“อนุสรณ์” เผยเยือนจีนชมแผนป้องกันน้ำท่วม-ภัยแล้ง เหมือนโครงการพระราชดำริเป๊ะ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ลั่นน้อมนำกระแสพระราชดำรัสเป็นแนวทางบริหารจัดการน้ำของชาติอย่างต่อเนื่องต่อไป ชวนฝัน “ปู” อยู่ครบเทอมได้เห็นรถไฟความเร็วสูงแน่ ยังไม่มีบริษัทไหนปิดกิจการจากการขึ้นค่าจ้างแรงงานวันละ 300 บาทแม้แต่รายเดียว
วันนี้ (20 เม.ย) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลสัมฤทธิ์ของการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะการเยี่ยมชมศูนย์ป้องกันน้ำท่วมและบรรเทาภัยแล้งแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรน้ำจีน เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วมและการบรรเทาภัยแล้งว่า จากแผนป้องกันอุทกภัยฉุกเฉิน แผนการป้องกัน ควบคุมน้ำท่วม แผนการปรับปริมาณน้ำของแม่น้ำ และโครงการชลประทานของจีนนั้น หลายโครงการมีหลักการเดียวกันกับโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ พระอัจฉริยภาพในการบริหารจัดการน้ำ ที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ความสำคัญเรื่องการทำฟลัดเวย์ตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ Floodplain น้ำมีที่อยู่ เป็นแก้มลิงใน Floodplain น้ำมีที่ไป ฟลัดเวย์น้ำท่วมไหลผ่านได้
นายอนุสรณ์กล่าวว่า รัฐบาลรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ และรู้ซึ้งถึงพระราชอัจฉริยภาพรอบด้านของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โครงการพระราชดำริหลายโครงการ ยืนยันถึงพระปรีชาสามารถและเป็นสากล ซึ่งทำให้ได้ประจักษ์ว่า พระองค์ทรงเข้าถึงธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างถ่องแท้ และทรงปรับใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้นตลอดมา
นายอนุสรณ์กล่าวว่า รัฐบาลจะน้อมนำกระแสพระราชดำรัสเป็นแนวทางในการดำเนินงานแผนบริหารจัดการน้ำของชาติอย่างต่อเนื่องต่อไป และจะนำข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับฟังจากศูนย์ป้องกันน้ำท่วมและบรรเทาภัยแล้งแห่งชาติจีน ซึ่งไทยจีนผูกพันกันแน่นแฟ้น บวกกับท่าทีที่กระตือรือร้นของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน ที่จะสานความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เหมือนดังคำกล่าวที่ว่า “ไทยจีนใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” นั้นจะมีประโยชน์กับไทย บวกกับองค์ความรู้และเทคโนโลยีชั้นสูงที่ได้ไปศึกษาดูงานเรื่องการบริหารจัดการน้ำทั้งจากประเทศญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี มาควบรวมกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งหลังจากน้ำท่วมใหญ่ในปีที่ผ่านมา วันนี้รัฐบาลได้เร่งซ่อมแซมเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ระบบพยากรณ์ และทางน้ำหลากให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์อุทกภัย หากเป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ น้ำจะไม่ท่วมแน่นอน
นายอนุสรณ์ยังได้กล่าวถึงโครงการขยายผลความร่วมมือด้านรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลไทยที่จะร่วมทุนกับรัฐบาลจีน ภายหลังน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะเดินทางไปดูงานรถไฟความเร็วสูงและเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการสถานีรถไฟกรุงปักกิ่ง (หนานจ้าน) สถานีรถไฟเมืองอู่ซิงของจีน อีกทั้งในการเยือนประเทศญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีจะเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับรถไฟชินกันเซ็น ที่สถานีรถไฟฮากาตะ เมืองฟุกุโอะกะ ประเทศญี่ปุ่น
