รมช.สธ.เผยในที่ประชุม ครม. “ปู” สั่งกระทรวงพาณิชย์ทำกราฟแจงราคาสินค้า หนุนโครงการถูกทั้งแผ่นดิน แต่ให้ทำเป็นระบบสหกรณ์ สั่งกระทรวงอุตฯ-ทรัพย์ฯ เช็กสต๊อกสารเคมี รง.ทั่วประเทศ จี้ตรวจสอบ “อทิตยา” ปล่อยสารรั่วไหลซ้ำสอง
วันนี้ (8 พ.ค.) นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงเรื่องราคาสินค้าแพงว่า นายกฯ ได้ย้ำในเรื่องนี้ เพราะเป็นห่วงประชาชนจากการที่รัฐมนตรีลงพื้นที่มีพบว่ามีบางอย่างแพงขึ้นบางอย่างถูกลง ให้นำมาวิเคราะห์ว่ามาจากสาเหตุใด เช่น ราคาไข่ไก่ จากนั้นให้กระทรวงพาณิชย์ทำสถิติให้ดูว่าราคาสินค้าที่แพงที่สุดควรจะอยู่เท่าใดเพื่อเป็นฐานให้รัฐมนตรีที่จะลงพื้นที่ชี้แจงกับประชาชนต่อไป หรือทำเป็นกราฟแสดงราคาว่าปีนี้เท่าไหร่ ปีที่ผ่านมาเท่าไหร่เปรียบเทียบให้เห็น ถ้าเกินจากนี้ก็ถือว่าสูงเกินไป ก็ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการ นอกจากนี้ นายกฯ ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ทำให้ราคาสินค้าถูกลงและสั่งรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจสอบราคาสินค้า ซึ่งตนได้ลงไปตรวจไม่ได้ดูเรื่องราคาอย่างเดียวได้ดูเรื่องคุณภาพอาหาร การปนเปื้อนด้วย
นพ.สุรวิทย์กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ เรื่องถูกทั้งแผ่นดินนั้น นายกฯ ได้มอบให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ไปทำเรื่องสหกรณ์ เพราะระบบสหกรณ์สามารถซื้อมาจำนวนมากและขายถูกลงทำให้ควบคุมราคาสินค้าได้ โดยอาจจะนำมาขายเป็นสินค้าราคาถูก ส่วนจะทำควบคู่กับร้าน “ถูกใจ” หรือไม่ก็ให้ไปคุยกัน ส่วนกระทรวงคมนาคมให้มาดูเรื่องขนส่งสินค้าว่าทำให้ราคาแพงขึ้นหรือไม่ เช่น เงาะที่ จ.ระยอง 4 กิโลกรัม 100 บาท ส่วนตลาดที่โคราชราคากิโลฯ ละ 30 บาท โดยราคาที่ขึ้นเกี่ยวกับค่าขนส่งและคัดลูกที่เสียออก ฟังดูมีเหตุผล ซึ่งขึ้น 5 บาท พาณิชย์จังหวัดก็บอกว่าเหมาะสม นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีการหารือกันว่าขอให้ตรึงราคาน้ำมันไว้ก่อน และกระทรวงพลังงานได้ระบุว่ามีแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกจะต่ำกว่า 100 เหรียญต่อบาร์เรล ฉะนั้นราคาสินค้าต้องลดลงด้วย
นพ.สุรวิทย์กล่าวอีกว่า นายกฯ ยังมอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปหารือกันเพื่อจัดสัมมนาเพื่อให้โรงงานแต่ละแห่งที่มีสารต่างๆ แจ้งว่ามีสารอะไรไว้ในครอบครอง สารตัวนั้นถ้าเกิดอุบัติเหตุจะเป็นพิษเป็นภัยอย่างไร หรือขึ้นสู่อากาศแล้วเป็นพิษหรือไม่ ถ้าเกิดขึ้นแล้วควรอพยพ ควรอพยพไปไกลเท่าใดจึงจะพ้นขีดอันตราย โดยไม่ใช่เฉพาะมาบตาพุด แต่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมทั้งประเทศ นอกจากนี้ เรื่องสำคัญ คือ เรื่องข้อมูลข่าวสารหลังเกิดเหตุทำให้สับสน ดังนั้นจึงให้มอบให้จังหวัดเป็นศูนย์กรองข่าว จากนั้นให้รายงานส่วนกลาง คือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นอกจากนี้ยังมอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรม ปภ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กระทรวงสาธารณสุข จะต้องไปร่วมกันหารือเรื่องสารต่างๆ โดยนายกฯกำชับให้ทำโดยเร็ว ซึ่งนายกฯทราบข้อมูลมาว่า โรงงานอทิตยาเบอร์ร่า เคยเกิดสารเคมีรั่วไหลมาแล้ว 1 ครั้งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา แต่ปีนี้ก็เกิดการรั่วไหลอีก จึงสั่งไปตรวจสอบว่าจากการรั่วไหลครั้งแรกได้มีการดำเนินการอะไรหรือไม่ ถึงทำให้เกิดขึ้นอีก