xs
xsm
sm
md
lg

“สวนดุสิตโพล” ชี้ภาพโป๊โผล่สภาทำภาพลักษณ์เสื่อม เมิน “ณัฏฐ์” แก้ตัวฟังไม่ขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดผลสำรวจสวนดุสิตโพล ชี้ร้อยละ 49 ภาพโป๊กลางสภาไม่สมควรเกิดขึ้น ส่วนร้อยละ 83 เชื่อทำภาพลักษณ์รัฐสภาแย่ลง วอนเร่งตรวจสอบโดยเร็ว และป้องกันโดยออกกฎระเบียบเคร่งครัด ส่วนข้ออ้าง “ณัฏฐ์” เปิดไอโฟนลบภาพหวิวฟังไม่ขึ้นถึงร้อยละ 53 ชี้แก้ตัวรักษาชื่อเสียงตัวเอง


วันนี้ (22 เม.ย.) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจในหัวข้อ “ภาพลักษณ์” ของ “รัฐสภาไทย” กรณี “ภาพโป๊” จากกรณีการปรากฏภาพนิ่งของหญิงสาวที่ไม่เหมาะสมระหว่างที่กำลังมีการอภิปราย และกรณีที่นายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้หยิบโทรศัพท์ไอโฟนขึ้นมาเปิดดูรูปภาพสาวนุ่งน้อยห่มน้อยในขณะที่กำลังประชุมสภา โดยสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,127 คน ระหว่างวันที่ 19-21 เมษายน 2555 พบว่าความคิดเห็นของประชาชน กรณีการปรากฏภาพนิ่งของหญิงสาวที่ไม่เหมาะสมระหว่างที่กำลังมีการถ่ายทอดการอภิปราย ร้อยละ 49.27 เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะระหว่างที่มีการถ่ายทอดสดการอภิปราย เพราะมีคนดูทั่วประเทศและมีทุกเพศทุกวัย รองลงมา เห็นว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคและผู้ที่ดูแลการประชุม ร้อยละ 21.27 อันดับสาม เห็นว่าทำให้ภาพพจน์ของรัฐสภาเสื่อมเสียและภาพลักษณ์ของประเทศดูแย่ลง ร้อยละ 15.65 และอันดับสี่ เห็นว่าไม่ควรด่วนสรุปเร็วเกินไปก่อนที่จะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรืออาจเป็นเหตุสุดวิสัย ร้อยละ 13.81

ส่วนความคิดเห็นของประชาชน กรณีที่นายณัฏฐ์ได้หยิบโทรศัพท์ไอโฟนขึ้นมา โดยอ้างว่าเป็นการหยิบขึ้นมาเพื่อลบภาพสาวนุ่งน้อยห่มน้อยทิ้งนั้น ร้อยละ 53.34 เห็นว่าเหตุผลที่ชี้แจงฟังไม่ขึ้น เป็นการแก้ตัวเพื่อรักษาชื่อเสียงของตัวเองมากกว่า รองลงมาเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ควรให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับเรื่องที่กำลังอภิปรายอยู่ มากกว่าจะเปิดดูภาพในโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 26.59 อันดับสาม เห็นว่าควรมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรม ผิดก็ว่าไปตามผิด ร้อยละ 13.22 ส่วนอันดับสี่ เห็นว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ควรนำมาเป็นประเด็นหรือเรื่องราวใหญ่โต ทำให้ภาพลักษณ์การเมืองไทยดูแย่ลง มีเพียงร้อยละ 6.85

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ประชาชนคิดว่ามีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐสภาไทยหรือไม่ พบว่าร้อยละ 83.44 เห็นว่ามีผลกระทบทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐสภาไทยดูแย่ลง เพราะรัฐสภาเป็นสถานที่อันทรงเกียรติ ทุกคนควรเคารพและยึดถือปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ส่วนประชาชนที่มองว่าไม่มีผลกระทบ มีเพียงร้อยละ 16.56 เพราะเห็นว่าควรใช้วิจารณญาณพิจารณาในเรื่องที่เกิดขึ้น เป็นข้อผิดพลาดหรือข้อบกพร่องที่เกิดจากตัวบุคคล ไม่ควรกล่าวหา หรือมองในแง่ลบทั้งหมด

