xs
xsm
sm
md
lg

ความขัดแย้งและความแตกต่าง วิวาทะ เกษียร เตชะพีระ –ไพวรินทร์ ขาวงาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกษียร เตชะพีร
ผมไม่รู้จัก “เกษียร เตชะพีระ” และ “ไพวรินทร์ ขาวงาม” เป็นการส่วนตัว ได้อ่านงานเขียน บทกวีของทั้งสองด้วยความชื่นชมมานานแล้ว วิวาทะที่ปรากฏทางสื่อของทั้งสองคนเป็นปรากฏการณ์ที่อยากร่วมให้ข้อสังเกตและทำความเข้าใจสำหรับตนเอง

การวิพากษ์ของเกษียรที่ว่า “กวีคิดนามธรรมไม่เป็น” เป็นวิธีวิพากษ์ด้วยหลักเหตุผล และการตอบโต้ของไพวรินทร์ที่บอกว่า ตนเองเพียง “มองเห็นต่าง ไม่มีสิทธิจะเห็นต่างหรือ” ซึ่งก็เป็นเหตุเป็นผลด้วยเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าคิดด้วยเหตุผลคนละชุดกัน คนละ “ตรรกะ” คนละ “ไวยากรณ์ปรัชญา” กัน

มีอยู่ 2 ด้าน 2 ประเด็นที่เห็นว่าเกี่ยวกับกรณีนี้

ประเด็นแรก ทั้งสองมองโลก มองชีวิต ไม่เหมือนกัน มีโลกทัศน์ชีวทัศน์แตกต่างกัน มองความเป็นจริงคนละอย่าง จึงมีวิธีการตัดสินคุณค่าแตกต่างกันด้วย เรียกรวมๆ ว่ามีกระบวนทัศน์ (paradigm) ที่ไม่เหมือนกัน แต่ละกระบวนทัศน์ก็มี “ตรรกะ” ของตนเอง

ประเด็นคงไม่ใช่เรื่องการคิดนามธรรมเป็นหรือไม่เป็น เกษียรคงไม่ naive ขนาดไปกล่าวหากวีว่า conceptualize ไม่เป็น ถ้าคิดนามธรรมไม่เป็นคงไม่เขียนบทกวีที่ก้าวข้ามโลกแห่งรูปธรรมทั้งหลายไปได้ กวีเป็นศิลปินคล้ายกับจิตรกร งานของอังคาร กัลยาณพงศ์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ถวัลย์ ดัชนี เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ล้วนแสดงออกถึงการคิดที่มาจาก concept ที่เหนือรูปธรรมทั้งสิ้น

เกษียรคงหมายถึงว่า มีการสับสนในการใช้ concept เอาเรื่องหนึ่งไปใส่อีกเรื่องหนึ่ง เอา concept หนึ่งที่ใช้กับกรณีหนึ่ง ไปใช้กับอีกกรณีหนึ่ง เอาเรื่อง “รัฐทำให้ประชาชนเสียชีวิต” ไปสลับสับสนปะปนกับ “ประชาชนรับใช้รัฐไปทำงานตามหน้าที่”

แต่ในโลกของความเป็นจริง แม้จะต่างสถานการณ์ กรอบคิด หลักคิด แนวคิด แล้วแต่จะเรียกในเรื่องของความยุติธรรมก็ไม่ได้แตกต่างกัน คำถามพื้นฐานของชีวิตว่าด้วยความเป็นธรรม ว่าด้วยความยุติธรรม ว่าด้วยความเสมอภาค ว่าด้วยเสรีภาพ เหมือนกันและใช้ได้กับคนในสังคมได้ทุกกรณี ไม่ว่าจะเหมือนกัน แตกต่างกันด้วยเนื้อหา แต่ก็นำมาเปรียบเทียบกันได้

เข้าใจว่า คำถามของไพวรินทร์ การวิพากษ์ของเขาอยู่ในลักษณะนี้ และมีสิทธิที่จะคิด แสดงออก ที่สุด เกษียรเองก็ยังบอกว่า ถ้าคุณไปตั้งคำถามกับทหารตายในการทำหน้าที่ อยากได้สักสิบล้านก็เรียกร้องได้ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเจ็ดล้าน เจ็ด ก็คงไม่เกี่ยว แต่ไพวรินทร์ก็มีสิทธิที่จะเปรียบเทียบได้ในแง่ของ “หลักแห่งความยุติธรรมและธรรมาภิบาล”

