รมช.คลังรับปัญหาของแพงใน กทม. เพราะบริหารราคาต้นทางปลายทางไม่ดี ย้ำ จะเร่งหามาตรการให้เกิดความสมดุล “พาณิชย์” จัดมาตรการช่วยเหลือประชาชนในระยะสั้น ส่วนระยะยาวปล่อยเป็นไปตามกลไกตลาด
วันนี้ (16 พ.ค.) ในการประชุมคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชนินทร์ รุ่งแสง เป็นประธานการประชุม โดยได้เชิญหน่วยงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง เข้าชี้แจงแนวทางควบคุมและแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพง โดยนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่าปัญหาสินค้าราคาแพงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นผลจากระบบการบริหารจัดการเรื่องต้นทางปลายทางไม่ดี เกิดการบวกกันหลายทอด ส่วนราคาชุดนักเรียนปรับตัวสูงขึ้นไม่น่าจะเป็นผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาเชื้อเพลิงบางชนิด เพราะผลิตในพื้นที่ที่ไม่มีการปรับขึ้นค่าแรง ทั้งนี้จะหาวิธีให้ราคาสินค้าต้นทางและปลายทางมีความสมดุลกัน พร้อมกันนี้เชื่อว่ามาตรการต่างๆ ของรัฐบาลจะสามารถช่วยสร้างวินัยและความมั่นคงของประชาชนได้ เช่นเดียวกับตัวแทนกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงและเชื้อเพลิงไม่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้ามากนัก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้มาตรการช่วยเหลือประชาชนในระยะสั้น โดยขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการสินค้าใน 7 หมวดสินค้า 140 รายการ ตรึงราคาขายเดิมออกไปอีก 4 เดือน เพราะพบว่าผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการให้ขายสินค้าในราคาเดิมได้ ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็กลัวว่าการปรับขึ้นราคาสินค้าจะทำให้สูญเสียส่วนแบ่งการตลาด ส่วนในระยะยาวจะปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด ให้การทำงานเป็นไปอย่างเข้มแข็ง พร้อมกันนี้ก็จะจัดโครงการสินค้าราคาถูก เพื่อช่วยเลือลดภาระค่าครองชีพประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ด้านกรรมาธิการฯ มีความเป็นห่วงเรื่องการปรับขึ้นค่าแรง การขึ้นราคาเชื้อเพลิงที่จะส่งกระทบต่อราขึ้นราคาสินค้าหลายตัว รวมถึงชุดนักเรียน เพราะในพื้นที่ 70 จังหวัดที่ยังไม่มีการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทก็ได้ปรับขึ้นราคาร้อยละ 40 เท่ากันทุกพื้นที่ จึงอยากให้รัฐบาลเร่งหามาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอมอี เป็นการเร่งด่วนและต่อเนื่อง