xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.วิปค้านย้ำไม่ร่วมโหวตฟังคำสั่งศาลเบรกแก้ รธน.แน่ ชู 2 เหตุรัฐลังเลเดินหน้าต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน
“ประธานวิปฝ่ายค้าน” เผยประชุมรัฐสภาพรุ่งนี้รับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น เชื่อเสียงข้างมากลังเลไม่ลงมติเหตุกลัวทำผิด-นายกฯ กลัวเผือกร้อนไม่กล้านำกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ซัดพรรครัฐตั้งใจปล่อยอภิปรายยำตุลาการ ย้ำไม่ร่วมโหวตแน่นอน


วันนี้ (11 มิ.ย.) ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปค้าน) กล่าวว่า การประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 12 มิถุนายนนี้เป็นเพียงวาระเพื่อทราบเท่านั้น ซึ่งเป็นการแจ้งคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งชะลอเลื่อนการลงมติวาระการแก้ไขรับธรรมนูญ วาระ 3 ทางฝ่ายค้านจึงเห็นว่าการประชุมในครั้งนี้เป็นวาระรับทราบเท่านั้น ไม่สามารถลงมติใดๆ ได้ และหลังจากนั้นก็เป็นระเบียบวาระที่จะต้องพิจารณากฎหมายอื่นๆ อีก 18 ฉบับ

นายจุรินทร์กล่าวต่องว่า สาเหตุที่ทำให้รัฐบาลและเสียงข้างมากยังลังเลที่จะหักดิบลงมติในวาระที่ 3 ไม่ใช่เพราะรัฐบาลเคารพคำสั่งของศาล แต่เนื่องจากว่ารัฐบาลเกรงว่าจะเป็นการทำผิดคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจส่งผลต่อผู้ที่ลงมติที่ไม่ฟังคำสั่งของศาลที่เป็นคำสั่งโดยชอบตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เมื่อการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ผ่านสภาฯ แล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ จึงเป็นไปได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่กล้าที่จะนำรัฐธรรมนูญที่มีมลทินนำขึ้นทูลเกล้าฯ เสมือนว่าไม่อยากจะโยนเผือกร้อนไปให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะฉะนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่สามารถโยนความรับผิดชอบในเรื่องนี้ไปให้กับทางสภาฯ ได้ เพราะตนเองเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง

ส่วนกรณีที่สภาฯ ผ่านให้สมาชิกได้อภิปรายกันอย่างต่อเนื่องในประเด็นนี้ จนยืดเยื้อมาถึงสัปดาห์นี้นั้น นายจุรินทร์กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นความตั้งใจที่จะเห็นเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว เพราะต้องการให้ ส.ส.ทางฝ่ายรัฐบาลได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเพื่อโจมตีศาลรัฐธรรมนูญตลอดทั้งสัปดาห์ การประชุมพรุ่งนี้อาจจะมีการลงมติเพื่อที่จะใช้เสียงข้างมากในการที่จะรับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่เกิดขึ้น แต่ทางฝ่ายค้านยืนยันว่าสภาฯ ไม่สามารถลงมติใดๆ ได้นอกเหนือไปจากการทำตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ถ้าฝ่ายรัฐบาลจะพยายามดึงดันที่จะลงมติว่ารับฟังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์ก็จะไม่ร่วมลงมติด้วย เพราะเห็นว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ การลงมติดังกล่าวจะไม่มีเหตุผลอะไรรองรับ และจะทำให้เป็นมติที่เป็นปัญหาต่อไป และตนขอฝากไปยังสมาชิกว่าการลงมติดังกล่าวอาจนำไปสู่การกระทำผิดทางกฎหมายในข้อหาปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น