ประการที่ 2 ความแตกต่างของกระบวนทัศน์ของทั้งสองน่าจะมาจากความแตกต่างของฐานคิดหลักที่คนหนึ่งเป็นนักวิชาการ นักรัฐศาสตร์ เชี่ยวชาญด้านหลักคิดหลักการและปรัชญาการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องของหลักเหตุผล อีกคนหนึ่งเป็นกวี

แนวคิดว่าด้วยเหตุผลที่อยู่บน “ทุกสิ่งทุกอย่าง” เป็นแนวคิดหลักของตะวันตกมาตั้งแต่กำเนิดปรัชญาเมื่อ 2,500 ปีก่อน ตั้งแต่นักปรัชญากรีกตั้งคำถามว่า ถ้าเทพเจ้าไม่สร้างโลก ไม่ยุ่งเกี่ยวกับความเป็นไปของโลก แล้วโลกมาจากไหน และอยู่อย่างนี้ได้อย่างไร

โสคราติสเริ่มแหกประเพณีด้วย “วิภาษวิธี” มีลูกศิษย์เอก คือ เพลโต ที่เป็น “เจ้าความคิด” และเพลโตมีศิษย์เอกชื่อ อริสโตเติลที่เป็นนักวิชาการ จัดระบบคิด ระบบวิชาต่างๆ และเป็นคนที่ให้นิยามคนว่าเป็น “สัตว์ที่มีเหตุผล”

นิยามนี้คือฐานคิดสำคัญของตะวันตก และมาถึงจุดสูงสุดที่ศตวรรษที่ 17 เมื่อมีนักปรัชญาฝรั่งเศสเดการ์ต บิดาของลัทธิเหตุผลนิยมยุคใหม่ที่บอกว่า “คุณคิด คุณจึงเป็นคุณ” เมื่อประสานพลังกับนักวิทยาศาสตร์อังกฤษอย่างนิวตัน ก็ได้แนวคิดที่มีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการของสังคมตะวันตกและสังคมโลก ความก้าวหน้าทางวิชาการ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

แม้จะเกิดสิ่งดีๆ มากมาย แต่ก็ได้แนวคิดที่ครอบงำ และทำให้โลกคิดแบบแยกส่วน แบบกลไก (mechanic) และส่งผลเสียหายมากมายต่อชีวิต สิ่งแวดล้อม และสังคมโลกวันนี้ เพราะแนวคิดแบบนี้ ลดทอน (reductionism) ชีวิตที่เป็นระบบที่มีความซับซ้อน เป็นองคาพยพ (organism) ให้ลดลงมาเหลือแต่ “เหตุผล” เท่านั้น หรือเหลือแค่สิ่งที่แต่ละวิชา แต่ละสาขา แต่ละอาชีพยึดถือเป็นหลักเท่านั้น ไม่เชื่อมโยง ไม่สัมพันธ์หรือบูรณาการกับด้านอื่นๆ เรื่องอื่นๆ ประหนึ่งว่าชีวิตทั้งชีวิตมีอยู่แค่นั้น

เราถึงได้วิชาแพทย์ที่แม้จะก้าวหน้าในด้านต่างๆ แต่เป็นแพทย์ที่แยกส่วน แพทย์ที่รักษาโรคแต่ไม่รักษาคน ที่รู้แต่ความเจ็บป่วย แต่ไม่รู้ความทุกข์ของคนที่ใหญ่กว่าตัวโรคนั้นมากนัก

เราถึงได้การเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินทองสะพัด ความเป็นอยู่สะดวกสบาย แต่ได้ทำลายป่า ทำลายดิน น้ำ สิ่งแวดล้อมเสื่อมสลาย ได้ทำลายความสมดุลของธรรมชาติ ของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ

วิธีคิดแบบตะวันตกที่ลดทอนชีวิตคนเหลือเพียง “สัตว์ที่มีเหตุผล” ทำให้มองว่าคนอื่นที่ไม่มีความรู้ ไม่มีวิชาการเหมือนตนเองเป็นคนโง่ คนที่ไม่มีเงินเหมือนตนเองเป็นคนจน คนที่ไม่ตัวใหญ่ ไม่กินอยู่แบบตนเองเป็นคนเจ็บ นี่คือที่มาของวาทกรรม “โง่ จน เจ็บ”

