“ชาญวิทย์” นำทัพ ครก.112 บุกสภา ยื่น 26,968 รายชื่อ แก้กฎหมายอาญา ม.112 โอดบทลงโทษสาหัส ทำสถาบันอ่อนแอ จี้สภาผลักดันมาตรฐานให้เหมือนอังกฤษ โวคนรุ่นใหม่หนุนเพียบ หวังสืบสานเจตนารมณ์ต่อ “พวงทอง” ซัดละเมิดเสรีภาพชัด อ้างคนได้ผลกระทบมาก แถมไร้ความปราณีให้ประกันตัว ชี้ต้องลดโทษ เอาออกจากกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคง “วิสุทธิ์” รับเรื่องคาด 3-4 เดือนรู้ผล
วันนี้ (29 พ.ค.) ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อเวลา 09.00 น. คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) นำโดยนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และการเมือง นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์ นายจรัล ดิษฐาอภิชัย แกนนำคนเสื้อแดง พร้อมประชาชนกว่า 300 คน ซึ่งส่วนใหญ่ สวมเสื้อสีดำและสีแดง ได้ชุมนุมเรียกร้องให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยการป้ายรณรงค์ต่างๆ อาทิ “สิทธิประกันตัวประชาชน” “แก้112 ไม่ใช่ล้มเจ้า” พร้อมปราศรัยบนรถที่ติดเครื่องขยายเสียง จากนั้นเวลา 09.45 น.ได้ตั้งขบวนโดยมีจักรยานยนต์เป็นแนวหน้าขับนำ ถัดมาเป็นกล่องสีดำที่บรรจุรายชื่อประชาชนจำนวน 39,185 คน โดยใช้คนหาบจำนวน 12 กล่อง และตามด้วยประชาชนถือป้ายรณรงค์ต่างๆ พร้อมตัวเลยขนาดใหญ่ เป็นตัวเลขที่ระบุจำนวนผู้ที่ร่วมลงชื่อ ปิดท้ายด้วยรถปราศรัยเดินไปยังรัฐสภา ซึ่งระหว่างการเดินทางก็ได้ส่งเสียง “112 ต้องแก้ไข” ไปตลอดทาง
จากนั้นเวลา 10.10 น.ได้เดินทางมาถึงรัฐสภา และส่งตัวแทนเข้ามายื่นหนังสือที่ห้องโถง อาคารรัฐสภา 1 ให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา โดยมีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นตัวแทนรับ มีรายชื่อทั้งหมด 12 กล่อง และในจำนวนรายชื่อทั้งหมด 39,185 คน มีแบบฟอร์มที่ส่งเอกสารไม่ครบจำนวน 12,217 คน จึงมีรายชื่อที่พร้อมยื่นจำนวนทั้งสิ้น 26,968 คน ซึ่งมีผู้แทนเสนอกฎหมายจำนวน 6 คน 1. นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักชาการด้านประวัติศาสตร์และการเมือง 2. นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และการเมือง 3. นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ 4. นางพวงทอง ภวัครพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5. นายรวี สิริอิสระนันท์ นักเขียน กลุ่มแสงสำนึก 6. นายยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาลัยและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยนางพวงทองกล่าวว่า ร่างประมวลกฎหมายอาญา 112 ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และมีประชาชนได้ผลกระทบจากประมวลกฎหมายนี้จำนวนมาก ล่าสุดก็คือกรณีอากง สาระสำคัญคือ ลดโทษเกี่ยวกับมาตรา 112 เพราะโทษสูงเกินไป 3-15 ปี และเอามาตรานี้ออกจากกฎหมายว่าด้วยความมั่นคง และให้แนวทางการวิพากษ์ วิจารณ์ โดยสุจริตและมีเหตุผล ซึ่งแนวโน้มช่วงหลังคนที่โดยกฎหมายนี้ จะมีโทษหนักมาก 10 ปี 13 ปี 20 ปี และไม่ได้ได้รับความปราณีแม้กระทั่งประกันตัว ซึ่งรุนแรงกว่านักโทษคดีอาญาทั่วไป วิธีที่กระบวนการตุลาการ ปฎิบัติต่อนักโทษ 112 เห็นว่า เป็นคดีทางการเมืองเกี่ยวข้องกับความมั่นคง มักจะไม่ได้รับความปราณีใดทั้งสิ้น ทั้งนี้ คาดหวังไม่ได้มีความหวังมากนักกับสภาชุดนี้ เพราะประกาศชัดทุกพรรคว่าจะไม่แตะต้องกฎหมายนี้ แต่ก็หน้าที่ของเราที่ต้องผลักดัน ถ้าสภานี้ไม่สำเร็จ สภาต่อไปก็เดินหน้าต่อไป และหลังจากนี้ตนจะมาติดตามผล
ด้าน นายวิสุทธิ์กล่าวว่า เมื่อรับเรื่องแล้ว จะส่งไปตรวจสอบรายชื่อตามกระบวนการ ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน เพราะมีรายชื่อกว่า 2 หมื่นรายชื่อ ซึ่งยืนยันว่าในการตรวจสอบตนจะใช้มาตราฐานเดียวกับทุกร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอมา ไม่มีสองมาตราฐาน
ขณะที่นายชาญวิทย์ได้กล่าวภายหลังว่า เราต้องการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเพราะมีบทลงโทษที่สาหัสที่สุดในโลก และยังทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อ่อนแอ เพราะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด จึงเป็นสิ่งที่รัฐสภาจะต้องรีบผลักเพื่อให้สถาบันของเรามีมาตรฐานอย่างเช่นประเทศอังกฤษ แม้ว่า ส.ส.และ ส.ว. พรรคการเมือง และรัฐบาลจะไม่กล้าแตะต้องเพราะเป็นเรื่องอ่อนไหว แต่ก็ขอความกรุณาให้พิจารณากฎหมายก่อนและอย่าใช้ อคติ หรืออวิชาแก้ไข เพราะขณะนี้สังคมไทยเดินหน้ามาไกลแล้ว จะเป็นจะต้องทำให้กฎหมายตามทันต่อสถานการณ์ เพราะแต่ช่วงนี้อาจอยู่ในช่วงตัดสินใจ อย่างเช่นเมื่อ 80 ปีที่ผ่านมา ที่จะต้องเผชิญหน้าว่าประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยและมีรัฐธรรมนูญหรือไม่ สถานการณ์การการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา 112 ก็เช่นกัน ขณะนี้ประชาชนคนรุ่นใหม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้จำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่คนรุ่น 6 หรือ 14 ต.ค. หรือ คนรุ่น พ.ค. 2535 แม้วันนี้รัฐสภาอาจจะไม่เห็นด้วย เราก็จะผลักดันต่อไป แม้จะไม่สำเร็จรุ่นตนก็ไม่เป็นไรเพราะยังมีคนรุ่นหลังสืบสานเจตนารมณ์ต่อไป เพราะวันนี้คบเพลิงประชาธิปไตยได้ส่งต่อไปที่ประชาชนแล้ว