xs
xsm
sm
md
lg

ชาวราษีไศลนอนรอลุ้นงบฯ 133 ล้าน จ่ายชดเชยที่ดิน 1,142 แปลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง (แฟ้มภาพ)
คกก.แก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ราษฎร 1,142 แปลง รวม 133,542,936 บาท

วันนี้ (28 มี.ค.) เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล ครั้งที่ 1/2555 โดยมีนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้

ที่ประชุมเห็นชอบผลการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิที่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด ศรีสะเกษ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด และได้ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิครบ 30 วัน ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดคัดค้าน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ราษฎรต่อไป โดยขอใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่ถือปฏิบัติในการจ่ายทุกครั้งที่ผ่านมา

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัด ศรีสะเกษ สุรินทร์และร้อยเอ็ด ได้มีหนังสือแจ้งฝ่ายเลขานุการว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัด ศรีสะเกษ สุรินทร์และร้อยเอ็ด มีมติเห็นชอบ รวม 2 กรณี คือ 1. บัญชีรายชื่อราษฎรที่ผ่านการตรวจสอบจากคณะทำงานแก้ไขปัญหาฯ ระดับอำเภอ ซึ่งประกาศรับรองการทำประโยชน์แล้วไม่มีผู้ใดคัดค้าน แยกเป็นจังหวัดศรีสะเกษ 4 แปลง เนื้อที่ 29-1-83.40 ไร่, สุรินทร์ 22 แปลง เนื้อที่ 49-1-98 ไร่ รวมจำนวน 26 แปลง เนื้อที่ 78-3-81.40 ไร่ ๆ ละ 32,000 บาท เป็นเงิน 2,526,512 บาท 2. บัญชีรายชื่อราษฎรที่ผ่านการตรวจสอบของคณะทำงานพิจารณาคำร้องคัดค้านประกาศอำเภอ (อุทธรณ์) ว่าได้ทำประโยชน์ในลักษณะท้องถิ่นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 ประกอบกับมติการประชุมร่วมระหว่างตัวแทนคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล กับคณะทำงานพิจารณาคำร้องคัดค้านประกาศอำเภอ (อุทธรณ์) ทั้งสามจังหวัด เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2552 แยกเป็น จังหวัดศรีสะเกษ 528 แปลง เนื้อที่ 1,844-1-26.20 ไร่ สุรินทร์ 273 แปลง เนื้อที่ 1,440-1-79 ไร่, ร้อยเอ็ด 315 แปลง เนื้อที่ 809-2-00.10 ไร่ รวมจำนวน 1,116 แปลง เนื้อที่ 4,094-1-05.30 ไร่ ๆ ละ 32,000 บาท เป็นเงิน 131,016,424 บาท รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,142 แปลง เนื้อที่ 4,173-0-86.70 ไร่ อัตราไร่ละ 32,000 บาท เป็นเงิน 133,542,936 บาท

พร้อมกันนี้ เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการจ่ายค่าชดเชยในแต่ละจังหวัด เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการจ่ายค่าชดเชยให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้อง ตามที่เสนอคณะรัฐมนตรีและได้ให้ความเห็นชอบมาแล้ว ดังนี้ องค์ประกอบ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด อัยการจังหวัด คลังจังหวัด นายอำเภอท้องที่ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและที่ดิน กรมชลประทาน ผู้แทนกลุ่มสมัชชาเกษตรภาคอีสาน ผู้แทนกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรอีสาน ผู้แทนกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย ผู้แทนกลุ่มเกษตรกรฝายราษีไศล ผู้แทนกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนกลุ่มอิสระ ผู้แทนกลุ่มสมัชชาลุ่มน้ำมูล ผู้แทนกลุ่มสมัชชาคนจน ผู้แทนกลุ่มชาวนา 2,000 โดยมี ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง เป็นกรรมการและเลขานุการ อำนาจหน้าที่

1. พิจารณาและควบคุมการโอนจ่ายเงินค่าชดเชยให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ จำนวนเนื้อที่ และจำนวนเงินค่าชดเชย ตามคณะรัฐมนตรีอนุมัติ 2. ปฏิบัติงานอื่นที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับการนี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล เนื่องจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 65/2552 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 หมดวาระจากโครงการฝายราษีไศล ทั้ง 3 จังหวัด (ศรีสะเกษ, สุรินทร์, ร้อยเอ็ด) ที่แต่งตั้งโดยประธานกรรมการฯ ชุดเดิมหมดวาระตามไปด้วย ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาของโครงการฝายราษีไศลเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ที่ประชุมจึงเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ในแต่ละจังหวัดทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าว โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้ องค์ประกอบ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานอนุกรรมการ อนุกรรมการประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 ธนารักษ์พื้นที่จังหวัด เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ปฏิรูปที่ดินจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน นายอำเภอท้องที่ที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนกลุ่มสมัชชาเกษตรภาคอีสาน ผู้แทนกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรอีสาน ผู้แทนกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย ผู้แทนกลุ่มเกษตรกรฝายราษีไศล ผู้แทนกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนกลุ่มอิสระ ผู้แทนกลุ่มสมัชชาลุ่มน้ำมูล ผู้แทนกลุ่มสมัชชาคนจน ผู้แทนกลุ่มชาวนา 2,000 โดยมีหัวหน้าฝ่ายจัดหาที่ดิน 8 กรมชลประทาน เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ อำนาจหน้าที่ 1. ตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ พิจารณาแก้ไขปัญหา 2. แต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อมอบหมายให้ดำเนินการตรวจสอบการครอบครองและการทำประโยชน์ของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล 3. รายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศลเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป 4. ปฏิบัติงานอื่นที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับการนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น