คนไทยเองก็รับแนวคิดนี้มา คิดว่าตนเองมีเหตุผลมากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะ “ชาวบ้าน” “ตาสีตาสา” เพราะตนเองเรียนจบมหาวิทยาลัย เพราะตนเองเรียนจบเป็นด็อกเตอร์

การที่เกษียรวิพากษ์ไพวรินทร์ว่า เป็นกวีที่คิดนามธรรมไม่เป็น ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากผู้ถูกวิจารณ์และคนอ่านเรื่องนี้ทั่วไปว่า เป็นการดูถูกว่า “โง่ คิดไม่เป็น”

เกษียรอาจจะโต้แย้งว่า เขาวิเคราะห์และวิพากษ์แบบ “วิภาษวิธี” ธรรมดา ใช้หลักตรรกวิทยาที่ไม่ได้มีอะไรออกนอกกรอบ ซึ่งก็ถูกของเขา เพราะเขาคิดตามแนวคิดแบบตะวันตก แบบที่มองเหตุผลอยู่เหนือสิ่งใด เหตุผลคือความเป็นคน ยิ่งมีเหตุผลมากก็เป็นคนมาก มีเหตุผลน้อยก็เป็นคนน้อย

ประมาณ 30 ปีที่แล้ว ผมยังสอนปรัชญาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะนั้นมีการปรับปรุงหลักสูตรวิชาพื้นฐาน มีคณะกรรมการประกอบด้วยตัวแทนจากอาจารย์ นักศึกษา ผู้บริหาร ร่วมกันเสนอว่าควรตัดควรเพิ่มวิชาอะไร เนื้อหาอะไร คณะกรรมการนี้เสนอว่า ควรให้วิชาตรรกวิทยาเป็นวิชาบังคับ และไม่ใช่บังคับเลือกด้วย ให้บังคับทุกคนได้เรียน จะได้เป็นคนมีเหตุผล

มีการนำเสนอเรื่องการปรับปรุงหลักสูตรเหล่านี้ให้ผู้เกี่ยวข้องในเวทีประชาพิจารณ์ ผมคงเป็นคนหนึ่งในน้อยคนที่ไม่เห็นด้วย และให้เหตุผลว่า การมีเหตุมีผลนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเรียนวิชาตรรกวิทยา ดูพ่อแม่เรา ดูคนที่เก่งๆ ในสังคมที่เรารู้จัก เคารพนับถือว่าเป็นคนมีเหตุมีผลสิ ท่านเหล่านั้นไม่เคยเรียนวิชาตรรกวิทยาเลย แล้วท่าน “มีเหตุผล” ได้อย่างไร แล้วผมก็สาธยายว่า การมีเหตุมีผลนั้นต้องการสามัญสำนึกและความรู้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ผสมผสานกันเท่านั้น ซึ่งเรียนรู้ได้ในชีวิตจริง

ความจริง สิ่งที่ผมนำเสนออย่างยืดยาวนั้นก็เป็นการนำเสนอด้วยเหตุผลเช่นเดียวกัน แต่ด้วย “ตรรกะ” อีกแบบหนึ่ง ผลปรากฏว่า วิชาตรรกวิทยาถูกตีตกไปในที่สุด นักศึกษาธรรมศาสตร์จึงไม่ได้ถูกบังคับให้เรียนวิชาตรรกวิทยาเพื่อจะได้มีเหตุผลตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันนี้ด้วยประการฉะนี้

เรื่องนี้จึงโยงไปถึงเรื่อง “ตรรกะ” แบบตะวันออก “แบบไทยๆ” ซึ่งแตกต่างจากตะวันตก แนวคิดของตะวันออกมีลักษณะเป็น “ปรัชญาชีวิต” เป็นองค์รวม เป็นองคาพยพที่ทุกส่วนล้วนสัมพันธ์กัน

