ออสเตรเลียจัดพิธีต้อนรับ นายกฯ ยิ่งลักษณ์อย่างเป็นทางการ ณ อาคารรัฐสภา กรุงแคนเบอร์รา โดยมีนางจูเลีย กิลลาร์ด นายกฯ หญิงของออสเตรเลียพร้อมชาวอะบอริจิน ชนพื้นเมืองของออสเตรเลียมาต้อนรับ
วันนี้ (28 พ.ค.) ที่ อาคารรัฐสภา กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ในโอกาสเยือนออสเตรเลียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของรัฐบาลออสเตรเลีย โดยมีนางสาวจูเลีย กิลลาร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียให้การต้อนรับ
ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีต้อนรับฯ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียเป็นประธานการหารือข้อราชการเต็มคณะ ณ ห้อง Cabinet Room โดยได้มีการหารือทั้งในประเด็นความสัมพันธ์ และความร่วมมือทวิภาคี ภูมิภาค และระหว่างประเทศ ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้แสดงความพอใจและชื่นชมต่อพัฒนาการความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดำเนินมาครบรอบ 60 ปีในปีนี้ รวมทั้งต่างยืนยันความตั้งใจที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่น เพื่อเป็นฐานที่เข้มแข็งในการสานต่อความร่วมมือให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนทั้งสองประเทศ
โดยในการหารือ ทั้งสองฝ่ายต่างยืนยันที่จะพัฒนาความร่วมมือทั้งด้าน ความมั่นคง และเศรษฐกิจ ให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความมั่นคงนั้น ไทยและออสเตรเลียจะยกระดับความร่วมมือในลักษณะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ สนับสนุนการเสริมสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาค เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค รวมทั้งบทบาทของกรอบการดำเนินงานในระดับภูมิภาค ซึ่งไทยแสดงความชื่นชมบทบาทและการทุ่มเทของออสเตรเลียในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชน และการให้ความสำคัญกับปัญหาการค้ามนุษย์และยาเสพติด ทั้งนี้ ไทยและออสเตรเลียจะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันในด้าน การรับมือกับการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ การควบคุมการแพร่กระจายของอาวุธที่มีอานุภาพการทำลายล้างสูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และการเข้าเมืองผิดกฏหมาย
ในด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ไทยและออสเตรเลียเห็นว่า ไทยและออสเตรเลียต่างมีศักยภาพและพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่น่าพอใจ โดยออสเตรเลียมีนโยบายการเงินการคลังที่มีประสิทธิภาพ. และสามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากความท้าทายทางการเงินและเศรษฐกิจโลก ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเร็วกว่าที่คาดหมาย และคาดว่าการเติบโตของ GDP จะโตถึงร้อยละ 6 สำหรับการค้าการลงทุนระหว่างกันนั้น ถือว่า TAFTA หรือความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันในทุกปี และได้ตั้งเป้าหมายว่าจะเติบโตถึงร้อยละ 20 ภายในปี 2559 ซึ่งไทยและออสเตรเลียจะมีการจัดประชุม คณะกรรมาธิการ่วม TAFTA ในเดือนหน้านี้
ทั้งนี้ เพื่อให้การค้าและการลงทุนระหว่างกันมีความก้าวหน้า นายกรัฐมนตรีได้นำคณะนักธุรกิจสำคัญของไทยเกือบ 70 ราย จากสาขาที่สามารถเพิ่มการลงทุนระหว่างกันได้ เช่น พลังงาน โลจิส์ติกส์ เกษตรและอาหาร การศึกษา การท่องเที่ยว และชิ้นส่วนรถยนต์
นอกจากนี้ ไทยและออสเตรเลียได้หารือถึงแนวทางแก้ไขอุปสรรคการค้าภายใต้กรอบ TAFTA เช่น ปัญหามาตรการปกป้องพิเศษ และมาตรการภาษี ซี่งไทยและออสเตรเลียเห็นพ้องให้คณะกรรมาธิการร่วมความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ได้นำไปพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาต่อไป ทั้งนี้ ไทยได้เสนอขอให้มีการพิจารณาอนุญาตให้มีการนำเข้าไก่และกุ้งแช่แข็งจากไทย ซึ่งขณะนี้ สหภาพยุโรป หรือ EU ได้ยกเลิกคำสั่งห้ามแล้ว และอนุญาตให้นำเข้าได้แล้ว ซึ่งออสเตรเลียแสดงความยินดีที่จะพิจารณายกเลิกตามที่ไทยเสนอ รวมทั้ง การพิจารณานำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ ไทยได้แสดงความสนใจเทคโนโลยีการเก็บักษาผลผลิต หรือไซโลผลิตภัณฑ์เกษตร และยินดีส่งเสริมความร่วมมือกับออสเตรเลียเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวในไทยด้วย
