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่งในเรื่องการประกันตัว จตุพร ก็ยังไม่ถูกถอนประกันนั่นเอง

ทางที่ดีที่สุดของจตุพรและทีมทนายส่วนตัวก็คือ ต้องพยายามเตรียมตัวชี้แจงต่อศาลให้เคลียร์หมดทุกเรื่อง โดยดูแล้วแนวทางการสู้เรื่องนี้ จตุพรคงอ้างว่าที่ให้สัมภาษณ์พาดพิงศาลรัฐธรรมนูญต่างๆ เป็นเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ได้ไปข่มขู่หรือแสดงพฤติการณ์ฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัว ซึ่งก็อาจต้องเหนื่อยพอควร หากมีการอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์หรือคำปราศรัยต่างๆของจตุพรในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในวันที่ถูกศาลรธน.วินิจฉัยให้พ้นจากการเป็นส.ส.ซึ่งจตุพรซัดศาลไม่ยั้ง

แต่หากถามถึงความมั่นใจ ก็ประเมินว่าจตุพรก็คงหวั่นใจไม่น้อยว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยวันที่ถูกศาลเพิกถอนการประกันตัวหลังไปขึ้นเวทีเสื้อแดงเมื่อ 10 เมษายน 2554 หรือไม่ แม้ดูแล้วครั้งนั้นรุนแรงกว่ารอบนี้มากกับเรื่อง “กระสุนพระราชทาน”

ยิ่งเมื่อ ทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาออกมาแจงถึงเรื่องนี้ว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญยื่นขอถอนประกันตัวจตุพรเป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะศาลรธน.ไม่ใช่คู่ความกับจตุพร แต่คำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญเสนอมา มีผลกระทบต่อสังคม และการแสดงพฤติกรรมของจตุพรเป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ถึงศาลรัฐธรรมนูญไม่มีคำร้องมาศาลอาญา ก็มีสิทธิเรียกตัวมาสอบสวนได้อยู่แล้ว

ฟังแบบนี้ จตุพร คงเครียดหนัก ท่ามกลางสิ่งที่หลายคนก็อดสงสัยไม่ได้เหมือนกันว่าแล้ว คู่ความตัวจริงของจตุพร อย่างดีเอสไอ-อัยการ

ทำไม ทำไม ไม่เห็นทำอะไรสักอย่าง กับจตุพร เพื่อยื่นต่อศาลอาญาให้ถอนประกันตัว ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญออกโรงเอง

ไม่เห็นเหมือนสมัยเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ยื่นถอนประกันตัวจตุพรและแกนนำแดงหลายรอบแต่ศาลยกเกือบหมด มาแจ็คพ็อตเอาตอนจตุพรขึ้นเวที 10 เมษายน 54

เพราะอย่างน้อยการยื่นไปแล้ว แม้ศาลจะไม่ถอนประกัน แต่ก็จะได้ช่วยปรามพฤติการณ์ห่ามๆ ของจตุพรและพวกแกนนำนปช.บางคนได้บ้าง ให้ระมัดระวังตัว ควบคุมการแสดงออกของตัวเองไว้บ้าง ไม่ใช่มาเที่ยวข่มขู่จะยกพวกบุกบ้านหรือที่ทำงาน คนที่ทำอะไรไม่ถูกใจเสื้อแดงอย่างที่ทำกันเวลานี้

เมื่อดีเอสไอ-อัยการ ไม่คิดทำอะไร ศาลรธน.ก็ต้องเป็นเจ้าภาพเสียเองเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น