แนวคิดเช่นนี้จึงคล้ายกับแนวคิดของนักฟิสิกส์ยุคใหม่อย่างไอน์สไตน์ หรืออย่างคนอื่นๆ ที่สนใจปรัชญาตะวันออก มาเรียนรู้ปรัชญาตะวันออกสำนักต่างๆ ถึงอินเดีย ถึงจีน ได้ค้นพบแนวคิดแบบตะวันออกที่ “เด็ดดอกไม้ดอกเดียวกระเทือนถึงดวงดาว”

นอกจากเดวิด โบห์ม ที่สนใจปรัชญาอินเดียและเป็นเพื่อนกับกฤษณ มูรติ ยังมีคนอื่นๆ อีกมากมายที่มาศึกษาปรัชญาตะวันออกอย่างนีลส์บอร์, ฟอน ไวแซกเคอร์, ไฮเซนเบอร์ก โดยเฉพาะฟริตจอฟ คาปร้า ที่เขียนเต๋าแห่งฟิสิกส์ และจุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ

นอกนั้น ยังมีนักจิตวิทยาแนวจิตวิเคราะห์อย่างคาร์ล กุสตาฟ จุง ที่มาศึกษาปรัชญาตะวันออก และพบว่า ชีวิตคนเราจะอยู่ดีมีสุขได้ถ้าหากมี “ความสมดุล” ใน 4 องค์ประกอบ คือ ความรู้สึก (sensation) เหตุผล (intellect) ญาณทัศนะ (intuition) และอารมณ์ (emotion)

จุงบอกว่า ถ้าเขียนรูปวงกลมเพื่อจะทำให้เป็นรูปเต๋า แล้วขีดเส้นตั้งกับนอนตัดกันเหมือนกำลังจะเขียนทิศทั้งสี่ ก็จะได้ขั้วตรงกันข้าม 2 ขั้ว คือ ความรู้สึกกับญาณทัศนะคู่หนึ่ง (ตะวันตก-ตะวันออก) และเหตุผลกับอารมณ์อีกคู่หนึ่ง (เหนือ-ใต้)

ถ้าจะจับคู่ใกล้เคียงกันและอธิบายอาชีพและคุณลักษณะของคน นักวิชาการ นักคิด คือ คนที่มีส่วนของ “เหตุผล” และ “ญาณทัศนะ” มาก ส่วนคนที่เป็นศิลปิน กวี จิตกร นักดนตรี จะใช้ “อารมณ์” และ “ญาณทัศนะ” มากกว่าอย่างอื่น แต่ทั้งสองอาชีพมีสิ่งหนึ่งร่วมกันมาก คือ ญาณทัศนะ (intuition)

ผมชอบกรอบคิดของจุง เพราะช่วยอธิบายความคิด และปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคมวันนี้ได้ดีไม่น้อย อย่างที่คาปร้าก็ได้ช่วยให้ผมเข้าใจคุณค่าและความหมายของภูมิปัญญาตะวันออกและภูมิปัญญาไทยได้ดีกว่าเมื่อก่อน ซึ่งผมได้เรียนแต่ปรัชญาตะวันตกอย่างเดียวและไม่เข้าใจภูมิปัญญาชาวบ้าน ก็เคยคิดเหมือนคนทั่วไปว่า ชาวบ้าน “โง่ จน เจ็บ” เพราะผมเอามาตรฐานของตนเองที่เรียนมาจากยุโรป และได้จากสังคมไทยยุคใหม่ ยุคที่รับมาจากแนวคิดและพัฒนาการของตะวันตกกว่าร้อยปีที่ผ่านมา นอกจากฟริตจอฟ คาปร้า มีนักปรัชญา 3 คนที่ผมได้เรียนรู้และยอมรับว่ามีอิทธิพลต่อความคิดของตนเอง

คนแรก คือ แบลส ปาสกาล เป็นนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสรุ่นราวคราวเดียวกับเดการ์ต และก็เป็นทั้งนักคิด นักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ เช่นเดียวกัน เพียงแต่เขาคิดเป็น “องค์รวม” (holistic) มากกว่า เขาคือเจ้าของวาทะคมๆ ที่ว่า “หัวใจมีเหตุผล ที่เหตุผลไม่รู้จัก” และเป็นคนที่บอกว่า “ขอบฟ้ามิได้อยู่ที่สุดสายตา แต่อยู่ทุกย่างก้าวที่เราเดิน” ฟังดูนึกว่าเต๋า แต่เป็นปาสกาลที่เขียนในหนังสือที่ฝรั่งมักมีไว้ที่หัวเตียงเพื่ออ่านก่อนนอน เพราะชื่อว่า “ความคิดคำนึง” (Pense’e)