เมื่อผลสำรวจถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประชาชนคิดว่าจะถูกนำมาใช้เป็นเกมการเมืองหรือไม่ ร้อยละ 44.04 เห็นว่าถูกนำมาใช้เป็นเกมการเมืองอย่างแน่นอน เพราะเป็นการนำข้อผิดพลาดในเรื่องนี้มาใช้โจมตีกันทางการเมือง ต้องการเบี่ยงเบนความสนใจเพื่อประโยชน์ทางการเมือง รองลงมาคือไม่แน่ใจ ร้อยละ 38.13 เพราะขึ้นอยู่กับกระแสสังคมว่าจะให้ความสนใจและให้ความสำคัญมากน้อยเพียงใด รวมทั้งการเผยแพร่ของสื่อ ขณะที่ร้อยละ 17.83 เห็นว่าคงไม่นำมาใช้เป็นเกมการเมือง เพราะการเมืองไทยทุกวันนี้วุ่นวายมากพออยู่แล้ว ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ยังเป็นปมขัดแย้งทางการเมืองอยู่

เมื่อผลสำรวจถามว่า ประชาชนคิดว่า “สำนักงานเลขาธิการสภา” ควรดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร พบว่าร้อยละ 56.11 เห็นว่าควรเร่งตรวจสอบเรื่องนี้โดยเร็วและออกมาชี้แจงให้กับสังคมรับรู้ รองลงมาคือ หากพบว่ามีการกระทำที่ไม่ถูกต้องหรือทำผิดจริง ต้องได้รับการลงโทษตามข้อบังคับที่กำหนดไว้ ร้อยละ 23.47 ส่วนอันดับสาม เห็นว่าควรมีการกำหนดกฎระเบียบ มีมาตรการควบคุมและป้องกันที่เข้มงวดให้เหมาะสมกับสภาพสังคม และเทคโนโลยีในปัจจุบันโดยเฉพาะอุปกรณ์สื่อสาร ร้อยละ 20.42

เมื่อผลสำรวจถามว่า ประชาชนคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างกรณีนี้ขึ้นอีกหรือไม่ ร้อยละ 45.76 เห็นว่าไม่แน่ใจ เพราะอุบัติเหตุหรือข้อผิดพลาดในการทำงานมักเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบและการยึดปฏิบัติตามกฎระเบียบของแต่ละคนมากกว่า รองลงมาเห็นว่าคงจะไม่เกิดขึ้น ร้อยละ 27.86 เพราะจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ ทำให้ทุกคนต้องตระหนักและระมัดระวังให้มากขึ้น ส่วนอันดับสามเห็นว่าคงจะเกิดขึ้นอีก ร้อยละ 26.38 เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังอยู่ในกระแสที่คนให้ความสนใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปถ้าการควบคุมดูแลไม่เข้มงวดหรือยังหละหลวมอยู่ ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นได้อีก

และเมื่อผลสำรวจถามว่า จะมีวิธีการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นมาอีกอย่างไร พบว่าร้อยละ 32.63 เห็นว่ารัฐสภาจะต้องมีการกำหนดกฎระเบียบที่เข้มงวด ทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดและมีบทลงโทษชัดเจน รองลงมาร้อยละ 26.06 เห็นว่าระหว่างประชุมหรือทำงานควรมีการตรวจสอบอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องในการทำงานหรืองดใช้ เพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาดหรือเกิดปัญหาขึ้นมาอีก ส่วนอันดับสามเห็นว่าขึ้นอยู่กับความตระหนัก จิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อหน้าที่ของแต่ละบุคคล ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ควรมีความตั้งใจและจริงจังในการทำงาน ร้อยละ 21.59 และอันดับสี่ เห็นว่า คงจะป้องกันได้ยาก อุบัติเหตุหรือข้อผิดพลาดในการทำงานมักเกิดขึ้นได้เสมอ ร้อยละ 19.72

กำลังโหลดความคิดเห็น