อดีต รมว.คลังฉะรองนายกฯ ปากพล่อยปล่อยค่าเงินบาทอ่อนตัวอ้างหนุนส่งออก ชี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน อีกทั้งหน้าที่โดยตรงคือแบงก์ชาติ พูดไปมีแต่เสีย กังขาการเมืองแทรกแซง ธปท.หรือไม่ หวั่นกระทบวงกว้างเพราะราคาน้ำมันจะพุ่ง จี้แก้ไขปัญหาม็อบข้าราชการบำนาญแก้ไข พ.ร.บ.กบข. อย่าอ้างว่าไม่มีอำนาจเพราะปลัดคลังเป็นประธาน ฉะรัฐบาลช่วยพวกพ้องประชาชนยิ่งอึดอัด
วันนี้ (27 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต รมว.คลัง กล่าวตำหนินายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ที่ระบุว่ามีนโยบายจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวเพื่อส่งเสริมการส่งออก โดยเห็นว่าเป็นการส่งสัญญาณที่จะทำให้กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะเรื่องค่าเงินมีความละเอียดอ่อน ดังนั้น ในฐานะที่นายกิตติรัตน์เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ และเป็น รมว.คลังด้วย ต้องเข้าใจว่าการพูดในเรื่องเหล่านี้ต้องระวังอย่างมาก อีกทั้งหน้าที่กำกับดูแลอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะนโยบายด้านการเงิน คือการดูแลอัตราดอกเบี้ยเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะทำให้เกิดคำถามว่าฝ่ายการเมืองพยายามไปแทรกแซงการทำงานของ ธปท. หรือไม่ เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการปรับอัตราดอกเบี้ย หรืออัตราแลกเปลี่ยนให้ขึ้นหรือลงจะส่งผลในวงกว้าง
“ขณะนี้ประชาชนกำลังเดือดร้อนจากสินค้าราคาแพง และราคาพลังงานจากนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล ทำให้ทั้งราคาน้ำมันและแก๊สทุกประเภทปรับตัวสูงขึ้น หากยังยืนยันที่จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงจะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น ประชาชนจะเดือดร้อนมากขึ้น นายกิตติรัตน์และรัฐบาลต้องคิดให้ดีว่าเรื่องนี้จะเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่ช่วยนายทุน ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ แต่ซ้ำเติมให้ประชาชนต้องเดือดร้อนมากขึ้นหรือไม่ เพราะกลายเป็นว่านโยบายของรัฐบาลมีผลในขณะนี้” นายกรณ์กล่าว
นายกรณ์กล่าวว่า ที่ผ่านมานับว่าโชคดีที่คำพูดของนายกิตติรัตน์ไม่ได้มีผลต่อตลาดการเงินมากนัก เพราะไม่มีการให้น้ำหนัก หรือให้ราคากับสิ่งที่พูด เนื่องจาก รมว.คลังไม่ได้มีเครื่องมือที่จะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนได้ พูดไปก็มีแต่เสีย สุดท้ายแม้รัฐบาลจะมีนโยบาย แต่จะทำให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างไร เพราะมีกฎหมายเฉพาะ ซึ่ง ธปท.มีอิสระในการตัดสินใจเรื่องเหล่านี้เพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจโดยรวม ตนจึงคิดว่านายกิตติรัตน์ควรหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาของชาวบ้านมากกว่า เช่น กรณีที่ข้าราชการบำนาญชุมนุมร้องเรียนอยู่หน้าสภาเพื่อให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
“ข้าราชการบำนาญต้องการให้รัฐบาลใส่ใจแก้ปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้มีความมั่นคงในเรื่องผลตอบแทนในวัยเกษียณ แต่นายกิตติรัตน์กลับให้สัมภาษณ์ว่าทำอะไรไมได้เพราะไม่มีอำนาจดูแลโดยตรง ผมอยากถามว่า กบข.มีประธานเป็นปลัดกระทรวงการคลัง ท่านอ้างว่าไม่มีอำนาจ แล้วท่านมีอำนาจอะไรที่จะไปแทรกแซง ธปท. เพราะ รมว.คลังไม่ได้มีตำแหน่งในนั้นเลย ผมก็ขอว่าให้ปรับให้ดีว่าอะไรเป็นเรื่องสำคัญของชาวบ้าน และอะไรที่ไม่ใช่” นายกรณ์กล่าว
นายกรณ์กล่าวด้วยว่า ในขณะนี้ประชาชนต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาค่าครองชีพสินค้าราคาแพง แต่รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับการเมืองช่วยพวกพ้อง ซึ่งกำลังส่งสัญญาณทำให้ประชาชนอึดอัดต่อรัฐบาลชุดนี้มากขึ้น เนื่องจากประชาชนคาดหวังไว้สูงเพราะเป็นรัฐบาลแรกที่มีเสียงข้างมากพรรคเดียวในสภา แต่จนถึงวันนี้รัฐบาลกลับไม่ให้ความสำคัญเพียงพอต่อการแก้ปัญหาค่าครองชีพให้แก่ประชาชน