สำหรับความร่วมมือด้านแรงงาน ไทยสนับสนุนแรงงานทักษะฝีมือในสาขาต่างๆแก่ออสเตรเลีย แต่ยังมีปัญหาด้านคุณสมบัติการใช้ภาษาอังกฤษที่ออสเตรเลียตั้งมาตรฐานไว้ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพ่อครัวไทย จึงขอความร่วมมือจากออสเตรเลียในการผ่อนปรนคุณสมบัติดังกล่าว พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันด้านการฝึกอบรมภาษาอังกฤษสำหรับพ่อครัวไทยและแรงงานฝีมือต่อไป
ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารและความปลอดภัยทางอาหาร ทั้สองฝ่ายยินดีที่จะพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยอาศัยจุดแข็งซึ่งกันและกัน ที่ต่างเป็นประเทศผู้ผลิตผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญของตลาดโลก และมีศักยภาพด้านการผลิต มาตรฐานความปลอดภัย และบริการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นที่ยอมรับในมาตรฐานโลก ทั้งนี้ ไทยดำเนินนโยบายส่งเสริมโครงการ “ ครัวไทยสู่ครัวโลก“ ที่มีเป้าหมายส่งเสริมการพัฒนาประเทศสู่ความเป็นศูนย์กลางการค้าและการกระจายสินค้าอาหารที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชีย ดังนั้น ไทยจึงยินดีที่จะร่วมมือกับออสเตรเลียด้านเทคโนโลยีและส่งเสริมการลงทุนจากออสเตรเลียในสาขาอุตสาหกรรมกระบวนการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร และไทยสนใจที่จะลงทุนในสาขาน้ำตาล อาหารสัตว์ในออสเตรเลีย
ความร่วมมือด้านพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดที่ออสเตรเลียมีความเชี่ยวชาญ โดยไทยจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคโนโลยีกับออสเตรเลีย รวมทั้งการวิจัยและเทคโนโลยีการสกัดน้ำมันจากสาหร่ายด้วย
ความร่วมมือเพื่อการบริหารจัดการภัยพิบัติ เห็นควรให้มีการผลักดันให้มีการดำเนินการร่วมกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะด้านการเตือนภัยพิบัติที่ออสเตรเลียเป็นประเทศผู้ประสานงานการเตือนภัย Tsunami ในภูมิภาคแปซิฟิก รวมทั้ง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ เกี่ยวกับการจัดทำแผนที่จากข้อมูลดาวเทียม
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้เห็นพ้องให้มีการผลักดันความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกัน เช่น การศึกษา ที่จะมีกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือ โดยเฉพาะการสอนภาษาอังกฤษ ด้านแรงงาน โดยไทยสนับสนุนแรงงานฝีมือไทยไปทำงานที่ออสเตรเลียตามสาขาความต้องการ และออสเตรเลียยินดีพิจารณาผ่อนปรนคุณสมบัติด้านภาษาเพื่อรองรับแรงงานไทย รวมทั้งความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ที่ไทยจะส่งเสริมและดูแลนักท่องเที่ยวออสเตรเลียที่นิยมเดินทางมาประเทศไทยในลักษณะ Medical Tourism เพื่อการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน
จากนั้น ภายหลังการหารือ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจ 2 ฉบับ ได้แก่ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาและการฝึกอบรมระหว่างไทยและออสเตรเลีย และ บันทึกความเข้าใจโครงการแลกเปลี่ยนสมาชิกรัฐสภาไทย-ออสเตรเลีย ระหว่างสถาบันพระปกเกล้า กับ Australian Political Exchange Council
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมด้วยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ และม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม มีกำหนดเดินทางเยือนประเทศออสเตรเลียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 26-29 พ.ค.นี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจของไทย ส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือยุทธศาสตร์ไทย-ออสเตรเลียในทุกๆ ด้าน