xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่าย 3 ภาคฟ้องศาลปกครอง เพิกถอนแบบจำลองค่าเสียหายโลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เครือข่ายองค์กรชาวบ้าน 3 ภาคฟ้อง กรมอุทยานฯ-ป่าไม้ ต่อศาลปกครองเพิกถอนแบบจำลองค่าเสียหายโลกร้อน ชี้คิดค่าเสียหายเกินกว่า กม.ให้อำนาจ ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซ้ำร้ายขัด รธน.มาตรา 66-67 ละเมิดต่อสิทธิชุมชน

วันนี้ (28 พ.ค.) ตัวแทนชาวบ้านจาก 3 ภาค ประกอบด้วยตัวแทนจากชุมชนบ้านแม่อมกิ จ.ตาก เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าภูผาแดง จ.เพชรบูรณ์ องค์กรชนบ้านพรสรรค์ จ.เชียงใหม่ เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน เทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน จ.ชัยภูมิ ราว 100 คน ได้เดินทางมายื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ เพื่อขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งให้ใช้บังคับแบบจำลองสำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม หลังการทำลายป่าไม้ เป็นหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ (แบบจำลองค่าเสียหายโลกร้อน) และดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแบบจำลองดังกล่าวให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก่อนนำแบบจำลองใหม่มาบังคับใช้

ทั้งนี้ นายอัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากชาวบ้านกล่าวว่า การยื่นคำร้องครั้งนี้เนื่องจากประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากแบบจำลองดังกล่าว เพราะหลังจากที่กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ อ้างว่าประชาชนได้ทำการรุกที่ป่าอุทยานฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตป่าสงวน และได้มีการดำเนินคดีอาญาแล้ว ก็จะมีฟ้องดำเนินคดีแพ่งโดยใช้มาตรา 97 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เป็นฐานในการฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และนำหนังสือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ทส.0911.2/2181 ลงวันที่ 6 ก.พ. 47 ที่กำหนดแบบจำลองทางคณิตศาสตร์สำหรับประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมมาเป็นหลักเกณฑ์ในการขอให้ศาลฯ สั่งเรียกค่าเสียหาย โดยมีรายละเอียดการคิดค่าเสียหายเป็น 7 กรณี 1. ค่าการสูญหายของธาตุอาหาร 2. ค่าทำให้ดินไม่ซับน้ำฝน 3. ค่าทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของรังสีดวงอาทิตย์ 4. ค่าทำให้ดินสูญหาย 5. ค่าทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 6. ค่าทำให้ฝนตกน้อยลง 7. มูลค่าความเสียหายโดยตรงจากป่า 3 ชนิด คือ การทำลายป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง รวมเป็นเงินที่ชาวบ้านต้องจ่ายประมาณ 150,000 บาทต่อไร่ต่อปี

ทั้งนี้ ชาวบ้านเห็นว่าการคิดคำนวณค่าเสียหายโดยใช้แบบจำลองฯ เป็นการคิดค่าเสียหายต่อกทรัพยากรธรรมชาติเกินกว่าที่กฎหมายให้อำนาจ ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่สอดคล้องความเป็นจริง มีข้อผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรงหลายประการ รวมทั้งการใช้แบบจำลองไปเรียกค่าเสียหาย เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 66 และ 67 ที่บัญญัติรับรองคุ้มครองในเรื่องสิทธิชุมชนของประชาชนเอาไว้ จึงขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอน

“การดำเนินการของกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ในกรณีนี้ ไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ แต่กลับยิ่งทำให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมกับกลุ่มเกษตรที่ชีวิตผูกติดกับผืนดินมาแต่บรรพบุรษ รวมทั้งการที่ 2 หน่วยงานพยายามสร้างหลักเกณฑ์การคิดค่าเสียหายที่ไปเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศเช่นเรื่องอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น และฝนตกน้อยลง ที่ยังเป็นกรณีที่นักวิชาการทั่วโลกยังมีข้อถกเถียงกันไม่เป็นที่ยุติ ประกอบกับการกำหนดหลักเกณฑ์การคิดค่าเสียหายที่เชื่อมโยงกับการเกิดภาวะโลกร้อนมาบังคับใช้ อาจทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเกิดความเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสถานะและความรับผิดชอบของประเทศไทยได้ ซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีและอาจสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของประเทศในเวทีโลก”









กำลังโหลดความคิดเห็น