นายอนุสรณ์กล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงที่คาดว่าไทยจะนำมาใช้ เป็นระบบรถไฟแบบใหม่ หรือจะเรียกว่าเป็นรถไฟแห่งยุคสมัยใช้ขนส่งผู้โดยสารเป็นหลัก วิ่งด้วยความเร็วสูงระดับ 250-350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันประเทศจีน เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ตามแผนการพัฒนารถไฟระยะที่ 7 ของจีน ที่จะให้มีรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ โดยจีนได้อาศัยต้นแบบจากเทคโนโลยีของเยอรมัน ซึ่งเยอรมันไม่ประสบความสำเร็จเพราะมีต้นทุนสูง ไม่สามารถผลิตเป็นเชิงพาณิชย์ได้ เมื่อจีนและเยอรมนีได้ร่วมมือกันก็ได้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง คือ สามารถผลิตได้มาก ราคาไม่สูงเกินไป และใช้ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างดี ดังตัวอย่างรถไฟความเร็วสูงสายปักกิ่ง-เทียนสิน ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะได้ทดลองนั่งกันมาแล้ว โดยขณะนี้จีนกำลังขยายรถไฟแบบนี้ไปทั่วประเทศ รวมทั้งได้ร่วมมือพัฒนากับประเทศต่างๆ เพื่อพัฒนารถไฟแบบนี้
นายอนุสรณ์กล่าวว่า ภายใต้ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นแบบนี้ระหว่างสองรัฐบาล รัฐบาลและภาคเอกชนจีน พร้อมอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนให้เกิด โครงการขยายผลความร่วมมือด้านรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลไทยที่จะร่วมทุนกับรัฐบาลจีนในระยะอันใกล้ โดยขอให้ประชาชนให้โอกาส ให้กำลังใจรัฐบาลชุดนี้ ให้ได้อยู่ครบวาระ เขียนแปะไว้ข้างฝาไว้เลย ว่าประเทศไทยจะมีรถไฟความเร็วสูงแน่นอน นาย
นายอนุสรณ์ยังได้กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความห่วงใยที่ทีดีอาร์ไอออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าการขึ้นค่าแรง 300 บาทจะเป็นการช็อกเศรษฐกิจและรัฐบาลจะต้องพิจารณาว่าจะกระทบธุรกิจในขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีต้นทุนสูง และส่งผลให้ราคาสินค้าในประเทศสูงขึ้น อ้างอิงหลายอุตสาหกรรมว่าไม่สามารถแบกรับต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นได้ว่า ความจริงนายอภิสิทธิ์แสดงความเห็นสอดคล้องต่อเนื่องกับอาจารย์อัมมาร สยามวาลา อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ที่เป็นนักวิชาการขาประจำที่แฟนการเมืองคุ้นชินและทราบจุดยืนท่านเป็นอย่างดีหลายครั้ง แต่นับเป็นเรื่องแปลกที่ออกมาวิจารณ์ว่าของแพง แต่กลับคัดค้านการเพิ่มรายได้ของประชาชนที่รัฐบาลนี้พยายามทำ ทั้งการปรับรายได้ให้แก่บุคลากรภาครัฐ ที่จบปริญญาตรีให้มีรายได้ขั้นต่ำ15,000 บาทต่อเดือน ที่เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2555 การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน นำร่อง 7 จังหวัด มีแรงงานมากกว่า 6 ล้านคน ได้รับประโยชน์ เริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2555 การประกาศรับจำนำราคาข้าวในราคาที่สูงเป็นประวัติการณ์ 15,000-20,000บาท
นายอนุสรณ์กล่าวต่อว่า มีคนบ่นตลอดว่าเศรษฐกิจไม่ดี ทั้งที่ในห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ร้านอาหาร คลาคล่ำไปด้วยผู้คน ที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ยอดการสั่งซื้อรถยนต์ในงานแสดงรถยนต์กลางปีที่เพิ่มขึ้น ทำไมกลุ่มค้านไม่ไปเอาผลศึกษาของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่ออกมาวิเคราะห์ไว้น่าสนใจว่า นโยบายดังกล่าวจะทำให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้เพิ่ม ทำให้มีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยหรือกำลังซื้อเพิ่ม เกิดการปรับตัวในการใช้ knowledge & skilled-based มากขึ้น โดยภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการจ้างแรงงานที่มีความรู้และประสบการณ์มากขึ้น เพื่อให้คุ้มค่ากับต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน รวมถึงปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงาน ทั้งในระดับไร้ฝีมือ และมีฝีมือ ขณะที่อัตราการว่างงานโดยรวม ณ เดือน พ.ค. 2554 อยู่ในระดับ 0.7-0.8% ทำให้มีแนวโน้มที่จะต้องปรับเพิ่มค่าจ้างอยู่แล้ว ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า มีแรงงานมากกว่า 6 ล้านคนได้รับประโยชน์ เป็นลูกจ้างรายเดือน 1-2 ล้านคน ลูกจ้างรายวัน 3-4 ล้านคน ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ พบว่าไทยค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทย อาทิ สิงคโปร์วันละ 1,830 บาท มาเลเซีย 530 บาท ดังนั้น ค่าแรงวันละ 300 บาท จึงไม่ได้แพงอย่างที่พูดกัน และยังไม่มีบริษัทไหนปิดกิจการจากการขึ้นค่าจ้างแรงงานแม้รายเดียว