คนที่สอง คือ ลุดวิค วิตเกนสไตน์ นักปรัชญาภาษาชาวออสเตรีย ที่เปลี่ยนแนวคิดแบบสุดโต่งของพวกปฏิฐานนิยม (Positivism) ที่บอกว่า อะไรที่หาเหตุผลไม่ได้อย่าพูดดีกว่า มาสู่แนวคิดที่ว่า ความหมายของคำอยู่ที่การใช้ ภาษาคือรูปแบบของชีวิต

คนที่สาม คือ อันโตนีโอ กรัมชี นักปรัชญาชาวอิตาเลียน ที่ถูกพวกมาร์กซิสต์หาว่าเป็นพวกลัทธิแก้ เพราะให้ความหมายของการครอบงำทางวัฒนธรรมด้วยคำว่า hegemony ได้อย่างชัดเจน คำนี้ที่หลัง 14 ตุลาฯ เคยแปลว่า ลัทธิครองความเป็นเจ้า และเข้าใจว่าเกษียรมาแปลใหม่ภายหลังนี้ว่า อำนาจนำ

กรัมชีทำให้ผมเชื่อว่า อำนาจนำนั้นไม่ได้มีแต่นักการเมือง นักธุรกิจ ข้าราชการที่รวมหัวกันสร้างค่านิยม ครอบงำด้วยค่านิยม ด้วยวิถีชีวิตใหม่ที่ให้ประโยชน์แต่ตนเอง แต่รวมไปถึงนักวิชาการที่อ้างเหตุผลต่างๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แนวคิดทฤษฎีของตนเอง และครอบงำสังคม ดูถูกดูหมิ่นแนวคิดที่แตกต่างจากตนเอง หาว่า “โง่” “คิดไม่เป็น” เพราะคิดต่างจากตนเอง

วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยถูกครอบงำด้วยความคิดตะวันตก ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ไม่ว่าเมืองหรือชนบทห่างไกลแค่ไหน แต่รากเหง้าความเป็นคนไทย คนตะวันออกก็ไม่ได้ถูกถอนทิ้งไปง่ายๆ รากเหง้าเค้าโครงเดิมยังไม่ได้ถูกทำลายไปทั้งหมด

เราเห็นความแตกต่าง ความขัดแย้ง ที่อยู่ด้วยกันแบบหลากหลายในวัฒนธรรมไทยยุคใหม่ เราเห็นศาลพระภูมิใหญ่โตหน้าคณะวิทยาศาสตร์ หน้ามหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาที่สอนถึงปริญญาเอกทั้งมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์

เราเห็นสำนักเจ้าเข้าทรงนับหมื่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เห็นสำนักรักษาคน “ผีเข้า” รอบๆ โรงพยาบาลศรีธัญญา ที่ญาติๆ นำผู้ป่วยเข้าออกระหว่างโรงพยาบาลและสำนักเหล่านี้ ขออย่างเดียวให้หาย วิธีไหนก็ได้ เพราะชาวบ้านเขาไม่สนใจว่า ผีมีจริงเพราะผีพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่ แต่ตรรกะของเขา คือ “ผีมีจริง เพราะผีมีความหมาย” แปลว่าเขาเชื่อว่ามีคุณค่า มีคุณประโยชน์

เราเห็นปรัชญาปฏิบัตินิยม ประโยชน์นิยมแบบสุดขั้วอย่างชัดเจนในสังคมไทยวันนี้ การครอบงำด้วยนโยบายพัฒนาแบบประชานิยมจึงเป็นไปโดยง่าย เพราะการครอบงำโดยอำนาจรัฐ บวกอำนาจทุน และการตลาดแบบทุนนิยมที่มีประสิทธิภาพสูง

ชีวิตคนเราอยู่ได้ด้วยความเชื่อและศรัทธามากกว่าเหตุผล ด้วยความไม่รู้มากกว่าความรู้ เราไม่ได้รู้เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับโลกนี้มากมายเลย เราอยู่กันด้วยความอารมณ์ความรู้สึกที่ดีต่อกันโดยไม่ต้องอธิบายด้วยหลักเหตุผลมากกว่า

อย่างเรื่องศาสนากับเรื่องสถาบัน คิดแบบตะวันตกก็ต้องหาเหตุผลทางรัฐศาสตร์ ทางปรัชญาการเมืองสำนักต่างๆ มาว่ากัน เพื่อจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบ “วิภาษวิธี” แต่คนที่คิดเช่นนี้เข้าใจไหมว่า สองเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่อง “เหตุผลล้วนๆ “ แต่เป็น “วิถีไทย” ที่ว่าด้วยความเชื่อ ศรัทธา คุณค่า มากกว่าเหตุผล จึงเกิดปฏิกิริยาที่นักวิชาการที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงไม่เข้าใจ รับไม่ได้ บอกว่า “ไม่มีเหตุผล”

คนสองคนโต้เถียงหน้าดำหน้าแดงแบบทะเลาะกันเอาเป็นเอาตาย ต่างก็ตะโกนบอกให้อีกฝ่ายหนึ่งมีเหตุผล ชิวิตเราก็มักมีความจริงที่เป็นความขัดแย้งที่แปลกเช่นนี้ (paradox)

เรามักมีตรรกะผิดๆ ว่าสังคมไทยเป็นสังคมรักสันติ ไม่รับความรุนแรง ซึ่งเป็นความเชื่อมากกว่าความจริง ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล เพราะในความเป็นจริง ย้อนไปเพียง 50 ปีก็จะพบความรุนแรงไม่แพ้ประเทศไหนในโลก รวมทั้งแอฟริกาบางประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าคนที่คิดต่างทางการเมือง ไม่ว่าสิ่งที่เกิดระหว่าง 14 ตุลา 6 ตุลาและหลังจากนั้น

เรามีตรรกะผิดๆ ว่า สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยเพียงเพราะมีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมือง มีสภา โดยไม่ได้เป็นสังคมที่ผู้คน “ปกครองตนเอง” จริงๆ ไม่ได้มีการกระจายอำนาจ มีแต่การผูกขาดอำนาจ เป็นสังคมที่นักการเมือง พ่อค้า ข้าราชการ สุมหัวกันผูกขาดอำนาจ โกงกินบ้านเมือง

สังคมไทยไม่ได้เน้นการเป็นสังคมเรียนรู้ ไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษา การศึกษาที่ทำให้ชีวิตคนดีขึ้น สังคมดีขึ้น การศึกษาเพื่อความเป็นไท มีแต่การศึกษาที่ให้ปริญญาเพื่อไปเร่หางานทำ เขาจ้างก็มีงาน เขาไม่จ้างก็ไม่มี คิดเองไม่เป็น เพราะการศึกษาแบบนี้ไม่ได้สอนให้คิดเป็น

สังคมแบบนี้มักจบลงด้วยความรุนแรง เพราะไม่ได้ใช้สติปัญญาในแก้ไขปัญหา บรรยากาศวันนี้คล้ายกับบรรยากาศหลัง 14 ตุลา ก่อน 6 ตุลา ที่ความขัดแย้งต่างๆ นำไปสู่รัฐประหาร

การใช้สติปัญญาน่าจะมาจากการเข้าใจตนเอง เข้าใจรากเหง้าของตนเอง และแสวงหาทางออกที่เหมาะสมกับสังคมไทย วิถีไทย มากกว่าจะเดินตามหลังประเทศที่พัฒนาทั้งหลายโดยลืมรากเหง้า ไม่เอาคุณค่าดีงามมาใช้เพื่อให้สังคมวันนี้อยู่กันอย่างมีสมดุลมากกว่านี้

สมดุลไม่ได้แปลว่าไม่มีปัญหา ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีความแตกต่าง สมดุลแปลว่าอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยเคารพความหลากหลายและความแตกต่าง ไม่ครอบงำ ดูถูกดูหมิ่นคนอื่นที่เห็นต่างจากตน
ไพวรินทร์ ขาวงาม
กำลังโหลดความคิดเห็น